“ ภูมิพลินทร์ ” พรรณไม้เทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 เจอครั้งแรกที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก

“ ภูมิพลินทร์ ” จัดเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สำรวจพบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2552 บริเวณแก่งหินปูนในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน

กรมวิชาการเกษตร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวข้องด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพรรณไม้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 ว่า “ภูมิพลินทร์” ซึ่งมีความหมายว่า พรรณไม้ที่เป็นศรีสง่าแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ภูมิพลินทร์ (Trisepalum bhumibolianum) species nova เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มจำนวนมาก ลำต้นส่วนล่างมีเนื้อไม้แข็ง เปลือกไม้แตกเป็นร่องตามแนวยาวสีน้ำตาลอมเทา ยอดที่เกิดใหม่ยาว 10-15 เซนติเมตร กิ่งมีขนาดเล็กเรียว

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 1.5–2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5–6 เซนติเมตร ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบหยักตื้น ใต้ใบปกคลุมด้วยขนแบบใยแมงมุม สีขาว ก้านใบยาว 3–7 มิลลิเมตร

ช่อดอก เป็นช่อกระจุกสั้น เกิดที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยรองรับดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียว ฐานเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก 3 แฉกบนติดกัน 2 แฉกล่างแยกกันเป็นอิสระ กลีบดอกรูประฆัง สีชมพูหรือม่วงอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ที่โคน 3 แฉกล่างมีแต้มกลมสีเหลือง เกสรเพศผู้ 2 อันติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อันลดรูปจนมีขนาดเล็ก รังไข่ปกคลุมด้วยขนสั้น หนาแน่นยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบรูปลิ้น ผลแบบผลแห้งแตก เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

“ ภูมิพลินทร์ ” จัดเป็นพืชหายาก และเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เป็น 1 ในพืชสกุลชาฤาษีที่มีจำนวน 20 ชนิดในประเทศไทย เนื่องจาก ภูมิพลินทร์ เป็นพืชป่าที่พบใหม่ จึงยังไม่เคยมีรายงานการนำไปใช้ประโยชน์