มาทำสวน “เห็ดตับเต่า” กันเถอะ

ปักษ์นี้จะเล่าถึงเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงล้วนๆ จากประสบการณ์ของเกษตรกรที่ได้ทดลองมาด้วยตนเอง  เท่าที่ค้นคว้าหาข้อมูลจากทางอินเทอร์เน็ต ทราบว่าเวลานี้มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดบางรายสามารถพัฒนาเชื้อเห็ดเพื่อการพาณิชย์ได้แล้ว รายแรก เช่น คุณพุฒินันท์ พันธุ์เครือ

คุณพุฒินันท์ เล่าว่า ใครที่สนใจจะเป็นนักทดลองเพาะเห็ดตับเต่า สามารถทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่จัดสร้างสภาพแวดล้อมง่ายๆ ด้วยการจัดให้มีพืชอาศัยของเห็ดแล้วใส่เชื้อเห็ดลงที่โคนต้น จากนั้นใส่ดินและสารอินทรีย์กลบเชื้อ คอยรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ในเวลาไม่นานเชื้อเห็ดก็จะเจริญงอกงามสร้างเส้นใยไปทั่วรากไม้ที่มันอิงอาศัยอยู่

เทคนิคในการทำให้เกิดดอกเห็ดนั้น จะต้องบำรุงพืชให้มีรากมาก เพื่อจะได้หาอาหารได้เยอะๆ ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเป็นอาหารของเห็ดและพืช พร้อมทั้งรดน้ำให้มีความชุ่มชื้นมากๆ ในลักษณะของการสร้างสภาพแวดล้อมเทียมหลอกเห็ดให้เหมือนกับว่ามันกำลังเติบโตในธรรมชาติ

ตามธรรมชาตินั้นจะมีช่วงเวลาที่สภาวะอากาศแห้งแล้ง ซึ่งเป็นระยะที่พืชสะสมอาหาร จากนั้นเมื่อเกิดฝนตกใหญ่หรือรดน้ำให้ผืนดินชุ่มชื้นเชื้อเห็ดก็จะเริ่มงอกงาม โดยมีการทดลองวิธีการนี้กับสวนลำไยที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จนประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดเห็ดตับเต่านอกฤดูมาแล้ว ส่วนที่จังหวัดปทุมธานี และสุพรรณบุรี พบว่า สามารถเพาะเห็ดกับสวนมะกอกน้ำได้อย่างดี

คุณพุฒินันท์ ยังแนะนำว่า ถ้าสวนผลไม้ของใครมีต้นมะไฟมากก็มีโอกาสที่จะเพาะเชื้อเห็ดได้ง่ายเช่นกัน แม้ว่าไม้บางต้นยังไม่มีเห็ดมาก่อน เพราะไม่มีเชื้อเลย ก็สามารถพัฒนาให้เกิดเห็ดในอนาคตได้โดยการนำเชื้อเห็ดใส่ลงไปที่โคนต้น โดยจะใช้เชื้อเห็ดต่อไร่ประมาณ 50 บาท

เกษตรกรอีกรายหนึ่งจากจังหวัดสุพรรณบุรีคือ คุณวิชัย ค้นพบเห็ดในดงมะกอกน้ำของตัวเองด้วยความบังเอิญ

เขาเล่าว่าหลังจากปลูกมะกอกน้ำในสวนผ่านไปได้ 2 ปี ภรรยาและคนงานก็พบว่ามีดอกเห็ดเกิดขึ้นใต้ต้นมะกอกเป็นครั้งแรก แต่ตอนนั้นทุกคนไม่รู้ว่าเป็นเห็ดอะไร เลยไม่มีใครกล้านำมาบริโภค

ลักษณะของดอกเห็ดที่พบนั้นมีจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ โดยจะงอกเป็นตุ่มเล็กๆ ก่อน จากนั้นภายใน 2-3 วัน ดอกเห็ดก็จะบาน คนงานไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเก็บมาขว้างเล่น

ต่อมาวันหนึ่งคุณวิชัยไปเยี่ยมคุณแม่ที่บางปะอิน และถือเห็ดติดมือไปให้แม่ช่วยดูด้วย ปรากฏว่าคุณแม่ดีใจใหญ่ บอกว่าเป็น “เห็ดตับเต่า” กินได้ และอร่อยด้วย

