ลาว ยกเครื่อง “บักถั่วดิน” ส่งออกไทย

ถั่วลิสง เป็นพืชอาหารชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารหวานคาวต่างๆ และผลิตภัณฑ์แปรรูป มีบางส่วนนำไปสกัดน้ำมันและกากใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วย   

ปัจจุบัน การผลิตถั่วลิสงของไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน อินเดีย พม่า เวียดนาม รวมถึง สปป. ลาว แต่ละปีมีปริมาณกว่า 30,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 1,000 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม ถั่วลิสง เป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะถั่วลิสงที่มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวไม่ดี มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อราและมีอะฟลาทอกซินปนเปื้อนสูง

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงเร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน (มกษ. 4702-2557) และประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับของประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่ วันที่ 7 มกราคม 2560 เพื่อควบคุมคุณภาพเมล็ดถั่วลิสงนำเข้า และช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคของไทยด้วย

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า เนื่องจากแต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าถั่วลิสงจาก สปป. ลาว ค่อนข้างสูง มกอช. จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเร่งสนับสนุนการจัดทำระบบตรวจสอบและรับรองถั่วลิสงส่งออกให้แก่กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ของ สปป. ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมให้ สปป. ลาว สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน มกษ. 4702-2557 ได้รองรับมาตรฐานบังคับถั่วลิสงของไทยที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2560 นี้ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า ทำให้การส่งออกถั่วลิสงจาก สปป. ลาว มายังไทยเกิดความคล่องตัว ที่สำคัญไทยยังจะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงขึ้น ส่งผลดีและได้ประโยชน์ทั้งไทยและ สปป. ลาว

ภายหลังมาตรฐานฯ เมล็ดถั่วลิสงมีผลบังคับใช้ การส่งออกเมล็ดถั่วลิสงกะเทาะเปลือกจากทุกประเทศมายังไทย จะต้องแนบใบรับรองสถานที่ผลิตและเอกสารแสดงผลตรวจสอบเมล็ดถั่วลิสงล็อตที่ส่งออกมาด้วย โดยค่าปริมาณอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงต้องไม่เกิน 20 พีพีบี (ppb) หรือ 0.02 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม จากห้องปฏิบัติการที่ไทยยอมรับ เพื่อให้มั่นใจว่าเมล็ดถั่วลิสงที่ส่งออกมาจากแหล่งผลิตที่มีมาตรการควบคุมสอดคล้องกับมาตรฐานบังคับฉบับนี้ ทั้งกระบวนการคัดแยกเมล็ด การสุ่มตรวจอะฟลาทอกซิน และการเก็บบันทึกข้อมูลไว้ตรวจประเมิน เป็นต้น

ท้าวคำตัน ธาดาวงษ์ รองอธิบดีกรมปลูกฝัง
ท้าวคำตัน ธาดาวงษ์ รองอธิบดีกรมปลูกฝัง

ด้าน คุณคำตัน ธาดาวงษ์ รองอธิบดีกรมปลูกฝัง กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว กล่าวว่า แหล่งผลิตถั่วลิสง หรือ “บักถั่วดิน” ของ สปป. ลาว กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ เช่น แขวงจำปาสัก สาละวัน และสะหวันนะเขต แต่ละปีพื้นที่เพาะปลูกไม่มีความแน่นอน เพิ่ม-ลด ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตและความต้องการของตลาด หากราคาดีเกษตรกรจะหันมาปลูกถั่วลิสงมาก แต่ถ้าราคาต่ำเกษตรกรจะเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น มันสำปะหลังหรือมันต้น

โดยเฉพาะปีนี้พื้นที่ปลูกถั่วลิสงใน สปป. ลาว ลดลงค่อนข้างมาก เพราะเกษตรกรหันไปปลูกมันต้นที่มีราคาดีกว่า เช่น แขวงจำปาสัก พื้นที่ปลูกถั่วลิสงลดลงเหลือ ประมาณ 3,000 เฮกตาร์ หรือ 18,750 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2.3 ตัน ต่อเฮกตาร์ ที่ได้ผลผลิตต่ำเพราะเกษตรกรของ สปป. ลาว ยังใช้พันธุ์ถั่วลิสงพื้นบ้านดั้งเดิม มีการปลูกแบบวิถีชาวบ้านอาศัยธรรมชาติ และไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี

ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2559 สปป. ลาว ส่งออกถั่วลิสงผ่านด่านแขวงจำปาสักมายังไทย ในรูปแบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) แล้ว ประมาณ 553.60 ตัน คิดเป็นมูลค่า 171,080 เหรียญสหรัฐ ซึ่งปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพราะเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น และหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งด้วย

สำหรับการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสินค้าถั่วลิสงเพื่อส่งออก สปป. ลาว จะเร่งพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการส่งออก โดยจะเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจขั้นตอนวิธีการผลิตถั่วลิสงให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตามเงื่อนไขการนำเข้าของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงกะเทาะเปลือกถั่วลิสงทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ เป็นจุดสำคัญที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการ การคัดแยกเมล็ด และเก็บรักษาคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ถือเป็นเรื่องท้าท้ายที่ประเทศผู้ส่งออกต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากขึ้น

