เกษตรกรนครปฐม เพาะเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอนส่งขายทั่วโลก

ปลาอะราไพม่า หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า ปลาช่อนยักษ์อะเมซอน (อังกฤษ : Arapaima; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arapaima gigas) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ในวงศ์ปลาอะราไพม่า (Arapaimidae) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ สีดำเงาเป็นมัน มีแถบสีแดง–ส้ม ตัดกับพื้นสีดำ

พบได้ในแม่น้ำอะเมซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า พิรารูคู (Pirarucu) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่ประเทศเปรูจะเรียกว่า ไพชี่ (Phiche) โดยปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้บริโภคกันในท้องถิ่น ในบางท้องที่มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ

ปลาอะราไพม่า เป็นปลาที่ได้รับความนิยมในแง่ของการเป็นปลาสวยงาม ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความใหญ่โตในรูปร่าง และสีสันของเกล็ดมีแถบแดงจัด จัดได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดความยาวที่สุดในโลก

ในประเทศไทยปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2529 และได้รับความนิยมสูงสุดในปี พ.ศ. 2530 จนปัจจุบัน

หลายท่านคงคิดว่า ปลาอะราไพม่า เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดุร้าย แต่คุณศิริวรรณ เจ้าของฟาร์มกลับบอกว่า เมื่อนำมาเลี้ยงในสถานที่เลี้ยงแล้ว แม้จะเป็นปลาขนาดใหญ่กลับไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับผู้เลี้ยงเลย ผู้เลี้ยงสามารถลงไปไล่จับปลาเล่นได้ ถ้าอยากให้เขาเชื่องแนะนำตอนให้อาหารควรให้ซ้ำที่เดิมทุกวัน เมื่อเขาชินสักวันหนึ่งคุณจะสามารถให้ถึงปากได้ ตอนให้อาหารอาจจะให้สัญญาณเป็นการตบมือ หรือทำเสียงเป็นสัญลักษณ์ก็ได้

คุณศิริวรรณ สมใจ บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ที่ 7 ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เจ้าของฟาร์มปลาช่อนอะเมซอน อะราไพม่า ส่งออกหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีใบอนุญาต CITES ถูกกฎหมาย

คุณศิริวรรณ สมใจ เจ้าของศิริวรรณฟาร์ม อะราไพม่า ซุปเปอร์เรด

คุณศิริวรรณ เล่าว่า ครอบครัวไม่ได้มีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาก่อน แต่ด้วยความที่มีใจรักจึงคิดที่จะเลี้ยงจนกลายเป็นอาชีพในที่สุด ซึ่งตอนแรกเริ่มจากการเพาะเลี้ยงขายลูกปลาเบญจพรรณ จำนวน 100 ไร่ เป็นอาชีพหลักมาก่อน เพิ่งหันมาเริ่มเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอนทีหลัง เพราะชอบในรูปทรงและลักษณะของสีที่แดงจัดจึงลองไปเดินหาซื้อที่ตลาดนัดจตุจักรมาได้ 3 ตัว ซึ่งปลาที่ซื้อมีใบอนุญาตที่ถูกต้องเรียบร้อยทุกอย่าง

เริ่มเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอนเพียง 3 ตัว เพราะใจรัก

คุณศิริวรรณ เริ่มเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอนตั้งแต่ปี 2535 ซื้อมา 3 ตัว ซึ่งตอนแรกไม่ได้คิดที่จะเลี้ยงเชิงธุรกิจ ซื้อมาเพราะชอบในรูปร่าง ลักษณะ และสีสันของปลา และเหมาะกับที่บ้านมีบ่อดินเยอะ เมื่อซื้อมาก็นำมาปล่อยในบ่อดินที่มีขนาดกว้าง 1 ไร่ นำลูกปลาที่เหลือจากการค้ามาให้เป็นอาหาร เลี้ยงไปเรื่อยๆ

“หลังจากปี 35 นับมาอีก 7-8 ปี เผอิญเขาออกลูกมา พอออกลูกมาเราก็ไม่รู้ว่าวิธีการดูแลและการอนุบาลว่าควรทำอย่างไร ตอนนั้นลูกปลาออกมาเยอะมากแต่เราดูแลไม่เป็นเหลือปลาอยู่ 62 ตัว แล้วปลา 62 ตัว เราก็คัดเอาตัวที่ดี ที่สวยสีแดงจัด เก็บไว้ทำพ่อแม่พันธุ์ 10 ตัว ที่เหลือบางส่วนขายออกไป” คุณศิริวรรณ เล่า

แม้ต้นกำเนิดจะมาจากอีกซีกโลก  แต่การเลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด

ปลาช่อนอะเมซอนถึงจะเป็นปลาที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ แต่กลับไม่ค่อยพบปัญหาเมื่อนำมาเลี้ยงในประเทศไทย อาจจะเลี้ยงง่ายกว่าปลานิลเสียอีก เพราะอากาศจากต้นกำเนิดของเขาค่อนข้างใกล้เคียงกับอากาศที่เมืองไทย จะมีปัญหาก็แต่เรื่องสารเคมี ปลาช่อนอะเมซอนเป็นปลาขนาดใหญ่ ดูแข็งแรงก็จริง แต่ความจริงแล้วเขาจะแพ้สารเคมีมากๆ หากมีสารเคมีปนเปื้อนเขาจะมีปฏิกิริยาทันที

การที่จะเพาะปลาช่อนอะเมซอนต้องใช้เวลาในการเลี้ยง นาน 7-8 ปี

บ่อหนึ่งปล่อยปลาลงไป 10 ตัว มีเพียงไม่กี่บ่อ นอกนั้นคือลูกปลาที่ขุนไว้เพื่อไซซ์ แต่ละปีที่ทำลูกจะได้มา 1,000-2,000 ตัว จะส่งขายลูกค้าเพียงบางส่วน อีกส่วนเก็บไว้ทำไซซ์ ถ้าเลี้ยงในบ่อดินอัตราการตายแทบจะไม่มี แล้วปลาก็จะสมบูรณ์ มีที่ว่าย ได้ไซซ์ได้น้ำหนัก สีสันสวยงาม

ปลาช่อนอะเมซอนไม่สามารถที่จะออกลูกบนบ่อปูนได้ ต้องอยู่ในบ่อดิน และสภาพแวดล้อมบ่อต้องมีความใกล้เคียงธรรมชาติตามแหล่งกำเนิดที่เขาอยู่มากที่สุด เขาถึงจะออกลูกให้เราได้

ฤดูที่เหมาะแก่การเพาะพันธุ์คือช่วงปลายฝนต้นหนาว ต้องดูภูมิอากาศ บางครั้งถ้าอากาศไม่ดีเขาก็จะไม่ออกลูก

ระบบน้ำต้องเป็นน้ำจากแหล่งธรรมชาติ จะเป็นน้ำคลอง น้ำบาดาลก็ได้ ต้องเป็นน้ำที่ไม่มีคลอรีน แต่ถ้าจำเป็นจะต้องใช้แนะให้พักทิ้งไว้สักคืน เพราะปลาช่อนอะเมซอนแพ้คลอรีน เขาเป็นปลาที่หายใจทางเหงือก ถ้ามีสารเข้าไปเมื่อฮุบน้ำเข้าไปเพื่อที่จะกรองอากาศออกมาทางเหงือก ถ้ามีสารเคมีพวกนี้จะไปจับเหงือกเขา พอไปจับเหงือกเขาทำให้หายใจไม่ได้ แค่ระยะเวลาไม่เกินชั่วโมงเขาก็ตายได้

ปลาอะราไพม่าหรือปลาช่อนอะเมซอน ซุปเปอร์เรด มีแถบสีแดงสด สวยงาม

ปลาที่ปล่อยลงบ่อดินเป็นปลาไซซ์ 1 เมตร หรือปลาที่มีอายุ 1 ปี และต้องเลี้ยงไปอีก 7 ปี ถึงจะออกลูกชุดใหม่