วันต่อมาคุณวิชัยเลยเก็บเห็ดตับเต่าที่เกิดบนสันร่องต้นมะกอกน้ำใส่ตะกร้าไปขายที่ตลาดบางปลาม้า แม่ค้าตีราคาให้กิโลกรัมละ 30 บาท นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เห็ดตับเต่าก็กลายเป็นของรักของหวงประจำสวนมะกอกน้ำแห่งนี้ไปเลย

คุณพิชัย เล่าว่าบริเวณที่พบดอกเห็ดตับเต่ามากที่สุด คือตรงร่องที่ขึ้นแฉะ ซึ่งดอกเห็ดตับเต่าจะเกิดใกล้โคนต้น และแสงแดดจะส่องไม่ถึงบริเวณชายร่องโดยตรง

จากการสอบถามนักวิชาการ คุณวิชัย ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า เห็ดตับเต่า เป็น “ไมคอร์ไรซ่า” จะอาศัยอยู่ตามรากของต้นไม้ เท่าที่เคยพบมักจะเป็นพวก ไม้ยูคาลิปตัส, ทองหลาง, ป่าเสม็ด แคบ้าน เป็นต้น แต่ที่พบในรากของต้นมะกอกน้ำถือว่าเป็นของใหม่

เห็ดตับเต่า ในสวนมะกอกน้ำของคุณวิชัยนี้ มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจคือ ในรอบ 1 ปี นั้นจะเกิดดอกเห็ดตลอดปีทั้ง 12 เดือน เลย โดยแต่ละครั้งสามารถเก็บได้ประมาณ 30 กิโลกรัม มีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่ ดอกใหญ่ ขนาดดอกละ 1 กิโลกรัม ก็เคยพบเห็นมาแล้ว

ที่น่าทึ่งมากก็คือ เมื่อเก็บดอกเห็ดแล้ว ประมาณ 2-3 วัน ก็จะเกิดเห็ดชุดใหม่ขึ้นมาอีก และถ้าหากอากาศร้อนอบอ้าวมากๆ แล้วรดน้ำต้นมะกอกให้ชุ่มชื้น จะพบว่ามีดอกเห็ดเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะพบว่ามีดอกเห็ดตับเต่าเกิดมากกว่าเดือนอื่น ๆ

คุณวิชัย เล่าว่าเคยดูดเลนจากท้องร่องขึ้นมาบนสันร่องและใส่ปุ๋ยขี้ไก่ลงไป ก็พบว่าเห็ดเกิดขึ้นมากกว่าปกติ พอดีช่วงนั้นมีหญ้าขึ้นตามร่องแปลง คุณวิชัย เลยใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดเพื่อกำจัดวัชพืช ปรากฏว่าสารเคมีส่งผลให้ดอกเห็ดยุบฝ่อลงทันที

เป็นการยืนยันว่าเห็ดราไมคอร์ไรซ่า จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมเท่านั้น  นับจากนั้นมา คุณวิชัย ก็เลยไม่กล้าฉีดยาฆ่าหญ้าอีกเลย แต่ใช้วิธีจัดการกำจัดวัชพืชอย่างอื่น เช่น เมื่อต้นหญ้าสูงก็คอยตัดให้สั้นลง

ในสวนมะกอกน้ำของคุณพิชัยนี้พบว่า ดอกเห็ดเกิดมากชุกชุมที่สุดมีอยู่เพียง 2 ท้องร่อง ที่มีสภาพชื้นแฉะกว่าร่องอื่นๆ ท้องร่องที่มีดินแห้งจะพบเห็ดไม่ปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น

ด้วยประสบการณ์จริงดังกล่าว ทำให้เกษตรกรนำแนวคิดมาเพาะเห็ดตับเต่าขาย โดยจับจุดเด่นในเรื่องความสัมพันธ์ของราไมคอร์ไรซ่ากับรากพืชมาใช้ ตามทฤษฎีพื้นฐานที่ว่าไมคอร์ไรซ่าจะอาศัยอยู่ตามรากของต้นมะกอกน้ำ

ดังนั้นถ้าหากกวาดใบมะกอกน้ำที่ร่วงหล่นกองอยู่ใต้ต้นมะกอกน้ำมากองเป็นแถวเล็ก ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นนำดอกเห็ดตับเต่าที่สปอร์แก่แล้วมาขยำละลายกับน้ำ นำไปรดบนกองใบมะกอกน้ำใต้ต้นไม้นั้นและควบคุมความชื้นให้ดีก็จะมีดอกเห็ดเกิดขึ้นได้มากมาย

