รู้จัก “ตั๊กแตนไผ่” ศัตรูพืชตัวร้าย ทำลาย ไผ่-ข้าว-ข้าวโพด-พืชตระกูลปาล์ม

“ตั๊กแตนไผ่” เป็นแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นตัวร้ายที่ทำลายพืชได้หลากหลายชนิด อาทิ ไผ่ – ข้าว – ข้าวโพด -พืชตระกูลปาล์ม แมลงชนิดนี้ คนไทยไม่ค่อยรู้จักแต่ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ทำให้แมลงศัตรูพืชสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี และแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หากตั๊กแตนไผ่หลุดเข้ามาในพื้นที่การเกษตรของไทยก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง จึงอยากนำเรื่องราวตั๊กแตนไผ่มาบอกเล่าให้เกษตรกรไทยได้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของตั๊กแตนไผ่กันไว้สักหน่อยเพื่อจะได้ช่วยกันติดตามเฝ้าระวัง หากใครพบตั๊กแตนไผ่ในแปลงเพาะปลูก จะได้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เข้ามาดำเนินการควบคุม และหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

วงจรชีวิต ตั๊กแตนไผ่

ตั๊กแตนไผ่ (Yellow-spined bamboo locust)  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceracris kiangsu วงศ์ : Acrididae  อันดับ : Orthoptera ตั๊กแตนไผ่ มีวงจรชีวิตแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะวางไข่ใต้ผิวดิน ในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. ระยะตัวอ่อน (46-69 วัน) ในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค. ระยะตัวเต็มวัย (40 วัน) ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. และระยะไข่ในช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. มีรายงานว่า พบแมลงชนิดนี้วางไข่จำนวนมากใต้ผิวดิน ไข่ของตั๊กแตนไผ่จะฟักในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส ตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไผ่ ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีการแพร่กระจายเป็นกลุ่มตัวอ่อนในระยะสุดท้ายเริ่มมีการอพยพเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มใหญ่

ตัวอ่อนตั๊กแตนไผ่

ลักษณะการทำลาย

ตั๊กแตนไผ่ สร้างความเสียหายให้แก่พืชกลุ่มไผ่ และพืชเกษตร อาทิ พืชตระกูลหญ้า ข้าว และข้าวโพด และยังพบว่าสามารถเข้าทำลายพืชตระกูลปาล์ม และพืชล้มลุกบางชนิด โดยระยะตัวเต็มวัยเป็นระยะที่สร้างความเสียหายได้กว้างขวางและรุนแรงที่สุด

ตัวอ่อนตั๊กแตนไผ่กัดกินใบพืช

การแพร่ระบาด 

พบการแพร่ระบาดของตั๊กแตนไผ่ครั้งแรกเมื่อ ปี 2472 ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในพื้นที่มณฑลเสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้ง ในช่วง ปี 2478-2489 เกิดการระบาดสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในจีนหลายครั้งทำลายทั้งไผ่ ข้าวโพด และข้าว

ในปี 2557 พบการระบาดของตั๊กแตนไผ่ครั้งแรกที่แขวงหัวพัน ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับประเทศเวียดนาม ต่อมาปี 2558 พบการระบาดเพิ่มขึ้นที่แขวงพงสาลี ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับจีน โดย สปป.ลาว ได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (FAO) ให้เข้ามาช่วยควบคุมการระบาดของตั๊กแตนไผ่ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากพื้นที่การระบาดของตั๊กแตนไผ่มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทำให้ไม่สามารถกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปี 2559 ตั๊กแตนไผ่ ได้แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในแขวงหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ซึ่งขยับเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น

เฝ้าระวังการแพร่ระบาด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และข้าวโพด ในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และจังหวัดเลย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดของตั๊กแตนไผ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างต่อเนื่อง เพราะตั๊กแตนไผ่อาจแพร่ระบาดเข้ามาและสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยได้

ตั๊กแตนไผ่

ด้าน กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ IPPC จึงได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่อย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่า ศัตรูพืชชนิดดังกล่าวจะเล็ดลอดเข้ามาแพร่ระบาดสร้างความเสียหายภายในประเทศ

เนื่องจากเคยมีรายงานพบตั๊กแตนไผ่ในประเทศไทย เมื่อปี 2506 โดยเก็บตัวอย่างได้จากไผ่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และปี 2518 พบที่จังหวัดเชียงใหม่และสุรินทร์ แต่ไม่เคยมีการระบาดในไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนับว่า โชคดีที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแมลงชนิดนี้ เพราะตั๊กแตนไผ่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 300-400 เมตร บางครั้งพบในพื้นที่ความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 780 เมตร และตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไผ่ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็นด้วย

ที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้รายงานการแพร่ระบาดของตั๊กแตนไผ่ เข้าทำลายพืชเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง อาทิ ข้าวโพด และข้าวไร่ ในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยเพียง 114 กิโลเมตร จึงประสานจังหวัดน่าน พะเยา และเชียงราย เพื่อสร้างความร่วมมือในการติดตามเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่ในพื้นที่จุดเสี่ยงที่ตั๊กแตนไผ่มีโอกาสเข้ามาแพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรไทยได้

กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เกาะติดสถานการณ์และเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่อย่างใกล้ชิด โดยให้เร่งจัดทำและวางกับดักเหยื่อพิษ (Mass Trapping) ระยะห่างทุก 200 เมตร ตลอดแนวชายแดนไทย-ลาวเพื่อตรวจเช็คว่ามีตั๊กแตนไผ่เข้ามาในประเทศหรือไม่ จะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนรับมือล่วงหน้าและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

กับดักเหยื่อพิษ

ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตั๊กแตนไผ่ให้เกษตรกรและองค์กรปกครองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในพื้นที่ เพื่อช่วยกันติดตามเฝ้าระวังตั๊กแตนไผ่ เพื่อจะได้ควบคุมและจำกัดพื้นที่ระบาดโดยดำเนินการกำจัดในวงรัศมี 10 กิโลเมตร ก่อนที่ตั๊กแตนไผ่จะผสมพันธุ์ วางไข่และแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น