สภาพแวดล้อมภายในบ่อ ต้องมีต้นกก ต้นปือ หรือผักบุ้งให้อยู่เหนือผิวน้ำ เหมือนกับเป็นร่มให้เขาได้มาพัก เพราะโดยธรรมชาติเขาชอบอยู่น้ำตื้น เราต้องมีส่วนนี้ไว้เพื่อให้เขามาพักได้ แล้วลูกปลาก็จะไปหลบตามนี้ ถ้าเป็นตัวใหญ่จะโดนกินไป เราจะต้องดูว่าอาหารพอไหม ถ้าอาหารไม่พอก็ต้องเสริมให้เขา ในบ่อดินที่เราเตรียมไว้จะมีปลานิลไซซ์ 2-5 นิ้ว ใส่ลงไปให้เขากิน

 

ต้นทุนค่าอาหารต่ำ ใส่ครั้งเดียว 1 ตัน อยู่ได้นานนับเดือน

อาหารที่ใช้เลี้ยง คุณศิริวรรณบอกว่า ควรจะเป็นอาหารสดอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือปลาทู หรือจะให้เป็นอาหารเม็ดก็ได้แต่ปลาจะไม่ค่อยโต แนะให้เป็นของสด หรือปลาชนิดใดก็ได้ตามสะดวก ที่นี่เนื่องจากมีบ่อปลาเบญจพรรณอยู่แล้ว จึงให้ปลาเป็นอาหาร เวลาปลาเหลือจากการค้าก็จะนำมาให้

ปริมาณอาหารที่ใส่ 1 บ่อ ใส่ปลาตัวเล็กลงไปประมาณ 1 ตัน เมื่อใส่ไปแล้วอยู่ได้นานเป็นเดือน ในระหว่างนั้นปลาที่ปล่อยเป็นอาหารก็ออกลูกสามารถเป็นอาหารได้ต่อ ถือว่าประหยัดค่าอาหารมากและอย่างลูกปลาที่เราให้บางส่วนเราไม่ต้องซื้อเลย เพราะว่าเรามีบ่อที่เป็นบ่อธรรมชาติ เราก็สามารถที่จะดักปลาจากบ่อตรงนี้แล้วมาเทให้เขากินได้

จะเห็นว่าแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อเลย เอาจากตรงนั้นตรงนี้ ก็เหมือนกับทำบ่ออนุบาลให้ปลาอยู่ พอถึงเวลาเราก็มาทำเป็นอาหาร

ถือว่าคุ้มมากๆ กับการใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 7 ปี เพราะตอนขายก็ขายได้ราคาสูง ถ้าเทียบกับต้นทุนแล้วแทบจะไม่มี จะมีก็ตอนเขายังเล็กคือที่ไปตีอวนจากบ่อดินแล้วเราเอามาอนุบาลเอง จะมีค่าไรแดง ไรทะเล และกุ้งฝอย พวกนี้เราจะอัดเขาเต็มที่ เราจะเสียค่าใช้จ่ายแค่ตรงนี้เอง

บ่อดิน 1 ไร่ มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ใกล้เคียงธรรมชาติ

 เคล็ดลับเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอน ซุปเปอร์เรด

ที่ศิริวรรณฟาร์ม เน้นมากเลยว่าปลาที่ฟาร์มจะเป็นปลาอะเมซอน ซุปเปอร์เรด คือเป็นปลาที่มีแถบสีแดงจัด มองเห็นได้ชัด เคล็ดลับคือจะเริ่มตั้งแต่การคัดพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีสีแดง 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะเริ่มคัดว่าสีแดงหรือไม่แดงตั้งแต่ปลาไซซ์ 12-15 นิ้ว และจะเริ่มดูเกล็ดเปิด…เกล็ดเปิดในที่นี้คือจะออกเหลือบส้มออกโอลด์โรส และที่หางจะเริ่มเป็นจุดส้มๆ ถ้าได้ลักษณะอย่างนี้โตขึ้นมาอย่างไรก็ได้สีแดงเข้มตามที่ต้องการ ส่วนตัวไหนที่ดูแล้วสีไม่ออก พวกนี้คือโตขึ้นสีก็จะไม่ออก จะขายเป็นปลาตกเกรดไป อันนี้ก็จะมีลูกค้ามารับซื้อราคาไม่สูงเพื่อนำไปทำเกมบ่อตกปลาต่อไป

