เฝ้าระวังโรคใบจุดตาเสือในเผือก

ในสภาพอากาศที่มีแดดออกสลับกับมีฝนตกชุก และมีลมกระโชกแรงบางช่วงระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกเผือกเฝ้าระวังโรคใบจุดตาเสือหรือโรคใบไหม้ ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของเผือก

อาการบนใบ พบจุดเล็กสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดขยายใหญ่เป็นวงซ้อนกันคล้ายดวงตา กรณีที่อากาศยังมีความชื้นหรือในช่วงเช้า จะพบบริเวณแผลมีหยดสีส้ม เมื่ออาการของโรครุนแรง แผลจะขยายติดกัน ทำให้ใบไหม้ หากอากาศมีความชื้นหรือมีฝนพรำ ใบจะเหี่ยวม้วนพับเข้า ใบแห้ง หรือใบอาจเน่า

อาการบนก้านใบ พบจุดเล็กสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดจะขยายใหญ่ยาวรีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม ทำให้ก้านใบช้ำ ใบเหี่ยว ก้านหักพับได้ง่าย สำหรับในแปลงที่เป็นโรครุนแรง เผือกจะมีจำนวนใบเหลือน้อย จนทำให้ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต และเชื้อสาเหตุโรคอาจเข้าทำลายหัวเผือก ทำให้หัวเผือกเน่าได้

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่เริ่มแสดงอาการของโรค ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารอีทาบอกแซม 10.4% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น บริเวณใบ และก้านใบ สำหรับแปลงปลูกเผือกที่พบการระบาดของโรค หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บนำส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค หลีกเลี่ยงไม่ปลูกเผือกซ้ำในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

นอกจากนี้ การป้องกันกำจัดโรคใบจุดตาเสือหรือโรคใบไหม้ของเผือกในฤดูถัดไป เกษตรกรควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูก โดยไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป ใส่ปูนขาว และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก

ในแหล่งที่พบการระบาดของโรค ให้เลือกใช้พันธุ์ต้านทานหรือทนทานต่อโรค เช่น พันธุ์ พจ.06 หรือใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค จากนั้น เกษตรกรควรจัดระยะปลูกเผือกให้เหมาะสม ไม่ปลูกเผือกในระยะที่ชิดกันเกินไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง