กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พลิกแผ่นดินอีสานสู่ 4.0 คลอด 5 ยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาสะสม

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เตรียมพลิกแผ่นดินอีสานสู่ 4.0 คลอด 5 ยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาสะสมเริ่มตั้งแต่บริหารจัดการน้ำ แก้จนลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในเชื่อมโครงข่ายคมนาคมกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)  พัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ สอว. แจกไก่ไม่เก๊าต์ – โดรนทางการเกษตร – เนื้อเยื่อกล้วยพันธุ์ตักศิลา 101 – น้ำเชื้อโคพันธุ์ “โคราชวากิว” สร้างอาชีพเกษตรกร

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมการดำเนิน “โครงการอีสาน 4.0 พลิกโฉมประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยมีแกนนำเครือข่ายบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แกนนำกลุ่มเกษตรกร แกนนำกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วม

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “อีสาน 4.0 พลิกโฉมประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ว่า  โครงการอีสาน 4.0 เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ภายใต้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ที่ดูแลอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่มิติใหม่ของการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัญหาและประเด็นท้าทาย อาทิ การขาดแคลนน้ำทั่วทั้งภาค มีคนจนมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร จึงไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้ ภาคเกษตรเป็นแบบดั้งเดิม พึ่งธรรมชาติ มีผลิตผลต่ำและมีการใช้สารเคมีสูง อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปเกษตรขั้นต้น มูลค่าเพิ่มต่ำ การลงทุนใหม่ๆ มีน้อย ขณะที่เศรษฐกิจของภาคมีขนาดเล็ก มีอัตราการขยายตัวต่ำ ส่วนการค้าชายแดน สินค้าส่งออกผลิตจากนอกภาคไม่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับภาค ทรัพยากรการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการพัฒนา ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ 4 มหาวิทยาลัย จึงได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไว้ 5 ด้าน คือ

  1. บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
  2. แก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  3. สร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  4. ใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ของภาค และ
  5. พัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ

Advertisement

“การพลิกโฉมอีสาน 4.0 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ 4 มหาวิทยาลัย จะดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาอาชีพและรายได้ของคนยากจน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส พัฒนาความรู้ ทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ที่ดูแลอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ จะนำโดรนทางการเกษตรไปมอบให้กับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเกษตรผู้ปลูกพริกใน อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพริกสดแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของประเทศ ไว้ใช้เป็นอุปกรณ์ในการ  พ่นยา  สารเคมี และปุ๋ยน้ำ ได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง  โดรนดังกล่าว  สามารถบรรทุกสารเคมีได้ 3 ลิตร และพ่นสารเคมีได้คราวละ 1.5 ไร่ ในเวลาประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้น แจกไก่ 3 โลว์ (LOW)  ซึ่งเป็นไก่ที่มียูริคต่ำ ไขมันต่ำ และคอเลสเตอรอลต่ำ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไก่ไม่เก๊าต์ ที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์มา จำนวน 200 ตัว มาแจกเกษตรกรเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ถ้าเกษตรกรเลี้ยงไก่ 3 โลว์ ให้ได้ 1 แสนตัว ต่อปี ไก่ดังกล่าวราคา ตัวละ 100 บาท ถ้าชุมชนใด ผลิตได้ 1 แสนตัว ต่อปี จะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร และชุมชนปีละ 10 ล้านบาท ถือเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนทำควบคู่ไปกับการปลูกพืชทางการเกษตร” ดร.สุวิทย์ กล่าวและว่า

Advertisement

นอกจากนี้ จะแจกเนื้อเยื่อกล้วยพันธุ์ตักศิลา 101 กล้วยน้ำว้าอินทรีย์ จำนวน 100 ต้น และแจกน้ำเชื้อโคพันธุ์ “โคราชวากิว” จำนวน 100 โด๊ส เป็นต้น ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการคือ ต้องการพลิกแผ่นดินอีสาน แผ่นดินที่มีตำนานเล่าขานกันมายาวนานให้เป็นแผ่นดินอีสาน 4.0 ที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม มีการสร้างเศรษฐกิจให้กระจายตัว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0