ผ้าไหม “ตัวโน้ต” เด่นที่ผ้าไหม สวยด้วยมือเฮา

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน ตั้งอยู่เลขที่ 62/1 หมู่ 3 บ้านคึมมะอุ ตำบลหนองหว้า อำเภอบัวลาย นครราชสีมา ถือว่าเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2542 จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ถักทอผ้าไหมไว้ใช้กันภายในครัวเรือน จนพอมีเวลาว่างหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร จึงได้ผลิตผ้าไหมของตัวเองอันได้แก่ผ้ามัดหมี่ ผ้าโสร่งนำไปขายยังตลาด เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

คุณวันเพ็ญ กับผ้าไหมผืนสวย

จนในที่สุดเห็นว่าควรรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้วยการนำผลผลิตของแต่ละครัวเรือนมารวมกันแล้วหาตลาดมารับซื้อแทน จนกระทั่งนำมาสู่การจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน นับจากนั้น และได้มีการจัดทำแผนโครงสร้างกลุ่ม แนวทางการทำงาน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆของสมาชิกจนนำมาสู่การส่งเสริมความรู้จากทางหน่วยงานราชการ สามารถผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ หลากหลายสไตล์ตามความต้องการของตลาดทั้งแนวเดิมโบราณ ไปถึงแนวโมเดิร์นอินเทรน แถมยังฉีกแนวด้วยการนำตัวโน๊ตเพลงมาประกอบการทอทำให้ลวดลายบนผืนผ้าออกมาสวยงาม แปลก น่าสนใจ ดูสะดุดตาต่อผู้ที่นิยมใช้จนได้รับรางวัล

คุณวันเพ็ญ แสงกันหา ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และมีบทบาทเป็นแกนในการประสานงาน พร้อมกับสมาชิกกลุ่มบางส่วนอันได้แก่คุณอำนวย ชายา,คุณแต๋ว กะสันเทียะ,คุณฮู้ พรมขรยาง และคุณประยงค์ แสงกันหา ได้ร่วมพูดคุยกันถึงความภาคภูมิใจในสินค้าต่างๆ ของกลุ่มให้ฟัง

คุณวันเพ็ญ ให้รายละเอียดความเป็นมาว่า เดิมในตำบลหนองหว้า มี 9 หมู่บ้าน และบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อนเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริม ในช่วงหลังฤดูทำนาชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมออกไปทำงานนอกบ้านหรือต่างจังหวัด แต่จะมีกลุ่มแม่บ้านส่วนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเพื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมไปถึงการทอผ้าไหมจำหน่ายกันภายในหมู่บ้านและใกล้เคียงเพื่อหารายได้เสริม

หนอนไหม

หลังจากที่ผ้าไหมของหมู่บ้านเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันทั่วไปจึงมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สร้างแรงจูงใจให้บรรดาแม่บ้านมีกำลังใจ จากนั้นจึงรวมกันเป็นกลุ่ม มีการควบคุมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นการกำหนดการทอผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าฝ้าย และสินค้าอีกหลายชนิด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่ม พร้อมกับสร้างคำขวัญประจำกลุ่มว่า “คึมมะอุอยู่มานาน  ถูกกล่าวขานเรื่องผ้าไหม ชื่อก้องกังวานไกลทั่วทั้งไทยและต่างแดน”

สำหรับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม คุณวันเพ็ญกล่าวว่า ประการแรกเพื่อเป็นไปตามแนวทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ประการต่อมาเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน และประการสุดท้ายเพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

หนอนกินใบหม่อน

ประธานกลุ่มกล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งที่เริ่มตั้งกลุ่มมีสมาชิกเพียง 25 คน ตอนแรกทำแค่ทอผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า และผ้าโสร่ง พวกเราหารือกันว่าให้นำสินค้าของแต่ละคนที่ทำไว้มารวมกันเพื่อนำไปเสนอขายแก่พ่อค้าคนกลางให้มารับซื้อ แทนการนำไปขายเองเพราะมีปัญหาด้านราคา

“ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม 103 คน สมาชิกเลี้ยงหม่อนจำนวน 300 กว่าคน มีแปลงหม่อนรวมกันกว่า 50 ไร่ ซึ่งยังไม่รวมแปลงของสมาชิกแต่ละครัวเรือนที่มีกันอยู่ต่างหาก ทั้งยังมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกเป็นกลุ่ม มีผู้สูงอายุ 23 คนทำหน้าที่ปั่นไหมและพับชายผ้า เยาวชนมีหน้าที่เขียนลายผ้าจำนวน 23 คน”

