ลำไยนอกฤดู ของ วินัย หวันชัยศรี

เกษตรกรชาวสวนลำไยโดยทั่วไปมักจะปล่อยให้ผลผลิตลำไยออกตามธรรมชาติ ถ้าปีไหนมีอุณหภูมิต่ำและหนาวเย็นนาน ลำไยจะออกดอกติดผลมาก

ในขณะที่บางปีอากาศไม่หนาวเย็นพอ ลำไยจะติดผลน้อย และในช่วงที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกษตรกรก็เดือดร้อน เนื่องจากถูกกดราคา ดังนั้น การผลิตลำไยนอกฤดูจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรชาวสวนลำไยที่จะต้องให้ความสำคัญ ถึงแม้จะใช้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ได้ราคาดี คุ้มค่าต่อการลงทุน

คุณวินัย หวันชัยศรี

คุณวินัย หวันชัยศรี เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนของภาคเหนือ ปี 2553 เล่าว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีผู้ค้นพบคุณสมบัติของสารโพแทสเซียมคลอเรต สามารถชักนำการออกดอกของลำไยได้ ไม่ต้องพึ่งพาภูมิอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมและวางแผนการผลิตลำไยได้ว่าจะให้ผลผลิตออกช่วงเวลาใด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ราคาดี

แต่เกษตรกรต้องมีการศึกษาธรรมชาติของลำไยว่ามีความต้องการสารเพิ่มประสิทธิภาพ ฮอร์โมนประเภทใด มีการวางแผนขั้นตอน จังหวะและเวลาที่เหมาะสม ให้ลำไยออกดอกติดผล ทำเป็นลำไยคุณภาพ ลูกโต ผิวสวย ปลอดสารปนเปื้อน จะได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด

แนวทางการผลิตลำไยนอกฤดู

หนึ่ง…หลังจากการเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งทันที สูงไม่เกิน 6 เมตร (3 วา) และอย่าให้ปลายทรงพุ่มชนกัน พร้อมกับให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเร่งให้แตกใบ 3 ครั้ง ก่อนราดสาร

สอง…วิธีการทำลำไยนอกฤดู โดยการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต ด้วยการพ่นบนดิน การพ่นทางใบและมีการบำรุงรักษา ตั้งแต่เริ่มตัดแต่งกิ่งจนติดผลและหลังการเก็บเกี่ยว

ต้นลำไยกำลังออกช่อดอก

สาม…การจัดระบบน้ำให้พอเพียง ทำสปริงเกลอร์เป็นวิธีที่ทำให้น้ำพุ่งแรงและจัดวางท่อระบบน้ำให้ทั่วถึง

สี่…วางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

เทคนิคการทำลำไยนอกฤดู ของ

วินัย หวันชัยศรี แห่งสวนคุ้มไร่ไผ่บง

– วันที่ 1 สิงหาคม พ่นคลอรีน (Cl2) อัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร รอบๆ ทรงพุ่มลำไย เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดิน ก่อนราดสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3)

– วันที่ 4 สิงหาคม ราดสารโพแทสเซียมคลอเรต 1 กิโลกรัม ต่อต้น ผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพ 0.4 กิโลกรัม ต่อต้น น้ำ 20 ลิตร ต่อต้น และให้น้ำไปเรื่อยๆ 3-5 วัน ต่อครั้ง

ช่อดอกสมบูรณ์

– วันที่ 9 สิงหาคม พ่นทางใบ ครั้งที่ 1 โดยใช้อัตราส่วนน้ำยาเร่งลำไยให้ออกดอก 1 กิโลกรัม โพแทสเซียมไนเตรตจีฟาสต์ 1 กิโลกรัม น้ำยาจับใบและน้ำ 200 ลิตร จากนั้นให้น้ำลำไยไปตลอด 3-5 วัน อย่าให้ลำไยขาดน้ำ (ปริมาณอัตราส่วนนี้ใช้ได้ 40 ต้น หรือ 1 ไร่)

– วันที่ 14 สิงหาคม พ่นทางใบ ครั้งที่ 2 อัตราส่วนเหมือนกับ ครั้งที่ 1

– วันที่ 19 สิงหาคม เปิดตาดอก ครั้งที่ 1 โดยพ่นทางใบใช้ฮอร์โมนประเภทสาหร่าย ประกอบด้วย วิสแคล (Viscal) 200 ซีซี ซีราส (Chiraz) 200 ซีซี ฮอร์โมนตรากิ 200 ซีซี ดอกดี 500 ซีซี โพแทสเซียมไนเตรตจีฟาสต์ 1 กิโลกรัม น้ำยาจับใบและน้ำ 200 ลิตร

– วันที่ 24 สิงหาคม พ่นทางใบสูตรเปิดตาดอก ครั้งที่ 2 อัตราส่วนเหมือนกับ ครั้งที่ 1

จากเทคนิคดังกล่าว ทางสวนลำไยคุ้มไร่ไผ่บง มีเนื้อที่ 30 ไร่ 1,200 ต้น สามารถผลิตลำไยนอกฤดูที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ลูกโต ผิวสวย ราคาดี ต้นหนึ่งได้ 200-300 กิโลกรัม ผลผลิตต่อไร่ได้ประมาณ 8,000-12,000 กิโลกรัม ในแต่ละปีจำหน่ายมีรายได้ 1,800,000 บาท

คุณวินัย หวันชัยศรี เกิดเมื่อ วันที่ 29 เมษายน 2487 ปัจจุบัน อายุได้ 74 ปี บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 4 บ้านหนองสะลิง ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวนระดับเขต ประจำปี 2553 ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร

เกษตรกรที่สนใจการผลิตลำไยนอกฤดูสามารถเข้าไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้ได้ที่ สวนคุ้มไร่ไผ่บง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 671-5559, (083) 478-7499, (087) 301-7407