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสวนมะกอกนี้ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการได้เห็ดตับเต่ามาบริโภคง่ายๆ เท่านั้นนะคะ แต่เกษตรกรยังจะได้ท้องร่องสวนที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นมะกอกน้ำด้วย เนื่องจากไมคอร์ไรซ่าไม่ได้เป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น แต่ยังเกื้อหนุนต้นมะกอกน้ำด้วย โดยการช่วยดึงจุลินทรีย์ และปลดปล่อยน้ำย่อยออกมาให้เป็นประโยชน์ต่อการดูดซึมธาตุอาหารใต้ดินของต้นมะกอกน้ำอีกด้วย

ถ้ามีการเปรียบเทียบต้นมะกอกน้ำที่มีไมคอร์ไรซ่าเห็ดตับเต่ากับที่ไม่มีไมคอร์ไรซ่าเลยย่อมเห็นได้ชัดว่า ต้นที่มีเห็ดตับเต่าย่อมเจริญเติบโตได้ดีกว่า

คุณวิชัย แนะนำว่า สำหรับคนที่สนใจจะเรียนรู้ประสบการณ์ความมหัศจรรย์ของไมคอร์ไรซ่าและพอมีที่ทางปลูกต้นไม้อยู่บ้าง ลองซื้อกิ่งพันธุ์มะกอกน้ำไปปลูกดูเองก็ได้ แนะนำให้ซื้อกิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงหน่อยแล้วเลือกซื้อดอกเห็ดตับเต่าที่ยังไม่บานเกินไปหรือตูมเกินไป นำมาขยำกับน้ำแล้วนำไปรดที่โคนต้นมะกอกน้ำ ในไม่ช้าก็จะมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

หรือจะลองวิธีการนี้กับต้นไม้อื่นๆ ที่มีรายงานว่าพบเห็ดตับเต่าขึ้นมาก่อนแล้วก็ได้ เช่น ต้นยูคาลิปตัส มะม่วง ลำไย จามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ เป็นต้น

ส่วนรายละเอียดของการเพาะเชื้อเห็ดนั้นมีหลายสูตรด้วยกัน ขออนุญาตนำสูตรของ คุณพุฒินันท์ พันธุ์เครือ มาเล่าพอสังเขป ดังนี้

1. การเพาะเชื้อจากดินสวนเก่า

ให้เก็บกวาดเอาดินผิวดิน ซึ่งจะได้เศษราก ปลายรากขนอ่อน ที่มีเชื้อราเห็ดตับเต่าติดอยู่แล้วหลุดติดมาด้วย เอาเชื้อเหล่านี้ใส่ลงไปในถุงเพาะต้นกล้า ทำให้พืชได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในถุงเพาะ เมื่อเอามะกอกน้ำไปปลูกก็จะมีเชื้อติดอยู่กับรากนี้ไปตลอดชีวิตของต้นไม้

สำหรับท่านที่มีสวนอยู่แล้วแต่ไม่มีเชื้อเห็ด เราก็ให้เอาดินผิวดินจากสวนอื่นที่มีเชื้ออยู่มาใส่ในบริเวณรอบๆ โคนต้น หรือจะหว่านกระจายบริเวณใต้พุ่ม แล้วหว่านทับด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เศษพืช ใช้ใบไม้หญ้าแห้งต่างๆ คลุมทับแล้วรดน้ำให้ชุ่มชื้น เชื้อเห็ดจะเจริญไปกับรากพืชได้

ลักษณะของเชื้อเห็ดแบบนี้เป็นเชื้อที่มาอาศัยอยู่กับต้นไม้ตลอดไป ยิ่งถ้าเพาะเมล็ดไปพร้อมกับดินเชื้อเห็ดจะพบว่าไมคอร์ไรซ่าจะเจริญเติบโตไปกับรากไม้อย่างรวดเร็ว เพราะการทำงานของเส้นใยเห็ดมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการปล่อยน้ำย่อยไปละลายแร่ธาตุในดินให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย เพราะแร่ธาตุบางอย่างละลายยาก เท่ากับเชื้อราเห็ดได้เอื้อต่อการเจริญของต้นไม้และยังอุ้มไอน้ำในดินให้ชุ่มชื้น ส่งผลต่อการแผ่ขยายรากพืชด้วย ทำให้พืชทนแล้งได้ดียิ่งขึ้น

