จุฬาฯ เปิดตัวหอยทากบกสายพันธุ์ใหม่-หนังสือสารานุกรม

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. โชว์หอยทากไทย 126 ชนิดใหม่ของโลกจากเกือบ 600 ชนิดในประเทศไทย พร้อมเปิดตัวหนังสือสารานุกรม “หอยทากบก ทรัพยากรชีวภาพที่ทรงคุณค่าแห่งราชอาณาจักรไทย” และแถลงสิทธิบัตรจากการวิจัยและพัฒนาเมือกหอยทากไทยหลายสายพันธุ์สู่อุตสาหกรรมความงาม

     ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

กรุงเทพฯ 25 ตุลาคม 2561 – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แถลงข่าว “การค้นพบหอยทากไทย 126 ชนิดใหม่ของโลกจากเกือบ 600 ชนิดในประเทศไทย พร้อมเปิดตัวหนังสือสารานุกรม “หอยทากบก ทรัพยากรชีวภาพที่ทรงคุณค่าแห่งราชอาณาจักรไทย” และแถลงสิทธิบัตรจากการวิจัยและพัฒนาเมือกหอยทากไทยหลายสายพันธุ์สู่อุตสาหกรรมความงาม” ภายใต้การค้นคว้าโดยคณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

                   ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ กล่าวว่า ในโอกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินทางมาถึงหนึ่งศตวรรษ คือวาระครบรอบ 101 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย จึงได้ร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะงานทางอนุกรมวิธานที่เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์แห่งชาติ” ที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงการอนุรักษ์ และฐานสำคัญของ “ธุรกิจชีวภาพ Bio-economy” ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการวิจัยมีการค้นพบสายพันธุ์หอยทากมากมายหลายร้อยสายพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกว่า 126 สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ด้วยผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับเชิญให้รับทุน DARWIN INITIATIVE จากประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อฝึกนักวิจัยอาเซียนและเอเชียใต้ร่วมกับนักวิจัยจาก The Natural History Museum London ภายใต้หัวข้อ “Developing land snail expertise in south and southeast Asia, a new Darwin Initiative Project” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006-2012 และปัจจุบันได้รับทุนจาก Flora Fauna International (FFI) แห่งประเทศสหราชอาณาจักร ทำงานวิจัยเรื่องการอนุรักษ์เขาหินปูนในประเทศเมียนมา ระหว่างปี ค.ศ. 2015-2017

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบันได้จำแนกหอยทากบกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. หอยต้นไม้ 2. หอยพื้นดิน 3. หอยทากจิ๋ว โดยหอยทากที่ค้นพบใหม่ยกตัวอย่างเช่น หอยนกขมิ้นจากพันธุกรรมตั้งต้น, หอยทากสามรูปแบบสัณฐานสามสีสู่หอยมรกต และหอยทากเทมาเสกแห่งสิงคโปร์ แสดงให้เห็นพันธุกรรมที่มีความต่อเนื่องตามภูมิศาสตร์ และวิวัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง, หอยขัดเปลือกที่หลากหลายไปสู่ความเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการค้นพบใหม่อีกหลายชนิดรวมถึงที่เมียนมา, หอยทากจิ๋วที่แสดงความจำเพาะของสปีชีส์ “หนึ่งภูเขาหนึ่งกลุ่มสปีชีส์จำเพาะ One mountain one species group” “หนึ่งภูเขาหนึ่งรูปแบบพันธุกรรมจำเพาะ One mountain one specific genetic pattern”

                  หอยขัดเปลือกลายมงกุฎ

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้จัดทำหนังสือแบบสารานุกรม “หอยทากบก ทรัพยากรชีวภาพที่ทรงคุณค่าแห่งราชอาณาจักรไทย” ครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของ สกว. จากการวิจัยถึง 30 ปี และค้นพบทรัพยากรชีวภาพที่เป็นไฮไลต์ของประเทศและภูมิภาค รวมถึงเรื่องราวการค้นพบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นแหล่งความรู้ขุมทรัพย์ของชาติที่มีการจัดเก็บองค์ความรู้และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบในรูปแบบที่ผู้สนใจสามารถเรียนรู้และเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งเป็นเอกสารที่มีมาตรฐานสากล โดยมุ่งหวังให้เกิดการต่อยอดของความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์โดยคณะทำงานทั้งหมดกว่า 100 เรื่อง และบทความที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 เรื่อง จึงถือว่าเป็นแหล่งอ้างอิงที่สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลไปสู่การพัฒนาความรู้ของคนไทย เป็นแหล่งความรู้ขุมทรัพย์ของชาติที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรชีวภาพของชาติอย่างชาญฉลาด

                         หอยทากจิ๋ว

ด้าน ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงถึงการวิจัยและพัฒนาจากการนำเมือกเนื้อเยื่อแมนเทิลของหอยทากสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศมากกว่า 5 สายพันธุ์ ที่พบมากได้แก่ หอยทากนวล หอยทากสยาม หอยขัดเปลือก หอยลดเปลือก หอยทากไร้เปลือก ตลอดจนหอยทากแอฟริกัน มาทำการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ที่โดดเด่นและมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซ่อมแซมผิวให้ความชุ่มชื้น ต้านอนุมูลอิสระ และต้านจุลชีพ เป็นต้น จนได้ค้นพบสาร “Aromantin” ที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์แล้ว และนำไปผสานกับสมุนไพรดอกไม้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ของคนไทยคือ “Snail8 by SIAM SNAIL” สู่เป้าหมายแบรนด์แห่งชาติและธุรกิจอุตสาหกรรมความงามของโลก

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า งานวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์และคณะเป็นตัวอย่างสำคัญในการมุ่งมั่นเสาะแสวงหาทรัพยากรชีวภาพที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า “จากหิ้งสู่ห้าง” นั้นสามารถทำได้ และยังมีหนังสือสารานุกรมที่ยืนยันถึงการใช้ความรู้พื้นฐานนำไปสู่พัฒนาการของการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีส่งต่อไปยังนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