เมื่อก่อนเป็นงานอดิเรก

ตอนนี้เป็นอาชีพหลัก

แต่เดิมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีแค่เฉพาะในหมู่บ้านหนองหว้า ต่อมาค่อยๆขยายพื้นที่การปลูกไปตามหมู่บ้านอื่นจนเกิดการแพร่หลาย คุณวันเพ็ญบอกว่าตั้งแต่เกิดก็มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันแล้วมีการทอผ้ามัดหมี่กันเป็นปกติ ทอไว้ใช้เป็นผ้าไหว้ ผ้ามงคลในพิธีต่างๆ เข้าใจว่าคงมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งเมื่อก่อนทำกันเป็นงานอดิเรก แต่ตอนนี้ทำเป็นอาชีพหลัก

วัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำมาใช้ย้อม

“แต่หลังจากที่มีการร้องขอให้ทางหน่วยงานราชการเข้ามาส่งเสริมทางด้านการสอนตัดเย็บเสื้อผ้า รวมไปถึงการตลาด จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้ยอดการสั่งเพิ่มมากขึ้น ผลิตไม่ทัน จากที่เคยทอและตัดเย็บอยู่เฉพาะภายในศูนย์ จึงต้องส่งงานไปให้กับสมาชิกตามบ้าน” ประธานกลุ่มกล่าว

ผลิตสินค้าขายตั้งแต่ต้นน้ำ

กลางน้ำและปลายน้ำ

เมื่อกิจกรรมของกลุ่มค่อยๆ เจริญเติบโตมีการพัฒนาจากน้อยไปหามาก จากงานที่เคยผลิตเพียงหนึ่งถึงสองอย่าง กลายเป็นผลิตหลายอย่าง เมื่อความต้องการมากขึ้น รายได้เพิ่มมากขึ้น บรรดาคนในหมู่บ้านเห็นว่าสามารถทำรายได้อย่างดี จึงต่างทยอยมาสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มกันอย่างมากมาย ทั้งนี้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องมีระเบียบเป็นค่าสมัครคนละ 50 บาท ค่าหุ้นจำนวน 200 บาท (20 หุ้น)

คุณวันเพ็ญ อธิบายว่า หากสมาชิกต้องการนำผลิตภัณฑ์มาฝากขายกับทางกลุ่ม สมาชิกต้องหัก 5 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าสินค้าที่ตั้งไว้ เพื่อนำเข้าเป็นเงินกองกลางกลุ่มฯ ส่วนสินค้าที่กลุ่มขายได้ เมื่อหักทุนออกแล้ว ที่เหลือจะนำเข้าเป็นเงินกองกลางเช่นกัน เพื่อนำมาจัดสรรผลตอบแทนให้สมาชิกต่อไป

กระเป๋าใบเล็ก ย่ามใบน้อยทำได้

สินค้าจากผ้าไหมที่ขายนั้นประธานกลุ่มให้รายละเอียดว่าเป็นการผลิตขายตั้งแต่ต้นทางหรือต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ หมายถึงถ้าเป็นสินค้าต้นน้ำได้แก่การผลิตเป็นวัตถุเป็นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลางน้ำคือการทอผ้าเป็นผืนได้แก่ผ้าคลุมไหล่ ผ้ามัดหมี่ และผ้าโสร่ง ส่วนปลายน้ำคือการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า กระโปรง และของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆจากเศษผ้าที่เหลือ

ประธานกลุ่ม บอกว่ากรรมวิธีการผลิตผ้าไหมถือว่ามีความละเอียดที่จะต้องใช้ความพิถีพิถันมาก นับตั้งแต่การเลือกหม่อนเพื่อใช้เป็นอาหารแก่หนอนไหมที่กินแล้วจะลอกคราบเป็นไหมออกมา จากนั้นมีการสาวไหม แล้วจึงนำไปมัดหมี่เพื่อให้ออกลวดลาย การย้อมสีตามธรรมชาติหรือเคมีไปจนถึงการทอเป็นผืนผ้า ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะทอเป็นลวดลายประเภทใด