หากสวนแห่งใดมีเห็ดตับเต่าออกมาให้เก็บรับประทานแล้ว ควรเหลือดอกเห็ดบางส่วนเก็บเป็นเชื้อไว้ โดยปล่อยให้ดอกเห็ดบานเต็มที่ และช่วงนี้เองจะปล่อยสปอร์ร่วงหล่นพื้นดินเป็นจำนวนมาก เมื่อนำเอาดินบริเวณผิวดินมาใช้ก็จะได้ทั้งเชื้อที่เติบโตมาจากรากเดิมและเชื้อจากสปอร์ด้วย วิธีนี้จะช่วยให้การขยายพันธุ์เชื้อเห็ดได้ผลดียิ่งขึ้น

ด้วยวิธีนี้เชื้อไมคอร์ไรซ่าจะเจริญได้รวดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณดินผิวดินมากนักก็ได้ อาจใช้เพียง 1 ช้อนชา ต่อถุง เพาะเมล็ดพันธุ์พืช 1 ถุง ก็พอ เมื่อรดน้ำให้ชุ่มชื้นแล้ว เชื้อเห็ดจะลงลึกไปถึงรากได้เอง

2. ใช้เชื้อเห็ดบนวุ้นเอามาตัดแปะราก

โดยการเอาดอกเห็ดตับเต่ามาปลูกเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีการคือให้เอาดอกอ่อนมาตัดเนื้อเยื่อโดยไม่ให้มีสิ่งอื่นปะปนแล้วเอามาเลี้ยงบนอาหารวุ้นจนเติบโต จากนั้นเอามาแปะไว้กับรากต้นไม้ที่ล้างสะอาดแล้ว ก่อนจะใส่ลงในถุงเพาะชำแล้วเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 1-2 เดือน ให้สังเกตดูว่าต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดี จากนั้นค่อยนำไปปลูกโดยกล้าไม้ที่เพาะเชื้อวิธีนี้จะมีเชื้อเห็ดติดอยู่แน่นอน

สำหรับการขยายพันธุ์นั้น ในฤดูดอกเห็ด แนะนำให้ตัดดอกเห็ดออกเป็นแผ่นบางๆ แล้วแปะไว้กับรากที่ทำความสะอาดแล้วแบบเดียวกับขั้นตอนแรก

คุณพุฒินันท์ เล่าว่าเคยเห็นตัวอย่างจากวิดีโอของประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดทรัฟเฟิล โดยผู้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะขุดเอาเห็ดทรัฟเฟิลมาจากสวนป่า นำมาทำความสะอาดแล้วแยกเชื้อ โดยกรรมวิธีตัดเนื้อเยื่อไม่ให้มีเชื้ออื่นปะปน เอามาเลี้ยงอยู่บนอาหารวุ้น

จากนั้นเมื่อเจริญดีแล้วก็เอาต้นกล้าไม้ 3 อย่าง มาล้างรากให้สะอาดจนเห็นรากชัดเจน นำอาหารวุ้นมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เห็นเส้นใยเห็ดติดอยู่ด้วย เอามาแปะติดกับรากที่ล้างแล้ว ปิดด้วยปลาสเตอร์ชนิดมีรูพรุนให้อากาศผ่านได้ แล้วเอาใส่ถุงหรือกระถางเพาะโดยใส่ปุ๋ยละลายช้าและอินทรียวัตถุ แล้วรดน้ำ

ในวีดิโอมีการเปรียบเทียบรากให้ดูว่าหลังจากเชื้อเห็ดในอาหารวุ้นติดแน่นกับรากไม้แล้ว รากที่มีเชื้อจะมีลักษณะคล้ำและหนาขึ้น เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงนำต้นกล้าที่มีเชื้อไปปลูกในสวนป่า หลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็สามารถพบเห็ดทรัฟเฟิลได้

3. การทำเชื้อเห็ดให้เป็นลักษณะเหมือนขี้เลื่อย หรือปุ๋ยหมักที่มีเชื้อเห็ดเจริญอยู่

ใช้วิธีแยกเชื้อบริสุทธิ์ แล้วเอาเชื้อบริสุทธิ์นี้เลี้ยงให้เป็นเชื้อสต๊อกอยู่บนอาหารวุ้น เหมือนกับวิธีการเลี้ยงเชื้อเห็ดทั่วไป คือให้เขี่ยเชื้อเห็ดตับเต่าใส่ลงไปที่ผิวหน้าอาหารในขวดแบน ใส่อาหาร 1/4 แล้ววางแบบตะแคงขวด ปล่อยให้เชื้อเจริญเติบโตอยู่ในอาหารเหลว

เมื่อเส้นใยเจริญเติบโตดีแล้ว เวลาจะใช้งานก็ใช้ขี้เลื่อยหรือปุ๋ยหมักแล้วเทอาหารเหลวที่มีเส้นใยกระจายให้ทั่วเอาไปเพาะลงในกระถางต้นไม้ แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ รดน้ำให้ชุ่ม เชื้อจะเจริญลงไปอาศัยอยู่กับรากได้เช่นกัน