ปลาช่อนอะเมซอนเป็นปลาที่แทบจะไม่มีโรค ที่ฟาร์มได้การันตีจากกรมประมงว่าที่นี่ไม่มีการใช้ยาเลย จึงไม่เกิดปัญหาปลาตาย จะมีปัญหานิดหน่อยตรงที่เวลาตีอวนเพื่อเอาปลาขึ้นมาจากบ่อดินมาบ่อปูน ตรงปากเขาจะเป็นสีแดงคือชนอวน และเกล็ดหลุดบ้าง แค่นั้นเองคือสิ่งที่มีปัญหา เรื่องป่วยไม่มี เรื่องยาไม่ต้องใช้

เวลานำปลาขึ้นมาจากบ่อดินไปบ่อปูนจะใช้แค่เกลือเม็ด โรยลงไปในน้ำเพื่อปรับสภาพไม่ให้ปลาเครียด

การตลาดเน้นส่งออก สร้างรายได้จากทั่วโลก

ศิริวรรณฟาร์ม มีตลาดหลักคือตลาดต่างประเทศ ในประเทศมีเป็นส่วนน้อยเพราะปลามีราคาสูง ลูกค้าคนไทยจะสู้ราคาไม่ไหว เพราะเน้นขายปลาที่มีคุณภาพ

ที่นี่เป็นฟาร์มที่มีใบอนุญาตการส่งออกที่ถูกต้องเพียงฟาร์มเดียวในประเทศไทย ถามว่าในไทยก็มีคนเลี้ยงเยอะแต่เขาไม่สามารถส่งออกได้จึงได้เปรียบการตลาดเป็นอย่างมาก

“ถ้าถามว่าหวั่นเรื่องคู่แข่งการตลาดไหม ตอบเลยว่าไม่ 1. หากเป็นในประเทศไทยยากเพราะการเลี้ยงต้องมีสถานที่เลี้ยงกว้างพอสมควร และการที่จะขออนุญาตปลาตัวนี้ ต้องมีแหล่งที่มาที่ไประบุชัดเจน ว่าคุณซื้อมาจากที่ไหน เลี้ยงมาแล้วกี่ปี บางคนนึกอยากจะเลี้ยงก็เลี้ยงเมื่อไปขอใบอนุญาต ไม่มีประวัติข้อมูลทางกรมก็ไม่อนุญาต เพราะปลาตัวนี้ติด CITES number 2 ดังนั้น เวลาทำเรื่องจะต้องทำเรื่องไปถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขอใบอนุญาต CITES ซึ่งตอนเราไปขออนุญาตต้องไปขอที่กรมประมง และทางกรมประมงต้องยื่นเรื่องไปที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทางประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะต้องถามรายละเอียดกลับมา ใช้เวลาหลายปีกว่าจะขออนุญาต CITES ได้ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทำก็ได้…2. เรามีความรู้ทางด้านภาษาและความรู้ทางด้านเว็บไซต์ เราทำธุรกิจภายในครอบครัว เรามีลูกก็แบ่งหน้าที่ให้เขาว่าคนนี้ช่วยดำเนินการทางด้านสื่อสารกับต่างประเทศ อีกคนช่วยดูแลด้านซื้อขายผ่านเว็บไซต์ และเว็บไซต์เราก็ทำทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลตอบรับดีมาก เพราะเราได้ใบอนุญาต CITES ที่ถูกต้องและเป็นคนแรกของเมืองไทยที่ได้มา เพราะฟาร์มเจ้าอื่นในไทย หรือต่างประเทศ เช่น บราซิล เปรู ส่วนใหญ่เขาไม่มีใบอนุญาต ไม่สามารถที่จะส่งออกได้ แต่ของทางฟาร์มเรามีใบอนุญาตการส่งออกที่ถูกต้อง ลูกค้าจึงยอมรับและไว้วางใจมาโดยตลอด การส่งออกของเราส่งไปทั่วโลก แต่จะมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ ดูไบ โดยเฉพาะเกาหลีจะสั่งมากสุดและสั่งมาเกือบทุกปี” เจ้าของบอก