ตรวจเยี่ยมแปลงปลูกของเกษตรกรลาว
ตรวจเยี่ยมแปลงปลูกของเกษตรกรลาว

ขณะนี้ สปป. ลาว อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายป้องกันพืช ซึ่งจะนำเข้าสู่วาระประชุมสภาแห่งชาติให้พิจารณารับรองในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเป็นกฎหมายพื้นฐาน ทั้งยังเร่งสร้างดำรัสว่าด้วยยาปราบศัตรูพืช ซึ่งจะควบคุมการใช้ยาปราบศัตรูพืชให้มีความปลอดภัย ไม่มีสารตกค้างในผลผลิต และเร่งเตรียมความพร้อมในการส่งออกถั่วลิสงให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของไทย โดยเร่งพัฒนาและถ่ายทอดบทเรียนที่ได้รับจาก มกอช. และกรมวิชาการเกษตร ให้กับเจ้าหน้าที่ สปป. ลาว เพิ่มขึ้น เช่น เทคนิคการตรวจสอบอะฟลาทอกซินในเมล็ดถั่วลิสงที่จะส่งออก พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรห้องปฏิบัติการให้มีความรู้ ความสามารถ และมุ่งพัฒนาห้องปฏิบัติการของสำนักงานเกษตรและป่าไม้แขวง (PAFO) จำปาสัก ให้เป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบรับรองถั่วลิสงเพื่อการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง เพื่อกวดขันไม่ให้มีปัญหาอะฟลาทอกซินปนเปื้อนสินค้าส่งออก และสร้างความมั่นใจให้กับไทย

5“เกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงใน สปป. ลาว เป็นเกษตรกรรายย่อย ปลูกแบบธรรมชาติโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปีละ 2 รอบการผลิต คือช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ใช้แรงงานในครัวเรือน ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี จึงไม่ต้องกังวลเรื่องสารพิษตกค้างในผลผลิต ในอนาคต สปป. ลาว ได้มุ่งพัฒนามาตรฐานด้านกสิกรรมโดยจะส่งเสริมในพื้นที่ที่เหมาะสม ใช้ตลาดนำการผลิต และเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร สำหรับถั่วลิสงอาจต้องยกระดับเข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยนำมาตรฐาน ASEAN GAP มาปรับใช้ แต่คงต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวและพัฒนาต่อไป เช่นเดียวกับพืชอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพและตลาดต้องการ จำเป็นต้องยกระดับการผลิตตามมาตรฐาน ASEAN GAP ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชา ข้าว มันต้น และพืชผักกินใบ” รองอธิบดีกรมปลูกฝัง สปป. ลาว กล่าว

7 8

ด้าน คุณเป สีลาวี เจ้าของโรงกะเทาะเปลือกถั่วลิสงบ้านปากท่อ เมืองเหล่างาม แขวงสาละวัน สปป. ลาว กล่าวว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตบักถั่วดินแล้ว เกษตรกรจะตากบักถั่วดิน ประมาณ 3 แดด หรือ 3 วัน ก่อนที่จะนำมาขาย โดยโรงกะเทาะเปลือกจะนำบักถั่วดินเข้าเครื่องสีได้เมล็ดถั่วดิน จากนั้นนำเมล็ดไปชั่งและดูคุณภาพโดยรวมเพื่อตีราคารับซื้อ หากคุณภาพดีจะรับซื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 8,500 กีบ หรือกว่า 30 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าคุณภาพต่ำหรือมีเมล็ดเน่าเสียมาก ก็จะตัดราคาเหลือ 8,000-8,200 กีบ ต่อกิโลกรัม ในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกชุก เกษตรกรตากบักถั่วดินไม่ดี มีความชื้นสูง เมล็ดบักถั่วดิน 1 ตัน จะมีอัตราสูญเสียมากถึง 50 กิโลกรัม แต่บักถั่วดินที่ส่งเข้าสู่โรงงานกะเทาะรอบที่ 2 คือช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะมีคุณภาพดีกว่า อัตราสูญเสียน้อย และเกษตรกรจะได้ราคาสูงกว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรเครือข่ายไม่น้อยกว่า 2,000 คน

ก่อนส่งออกจะมีการคัดแยกเมล็ดถั่วดินที่ไม่มีคุณภาพหรือเมล็ดที่เน่าเสียออก ค่าจ้างคัดแยก กิโลกรัมละ 100 กีบ ให้เหลือเฉพาะเมล็ดที่มีคุณภาพดีแล้วบรรจุถุงกระสอบส่งออกทันที ครั้งละ 30-40 ตัน จะไม่เก็บค้างไว้ในสต๊อกซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิดเชื้อราได้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการส่งออกเมล็ดบักถั่วดินผ่านด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ปีละ 2,000-3,000 ตัน แต่ปีนี้ปริมาณผลผลิตบักถั่วดินในพื้นที่แขวงสาละวันลดลง เพราะเกษตรกรแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไปปลูกมันต้นเพิ่มขึ้น จึงมีบักถั่วดินเข้าสู่โรงงานกะเทาะเปลือกน้อย คาดว่า ปริมาณส่งออกจะลดลงเหลือ ประมาณ 1,500 ตัน เท่านั้น

“แต่ในปีหน้าคาดว่า เกษตรกรจะกลับมาปลูกบักถั่วดินเพิ่มขึ้นอีก และจะมีปริมาณผลผลิตบักถั่วดินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยบังคับใช้มาตรฐานก็จำเป็นต้องพัฒนาและปรับระบบการผลิตถั่วลิสงเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้าในอนาคต” ท้าวเป สีลาวี กล่าวทิ้งท้าย