“การเลี้ยงมีสองแบบคือเลี้ยงแล้วสางเส้นไหมไปส่ง กับอีกส่วนคือเลี้ยงแล้วทอผ้าไหมเอง แล้วยังมีอีกประเภทที่เพิ่งติดต่อมาไม่นานนี้คือเลี้ยงแล้วส่งเป็นรังไหมให้ร้านจิมทอมสัน ทั้งนี้สมาชิกจะนำไข่ที่มีอายุ 20 วันมาส่ง ในทุกวันที่ 5 และ 20 ของทุกเดือน”

ได้รับการส่งเสริม

จากภาคราชการของจังหวัด

ส่วนสินค้าที่ทางกลุ่ม มีการผลิตจำหน่ายได้แก่ผ้าไหมพื้นสีธรรมชาติและเคมี,ผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติและเคมี, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าพันคอ,เสื้อสำเร็จรูปและสิ่งของใช้เบ็ดเตล็ด อาทิ ย่าม,กระเป๋าใส่เหรียญและอื่นๆ

กระโปรงสวยเก๋

“การผลิตเสื้อ กระโปรง ทางจังหวัดจะส่งแพทเทิร์นมาให้ จากนั้นสมาชิกแต่ละคนภายในกลุ่มจะแยกกันทำชิ้นส่วน จากนั้นจึงค่อยนำมาประกอบเป็นตัวในขั้นตอนสุดท้าย สำหรับความรู้ด้านเขียนลายผ้าได้รับความสนับสนุนจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลให้ความช่วยเหลือส่งไปอบรม ขณะเดียวกันเมื่อสมาชิกกลุ่มมีความรู้จากการอบรมก็จะไปช่วยถ่ายทอดความรู้นี้กับกลุ่มเครือข่ายอีกครั้ง” ประธานกลุ่ม ให้รายละเอียดเพิ่ม

กรุงเทพฯ ถือเป็นแหล่งของการจัดแสดงสินค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกำลังซื้อที่มีมากของผู้บริโภค การเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบธุรกิจใหญ่หลายราย ดังนั้นการผลักดันสินค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จักแก่ตลาดอย่างกว้างจึงจำเป็นต้องนำสินค้ามาลงในงานแสดงสินค้าในกรุงเทพฯ

คุณวันเพ็ญ บอกว่า ไม่เพียงแค่ตลาดในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่ทางกลุ่มต้องการนำสินค้ามาแสดง แม้แต่ตลาดในจังหวัดใหญ่ที่มีการจัดงานในลักษณะนี้ทางกลุ่มฯจำเป็นต้องส่งสินค้าไปร่วมงาน และในฐานะที่ตัวเองเป็นคณะกรรมการเครือข่ายระดับประเทศจึงต้องมีการประสานงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวงานต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างเสมอ  นอกจากการนำสินค้าไปแสดงตามงานแล้วหากลูกค้าที่สนใจต้องการให้ส่งสินค้าทางไปรษณีย์ทางกลุ่มก็มีบริการ

“ช่วงที่ขายสินค้าดีส่วนมากจะเป็นหน้าเทศกาลงานสำคัญต่างๆ ที่มักจะสั่งซื้อไปเป็นผ้าสำหรับใช้ในงานพิธี สำหรับเสื้อผ้าและกระโปรงมักจะขายดีตามงานแสดงสินค้า”

ราคาจำหน่ายสินค้าของกลุ่มฯถ้าเป็นผ้าไหมผืนมีราคาตั้งแต่ 1,000 – 2,000 บาท หากเป็นชุดกระโปรงมีราคาตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท ย่ามใบละ 100 บาท กระเป๋าผ้าไหมใบละ 500 บาท

ความที่เป็นกลุ่มงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่โดดเด่นของจังหวัดจึงทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อนได้รับรางวัลมากมายและมักจะกวาดรางวัลใหญ่หลายรางวัลทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด ล่าสุดได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนระดับภาค

คุณวันเพ็ญ บอกว่า รายได้ของสมาชิกบางคนอาจได้จากการนำเส้นไหมมาขาย แล้วยังมีรายได้จากการทอผ้า นอกจากนั้นยังมีรายได้จากค่าเย็บเสื้อผ้าของแต่ละคนที่รับผิดชอบอีก ส่วนกำไรจากการขายสินค้าจะนำเข้ากองกลางเพื่อสะสมไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม

