กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง “แมลงบั่ว” ทำลายนาข้าวในช่วงอากาศชื้น

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวนาระวังแมลงบั่ว หวั่นทำลายนาข้าวช่วงอากาศชื้น ลั่นห้ามใช้สารฆ่าแมลงกำจัด

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเผชิญฝนและสภาพอากาศชื้น เสี่ยงต่อการระบาดของแมลงบั่วในนาข้าว เนื่องจากความชื้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการวางไข่ จำนวนไข่ การฟัก การอยู่รอดของหนอน และการเข้าทำลายยอดข้าวอ่อน

นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

โดยตัวเต็มวัยของแมลงบั่วจะมีลักษณะคล้ายยุงหรือริ้น ลำตัวยาว 3-4 มม. หนวดและขามีสีดำ กลางวันจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าวและวัชพืชริมแปลงนา ส่วนช่วงเวลากลางคืนจะบินอยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟเพื่อผสมพันธ์และวางไข่ในลักษณะเดี่ยว หรือกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ฟองใต้ใบข้าว ลักษณะไข่คล้ายกล้วยหอม ยาว 0.45 มม.

เมื่อฟักตัวหนอนจะอาศัยอยู่บริเวณกาบใบข้าว และกัดกินตายอดอ่อน กอข้าวบริเวณที่ถูกทำลาย จะมีลักษณะเป็นหลอดยาวสีเขียวอ่อน แคระแกร็น ต้นเตี้ย หากระบาดรุนแรงจะส่งผลทำให้ข้าวไม่ออกรวง ผลผลิตต่อไร่ลดลง

วิธีการป้องกันกำจัดแมลงบั่ว ควรใช้หลายวิธีร่วมกัน คือ ให้เกษตรกรหมั่นกำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าแดง หญ้าชันอากาศ เพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว  ทำลายตัวเต็มวัยที่บินมาเล่นแสงไฟตามบ้าน ในช่วงเวลาประมาณ 19.00-21.00 น. โดยใช้ไม้ตีแมลงวัน

กรมส่งเสริมการเกษตร ไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงใดๆ ในการป้องกันกำจัดแมลงบั่ว เนื่องจากไม่ได้ผล และยังทำลายศัตรูธรรมชาติอีกด้วย สำหรับพื้นที่ที่มักพบการระบาดของแมลงบั่วอยู่บ่อยครั้ง ไม่ควรปลูกข้าวด้วยวิธีหว่านหรือปักดำถี่ (ระยะปักดำ 10×15 และ 15×15 ซม.)

Advertisement