“ข้าวไทย ในเวทีตลาดโลก”

“ข้าวหอม” (Fragrant Rice) มีการปลูกกระจายในแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของโลก เช่น พันธุ์บาสมาติของอินเดียและปากีสถาน พันธุ์ Malagkit Sungsong และ Milagrosa ของฟิลิปปินส์ พันธุ์ Seratus Malam ของอินโดนีเซีย พันธุ์ Goolarah ของออสเตรเลีย พันธุ์ Hieri ของญี่ปุ่น พันธุ์ Della และ Dellmont ของสหรัฐอเมริกา ส่วนกัมพูชามีข้าวหอมพันธุ์ดี ชื่อ มาลีอังกอร์ (Maly Angkor) ข้าวพันธุ์สาระวัน (Saravan) ข้าวหอมนางมะลิ (Neang Malis) และข้าวหอมดอกลำดวน (Rumduon) ซึ่งคนไทยนิยมปลูกข้าวหอมดอกลำดวนกันมากในแถบจังหวัดศรีสะเกษ

สำหรับพันธุ์ข้าวหอมของไทย มีปลูกกระจัดกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งที่เป็นพันธุ์ข้าวเหนียว (กข 6 และ ดอหอม) และข้าวเจ้า (ขาวดอกมะลิ 105, กข 15, หอมนางมล, หอมอ้น, หอมดง, หอมจัน) ทั้งนี้ “ข้าวหอมมะลิ” นับเป็นพันธุ์ข้าวหอมที่สำคัญของไทยที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

แปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพดี
ข้าวหอมมะลิ 105

“ข้าวหอมมะลิ” เกรดพรีเมี่ยมราคาสูงของไทย ครองความนิยมและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทุกมุมโลก ในฐานะข้าวที่ดีที่สุดของโลก ที่มีจุดเด่นสำคัญคือ เมล็ดข้าวเรียวยาว มันวาว สวยงาม กลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายใบเตย เวลาเคี้ยวเมล็ดข้าวจะได้กลิ่นหอม รสนุ่มละมุนลิ้น อร่อยมากกว่าข้าวอื่นๆ ข้าวหอมมะลิ นำไปปลูกที่ไหนก็ไม่ดีเท่ากับปลูกในไทย

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกคือ ราคาข้าวไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง  การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความผันผวนจากค่าเงินบาทของไทย ล้วนมีผลกระทบต่อการส่งออกทั้งสิ้น นอกจากนี้ ข้าวไทยเผชิญหน้ากับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น การแข่งขันเชิงรุกของข้าวบาสมาติของอินเดีย การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมหลากหลายชนิดของสหรัฐอเมริกาเพื่อป้อนตลาดในประเทศทดแทนการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย

รวมทั้งการพัฒนาการผลิตข้าวหอมของประเทศคู่แข่งในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา ที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพใกล้เคียงข้าวหอมมะลิของไทย ที่ผ่านมา ข้าวหอมจากเวียดนามเริ่มเบียดตลาดข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดเอเชียตะวันออกและตลาดสหรัฐอเมริกา ขณะที่ข้าวหอมจากกัมพูชาสามารถทดแทนข้าวไทยในตลาดยุโรปได้มากขึ้น

เกษตรกรนำข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดูมาขายที่โรงสี

จุดอ่อนสำคัญของข้าวหอมมะลิของไทยก็คือ มีต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง แต่ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เนื่องจากแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังขาดแคลนระบบชลประทานในพื้นที่ การปลูกข้าวหอมมะลิส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาน้ำฝน ปลูกได้เพียงปีละครั้งเฉพาะฤดูนาปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายปี ถ้าปีใดประสบปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิ

ปัจจุบัน หลายประเทศได้ผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ เรียกว่า “ข้าวเจ้านุ่ม” เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวทั่วโลก เช่น กัมพูชา ได้ผลิตข้าวหอมพันธุ์ผกาลำดวน (Phka Rumduol) ข้าวพันธุ์ผกามะลิ (Phka Malis) และพันธุ์ Sen Kra Ob ส่วนเวียดนามผลิตข้าวขาว พันธุ์ ST-21 พันธุ์ OM-5451 และข้าวหอม พันธุ์ KDM สำหรับข้าวขาว พันธุ์ OM-5451 ของเวียดนาม (ราคาเฉลี่ย ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ) มีลักษณะนุ่มกว่าข้าวขาวทั่วไป แม้ข้าวพันธุ์ดังกล่าวมีเนื้อนุ่มน้อยกว่าข้าวหอมมะลิของไทย แต่สามารถขายได้ราคาสูงกว่าข้าวขาวของไทย (ราคาเฉลี่ย ตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐ)

จีน นับเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของโลก โดยนำเข้าข้าวปีละ 6-7 ล้านตัน ซึ่งยอดนำเข้า ร้อยละ 60 เป็นการซื้อข้าวขาวจากประเทศต่างๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะหลัง ไทยขายข้าวขาวในตลาดจีนได้น้อยลง เพราะถูกข้าวเจ้านุ่ม จากประเทศต่างๆ เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ ยังพบว่า ข้าวเจ้านุ่ม กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยส่วนใหญ่นิยมซื้อข้าวเจ้านุ่มของเวียดนามกันมากขึ้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทยห่วงกังวลว่า หากกระแสความนิยมข้าวเจ้านุ่มขยายตัวมากขึ้น โอกาสที่ข้าวไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดโลกก็มีสัดส่วนมากตามไปด้วย

สำหรับ ข้าวเจ้านุ่ม ของไทย ที่ผ่านการรับรองของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีปริมาณน้อย แถมเกษตรกรยังปลูกข้าวเจ้านุ่มกระจัดกระจายและได้ผลผลิตต่ำ การควบคุมคุณภาพข้าวทำได้ยาก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในเวทีโลก สมาคมผู้ส่งออกข้าวได้ร่วมมือกับกรมการข้าว คัดเลือกข้าวเจ้านุ่ม คุณภาพดี ข้าวสุกเหนียวนุ่ม รสชาติดี ให้ผลผลิตสูง เช่น พันธุ์ กข 21 พันธุ์ กข 71 พันธุ์ กข 77 และพันธุ์พิษณุโลก 80

หลังคัดเลือกพันธุ์ข้าวเจ้านุ่มคุณภาพดีได้แล้ว สมาคมผู้ส่งออกข้าวร่วมมือกับกรมการค้าภายในจัดทำโครงการพลังประชารัฐพัฒนาข้าวไทย มุ่งส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง (สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม ฯลฯ) เข้าร่วมโครงการนำร่องปลูกข้าวเจ้านุ่ม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของชาวนาที่จะผลิตข้าวเจ้านุ่มที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และเพิ่มศักยภาพการส่งออกข้าวไทยในอนาคต