หลังจากเพาะเชื้อได้เองแล้ว คุณพุฒินันท์ ยังแนะนำให้คอยตรวจสอบสภาพดินด้วยว่ามีค่าความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมหรือไม่ อาจใช้เครื่องมือวัด หรือเก็บตัวอย่างดินมาทดสอบ โดยใช้ดินลึก 1 คืบ ถ้าค่า พีเอช 6.5-7 ถือว่าเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ต้องใส่ปูนเกษตร

แต่ถ้าต่ำกว่า 7.5 จะเป็นดินเปรี้ยว ยิ่งค่าต่ำมากยิ่งเปรี้ยวมาก การใส่ปูนเกษตรจะทำให้ได้ผลดีขึ้น สามารถทำได้โดยการค่อยๆ ใส่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จะทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ผลผลิตเห็ดก็จะมากขึ้น ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตดีด้วย

นอกจากนั้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทับลงไปบนกองใบไม้ใต้ต้นโดยไม่ต้องเก็บกวาดใบทิ้งจะช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดีในปริมาณที่มากกว่าใต้ต้นไม้ที่โล่งเตียน

สำหรับดินบางแห่งเก็บอุ้มน้ำได้ไม่ดีนัก เช่น ดินทราย ดินปนทราย แต่เห็ดต้องการความชื้นสูง ดังนั้นการใช้โพลีเมอร์จะช่วยอุ้มน้ำได้ดีมาก เพราะเมื่อใช้โพลีเมอร์จะขยายตัวอุ้มน้ำประมาณ 200 เท่า โดยอาจใช้โพลีเมอร์ช่วยเก็บความชื้นหลังจากฝนตกหรือหลังรดน้ำ ทำให้ไม่ต้องรดน้ำมากหรือบ่อยครั้ง

ส่วนดินเหนียวหรือดินที่แน่นเกินไป อุ้มน้ำมากและนานเกินไปทำให้อากาศที่อยู่ในเนื้อดินน้อยลง จะไม่เหมาะกับเห็ดตับเต่าที่ชอบออกซิเจนมากๆ การใช้สารดินร่วนหรือสารละลายดินดาน พืชบดหยาบชิ้นเล็กๆหรืออาจใส่วัสดุชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น แกลบ ขี้ไก่ หว่านกระจายบางๆ ที่ผิวหน้าดิน บางส่วนก็จะแทรกลงดินทำให้ดินร่วนซุยขึ้น

ในกรณีที่ต้องการให้เกิดความชื้น ไม่อยากให้น้ำระเหยออกมากเกินไป อาจใช้พลาสติกขนาดใหญ่ คลุมทับในระหว่างที่ดอกเห็ดกำลังเริ่มเจริญเติบโต ก็จะทำให้มีความชุ่มชื้นอย่างเพียงพอ เส้นใยของเห็ดก็จะส่งผ่านขึ้นมาเป็นดอกเห็ดที่ใหญ่ขึ้น

เทคนิคต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถทดลองด้วยตัวเองได้อีกหลายแนวทาง ภายใต้กฎของไมคอร์ไรซ่า ที่จะต้องเติบโตใช้ประโยชน์ร่วมกันกับรากไม้บางชนิดในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งความชื้นและอินทรียวัตถุ

ขอให้สนุกกับความท้าทายในการสร้างสวนเห็ดตับเต่ากันทุกคนนะคะ

สูตรอาหารวุ้นเลี้ยงเห็ดตับเต่า

น้ำ 1,000 ซีซี
มันฝรั่ง 200 กรัม
น้ำตาลเด๊กโทรส 20 กรัม
ภูไมท์ซัลเฟต 20 กรัม
วุ้น 15 กรัม
วิตามินบี 1 ขององค์การเภสัช 1 เม็ด

สูตรนี้เตรียมเหมือนอาหารวุ้น พีดีเอ ทั่วไป เมื่อนำมาทดลองเลี้ยงเห็ดไมคอร์ไรซ่าทั้งหลาย เช่น เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก เมื่อดัดแปลงสูตรไม่ใส่วุ้น แต่ใช้ต้มเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อเลี้ยงเชื้อบนเมล็ดข้าวฟ่างแทน ก็สามารถทำให้เชื้อเต็มขวดภายใน 3 สัปดาห์

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2562