สามารถลงไปจับได้ ปลาช่อนอะเมซอนไม่ดุร้ายอย่างที่คิด

เจ้าของพูดถึงการขายว่า โดยไซซ์หลักๆ ที่ขาย ถ้าเป็นลูกค้าต่างประเทศจะขายไซซ์ 5-6 นิ้ว อันนี้คือไซซ์ต่ำสุด จนถึงไซซ์ 1-1.20 เมตร อันนี้คือไซซ์ที่ชาวต่างชาตินิยมสั่ง ถ้าเป็นคนไทยจะไม่นิยมสั่งไซซ์เล็ก จะนิยมสั่งไซซ์ 1.20-1.80 เมตร ซึ่งไซซ์ 1.20-1.80 เมตร ลูกค้าจะชอบมาก เพราะเมื่อนำไปลงบ่อดินลูกค้าจะเห็นสีสันได้ชัดเจน

ราคาขายต่อตัว ไซซ์ 5-6 นิ้ว ถ้าขายในเมืองไทยตัวละ 2,500 บาท ไซซ์ 1-1.20 เมตร ถ้าส่งออกราคาจะสูงถึงตัวละ 100,000 บาท บางทีส่งออกต่างประเทศแต่ละครั้งก็หลายแสน

 

ขั้นตอนแพ็กกิ้งและแนบเอกสารในการจัดส่งข้ามประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ขั้นตอนแพ็กกิ้งไม่ยุ่งยาก ทำเหมือนกับการที่ซื้อปลาทั่วไป คือมีปลาใส่ถุงแล้วใส่ออกซิเจน จึงนำใส่กล่องปิดฝาให้เรียบร้อย แต่ขั้นตอนที่ยากคือการเตรียมเอกสารใบอนุญาตที่ต้องส่งไปให้ลูกค้า เมื่อดำเนินการเรียบร้อยต้องนำใบเซอร์ใส่ไปให้ลูกค้าด้วย ซึ่งทางประเทศไทยก็ต้องทำเรื่องขออนุญาต CITES ใช้เวลา 15 วันทำการ พอได้ใบต้องส่งใบอนุญาตไปให้ลูกค้า ลูกค้าก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากประเทศของเขาอีก 15-20 วัน เมื่อทั้งสองฝ่ายประสานใบอนุญาตของแต่ละประเทศเรียบร้อยแล้ว ถึงจะมีการเจรจาและนัดวันส่งของ ทางฟาร์มก็ต้องทำเรื่องตรวจสุขภาพปลา เมื่อผ่านถึงจองเครื่องบินเพื่อจัดส่ง

ฝากถึงผู้ที่อยากเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอนเป็นอาชีพ ต้องคิดดีๆ อย่าทำตามกระแส

ปลาช่อนอะเมซอน เป็นปลาที่สร้างรายได้ดีก็จริง แต่บางครั้งก็ต้องประสบปัญหากับอากาศที่แปรปรวน หากอากาศมีความแปรปรวนมาก ในปีนั้นปลาก็จะไม่ออกลูกเลย เกษตรกรที่เลี้ยงอาจจะเสียหายจากปัญหาตรงนี้ได้ ดังนั้น จึงอยากฝากเกษตรกรควรจะเน้นทำเกษตรแบบผสมผสาน อย่าทำเพียงอย่างเดียว คือถ้าคิดจะเลี้ยงปลา ควรหาปลูกไม้ผลรอบๆ พื้นที่บ่อไปด้วย เพราะเกิดบางปีประสบปัญหาขึ้นมา หรือปลาที่เลี้ยงมีปัญหา ก็ยังมีอีกอาชีพมารองรับ แต่ถ้าเกิดคิดว่าจะเลี้ยงปลาตัวนี้เลี้ยงอยู่ตัวเดียว แล้วถ้าเกิดว่าปีนั้นฝนตก อากาศปิด ปลาน็อกทั้งบ่อจะทำยังไง ถ้าคิดทำหน้าเดียวเมื่อมีปัญหาขึ้นมาจะยุ่ง อย่างที่ฟาร์มทำปลาช่อนอะเมซอนแต่ไม่ได้ทำทางเดียว มีปลาเบญจพรรณบ่อใหญ่เป็นรายได้หลักด้วย

สำหรับท่านที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลาช่อนอะเมซอนไว้เป็นปลาสวยงาม ใส่ตู้โชว์เสริมบารมีที่บ้าน สามารถเข้ามาแวะชมที่ฟาร์ม หรือโทร. ปรึกษา คุณศิริวรรณ สมใจ ได้ที่เบอร์ (081) 666-6195