ผ้าไหม “ตัวโน้ต”

สร้างเอกลักษณ์ความแปลกที่ไม่มีใครเหมือน

คุณวันเพ็ญ เผยว่า ผ้าไหมมัดหมี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มที่ทุกคนมีความภาคภูมิใจ เพราะความสวยงามและเสน่ห์ที่ตรึงตรามาจากลายที่เกิดขึ้นจากการมัดที่ต้องใช้ความพิถีพิถัน

และที่น่าสนใจมากคือมีผ้าไหมที่เคยได้รับรางวัลเป็นผ้าคลุมไหล่ที่เกิดจากลายทอ ซึ่งผู้ทอจะต้องดูตัวโน้ตเพลงประกอบไปด้วย เป็นการทอที่อาศัยจังหวะจากโน้ตเพลง ทำให้ลายที่ออกมามีความแปลก และแต่ละลายจะไม่ซ้ำกันเพราะใช้ตัวโน๊ตเพลงไม่เหมือนกัน ความสำเร็จของงานชิ้นนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของกลุ่มที่ไม่มีใครเหมือน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้นอกจากจะต้องผ่านการสอนและอบรมก่อน

“เริ่มมา 2 ปีแล้ว ก่อนนั้นสมาชิกได้ไปอบรมเกี่ยวกับการเรียนตัวโน้ตมา แล้วนำกลับมาทดลองทอกับผ้า ซึ่งขณะทอจะเปิดดูตัวโน้ตเพลงที่ละตัวแล้วนับจังหวะการทอผ้าทั้ง“ เส้นด้ายยืน” และ “ เส้นด้ายพุ่ง ” ในหนึ่งผืนสามารถทำได้ 3-4 ลาย นั่นหมายถึงต้องใช้จำนวนเพลง 3-4 เพลง เช่นกัน  ส่วนราคาขายเริ่มต้นที่ 2,000-5,000 บาท เมื่อตอนมาขายที่เมืองทองธานีผืนที่ตั้งราคา 3,000 บาท ขายดีมาก” ประธานกลุ่ม บอก

รางวัลมากมายจนไม่มีที่โชว์แล้ว

คุณวันเพ็ญ กล่าวว่า แผนและโครงการที่กำหนดไว้คือจะพัฒนาและส่งเสริม ซึ่งบางส่วนกำลังดำเนินการไปแล้วคือการไปเผยแพร่กระบวนการทำผ้าไหมทั้งระบบสู่โรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ได้มีการเตรียมต้นหม่อนไปปลูกตามโรงเรียนหลายแห่ง จากเมื่อก่อนที่เคยสอนให้ทอเท่านั้น

“ตอนนี้เห็นว่าควรจะจัดสอนทั้งกระบวนการตั้งแต่การปลูกต้นหม่อน เลี้ยงไหม ไปจนถึงการทอ โดยทางกลุ่มจะสลับสมาชิกไปสอนเด็กทุกวัน ทั้งนี้เพื่อต้องการถ่ายทอดความรู้ให้แพร่หลาย แล้วยังสามารถสร้างอาชีพทำเงินได้ ที่สำคัญเป็นการช่วยส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าไหมให้คงสืบไปอีกนาน แล้วยังมีแผนที่จะพัฒนาสีย้อมจากธรรมชาติให้มีสีแปลกไปจากที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีก” คุณวันเพ็ญ กล่าวในที่สุด

แม้ผู้เขียนจะไม่สันทัดด้านผ้าไหม แต่การได้เชยชมเพียงชั่วครู่ก็รู้สึกถึงความสวยงามวิจิตรบรรจงอันมาจากความสามารถ ภูมิปัญญาอันอัจฉริยะจากคนรุ่นบรรพบุรุษที่คิดสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์การทอจากวัสดุธรรมชาติจนทำให้สร้างสรรค์งานทอผ้ามีลายออกมาสวยงามและถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกที่หลายประเทศให้ความสนใจหาซื้อกัน แล้วคนไทยจะช่วยอุดหนุนสินค้าไทยกันหน่อยดีไหม…เงินทองจะได้ไม่รั่วไหล

สนใจผ้าไหม เสื้อผ้าและของใช้ที่ผลิตจากผ้าไหมอีกหลายชนิดของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณวันเพ็ญ โทรศัพท์ 044-979608 หรือ 089-949-3788 และ 081-471-1052