มทร. ธัญบุรี วิจัยการผลิตกระดาษ จากกาบกล้วยน้ำว้า ด้วยวิธีชีวภาพ

ผศ.ดร. สุจยา ฤทธิศร อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คิดค้นการผลิตกระดาษจากกาบกล้วยน้ำว้าด้วยวิธีชีวภาพ ที่สามารถเก็บไว้ได้นานโดยกระดาษไม่เหลืองและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากกระบวนการผลิตกระดาษในเชิงหัตกรรมจะใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต คือใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ในการแช่และต้มเยื่อกระดาษ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ใช้ในการฟอกเยื่อกระดาษ สารเคมีทั้งสองตัวนี้จะเป็นตัวทำให้กระดาษที่ได้ขาวสว่าง เนื่องจากเกิดการทำปฏิกิริยากับลิกนิน  ทำให้ปริมาณลิกนินในเยื่อกระดาษลดลง แต่การใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ ถึงแม้จะทำให้ปริมาณลิกนินในเยื่อลดลง ในทางกลับกันผลผลิตเยื่อที่ได้ก็จะมีค่าลดลงเช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อสิ้นสุดกระบวนการต้มเยื่อ น้ำทิ้งที่ได้จะมีส่วนประกอบของโซเดียมที่อยู่ในรูปเกลือต่างๆ สารประกอบคาร์โบไฮเดรต และลิกนิน

สารต่างๆ เหล่านี้เมื่อถูกปล่อยลงในน้ำทิ้งก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปฏิกิริยาของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ในการฟอกเยื่อกระดาษก็เป็นแต่เพียงการทำให้ลิกนินก่อให้เกิดสีแตกตัวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการกำจัดลิกนิน เจ้าตัวลิกนินนี้เอง ที่จะทำให้กระดาษกลับเป็นสีเหลืองได้โดยง่าย นอกจากนี้ การผลิตกระดาษด้วยวิธีการทางเคมีจากโซเดียมไฮดรอกไซด์จะมีผลต่อคุณภาพของกระดาษที่ได้มีความแข็งกระด้าง หยาบและไม่เรียบ

ด้วยเหตุนี้เอง ผศ.ดร. สุจยา ฤทธิ์ศร จึงหันมาสนใจผลิตกระดาษด้วยวิธีทางชีวภาพซึ่งเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ผศ.ดร. สุจยา เปิดเผยว่า การผลิตกระดาษด้วยวิธีชีวภาพเป็นการใช้เชื้อจุลินทรีย์หมักกับวัตถุดิบ เพื่อย่อยสลายลิกนินในพืชแทนการใช้สารเคมีพวกโซเดียมไฮดรอกไซด์ ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของกระดาษได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารเคมี

นอกจากนั้น เจ้าของผลงานยังได้เปิดเผยถึงวิธีการผลิตอีกด้วยว่า เริ่มจากนำต้นกล้วยน้ำว้ามาสับเป็นชิ้นๆ ขนาดประมาณ 6×3 เซนติเมตร จากนั้นนำไปอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 1 คืน (24 ชั่วโมง) จากนั้นนำไปแช่น้ำให้อิ่มตัว นำไปฆ่าเชื้อ หมักที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส โดยเติมเชื่อรา T.viride ที่เพาะไว้ลงไปบ่ม จากนั้นก็นำไปฆ่าเชื้อราและเข้าสู่กระบวนการผลิตกระดาษต่อไป

Advertisement

จากกระบวนการดังกล่าว นอกจากเชื้อรา T.viride จะย่อยสลายลิกนินไปเป็นจำนวนมากแล้วทำให้ในกระบวนการฟอกเยื่อกระดาษ สามารถลดปริมาณการใช้สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ลงไปได้เป็นจำนวนมากกว่าการผลิตกระดาษแบบทั่วไป อีกทั้งการผลิตกระดาษด้วยวิธีชีวภาพกระดาษยังมีค่าความสว่างมากกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษอีกทั้งกระดาษยังมีความเหนียว นุ่ม สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าการผลิตด้วยวิธีทางเคมี โดยกระดาษไม่กลับมาเป็นสีเหลืองอีกด้วย