กรมป่าไม้ เผยหลายองค์กรระดมแก้ปัญหา ‘เขาหัวโล้น’ จ.น่าน ยันฟื้นฟูแล้วหมื่นไร่เศษ

กรณีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูจนสามารถพลิกฟื้น “เขาหัวโล้น” นำร่องที่ บ้านดงผาปูน-บ้านนาบง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง จนเขียวขจีได้อีกครั้ง ถึง 1,200 ไร่ โดยใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่เขาหัวโล้นอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่าโดยตรงอย่าง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องออกมาชี้แจง เพราะกำลังตกเป็นจำเลยของสังคมนั้น

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ ทส. กล่าวถึงกรณีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นในพื้นที่ จ.น่าน ที่ดำเนินการโดย วท. แทนที่จะเป็น ทส. ว่า การฟื้นฟูสภาพป่า จ.น่าน มีหน่วยราชการ องค์กรเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสนใจร่วมบูรณาการการทำงานในหลายพื้นที่ และกรมป่าไม้ได้ให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จ.น่าน มีพื้นที่ 7.58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพป่า 4.65 ล้านไร่ หรือร้อยละ 61.39 พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 2.93 ล้านไร่ หรือร้อยละ 38.61 มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 3.22 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพป่า 1.87 ล้านไร่ พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 1.35 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประมาณ 2.83 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ไม่มีสภาพป่า ประมาณ 2.05 แสนไร่

โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พื้นที่เขาหัวโล้นของ จ.น่าน ส่วนใหญ่ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าตามแผนงานของศูนย์จัดการต้นน้ำและโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ สำหรับกรมป่าไม้ได้ฟื้นฟูสภาพเขาหัวโล้นในท้องที่ จ.น่าน ถึงปัจจุบัน โดยได้ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าตั้งแต่ปี 2556 พื้นที่รวม 4.33 หมื่นไร่ ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ตั้งแต่ปี 2560 โดยราษฎรปลูกไม้ยืนต้นควบคู่กับการทำกินตามโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื้อที่รวมกว่า 1.39 หมื่นไร่ สมาชิก 1,300 ราย ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาราษฎรทำประโยชน์ในพื้นที่เขาสูงชันตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 โดยกำหนดมาตรการให้ราชการร่วมวางแผนกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้านเพื่อดำเนินการตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าโดยประชาชนใช้ประโยชน์ระหว่างแถวของต้นไม้และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไม้ที่ปลูกและพืชพื้นล่างด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการ คทช. อำเภอ เพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับราษฎรในพื้นที่ จ.น่าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเขาหัวโล้นเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกของ ทส. ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการปลูกป่าโดยตรง จากข้อมูลของ ทส. ระบุพื้นที่เขาหัวโล้นที่ถูกบุก มีดังนี้ จ.เชียงใหม่ 1,103,499.54 ไร่ ผู้บุกรุก 195,433 คน จ.น่าน 1,180,859.49 ไร่ ผู้บุกรุก 69,802 คน จ.เชียงราย 765,100.08 ไร่ ผู้บุกรุก 104,043 คน จ.ตาก 706,990.20 ไร่ ผู้บุกรุก 104,052 คน จ.แม่ฮ่องสอน 602,288.43 ไร่ ผู้บุกรุก 14,814 คน จ.พิษณุโลก 176,518.61 ไร่ ผู้บุกรุก 30,000 คน จ.เพชรบูรณ์ 560,125.66 ไร่ ผู้บุกรุก 20,112 คน จ.พะเยา 149,320.38 ไร่ ผู้บุกรุก 14,858 คน จ.แพร่ 126,220 ไร่ ผู้บุกรุก 14,814 คน จ.ลำปาง 89,006.76 ไร่ ผู้บุกรุก 14,746 คน จ.ลำพูน 39,962.73 ไร่ ผู้บุกรุก 24,660 คน จ.อุตรดิตถ์ 118,185.86ไร่ ผู้บุกรุก 25,000 คน และ จ.เลย 1,076,089.70 ไร่ ผู้บุกรุก 56,000 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแก้ปัญหาเขาหัวโล้นที่ผ่านมา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ ทส. เคยให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ไปปักหลักพักค้างบนเขาหัวโล้นเพื่อทำการปลูกป่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งที่มีการออกมาตรการให้คุณให้โทษกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา การปลูกป่า ยังมีปัญหาร้องเรียนการทุจริต ถึงขนาดมีการตั้งคณะกรรมการสอบ แต่เรื่องก็เงียบหายไปในที่สุด ไม่มีการแถลงให้ประชาชนรับทราบ และยิ่งกว่านั้นกรมป่าไม้ ยังปล่อยให้ตำแหน่งอธิบดีตัวจริงว่างมานานกว่า 1 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแต่งตั้ง