สาละอินเดีย…ไม้วงศ์ยาง ในพุทธประวัติ

สาละอินเดีย (Sal)
ชื่อสามัญ…สาละอินเดีย สาละใหญ่ มหาสาละ สาละ
ชื่อวิทยาศาสตร์…Shorea robasta C.F. Gaertn.
วงศ์…Dipterocarpaceae

“ดูกรอานนท์…ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล
ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา…”

“อานนท์เอย อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้…
…ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน…”

จากมหาปรินิพพานสูตร (บางส่วน) ได้กล่าวถึงต้นสาละ หรือต้นไม้ของพระพุทธเจ้า หลายคนอาจจะคุ้นหู หรือเคยได้ยินมาบ้าง พุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ และปรินิพพานใต้ต้นสาละ แต่จะมีคนไทยสักกี่คนที่จะรู้ว่า ต้นสาละจริงๆ นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากคนที่เคยไปสังเวชนียสถาน และได้ไปเห็นต้นสาละจริงๆ

ผลอ่อน
ช่อดอก

ต้นสาละอินเดีย…หรือต้นสาละใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าShorea robusta C.F. Gaertn. อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae ในภาษาบาลี เรียกว่า “ต้นมหาสาละ” มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียทางเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเนปาล มักขึ้นเป็นกลุ่มๆ ตามบริเวณที่ค่อนข้างจะชุ่มชื้น ชาวอินเดียเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ซาล” (Sal, Sal of India) เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ยาง เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 10 เมตร และสามารถสูงได้ถึง 35 เมตร

สาละอินเดีย เป็นไม้ที่มีความสง่างาม มีลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ

ใบ ดกหนา รูปไข่ ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้น ผิวใบเป็นมันเกลี้ยง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ปลายกิ่งห้อยลู่ลง

ดอก มีสีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและง่ามใบ จะออกในช่วงต้นฤดูร้อน กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ

ผล แข็ง มีปีก 5 ปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

ใบ
ใบแก่

“…ปลายกิ่งห้อยลู่ลง…” เมื่ออ่านถึงประโยคนี้ ผู้เขียนบังเกิดเห็นภาพตอนที่พระพุทธมารดาหรือพระนางสิริมหามายา ประทับยืนชูพระหัตถ์โน้มกิ่งสาละใหญ่ และประสูติพระโอรสคือ เจ้าชายสิทธัตถะ ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน และวันนั้นตรงกับวันเพ็ญ กลางเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

ในส่วนของประโยชน์การใช้สอยนั้น เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง ชาวอินเดียจึงนิยมนำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำสะพาน และเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ส่วนเมล็ดนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และน้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาทำอาหาร เช่น ทำเนย และใช้เป็นน้ำมันตะเกียง รวมทั้งใช้ทำสบู่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรอีกด้วย คือ ยางหรือชันใช้เป็นยาสมานแผล ยาห้ามเลือด ใช้แก้โรคผิวหนัง ตุ่มพุพอง โรคซิฟิลิส โกโนเรีย วัณโรค โรคท้องร่วง บิด โรคหูอักเสบ ผลใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น

ใบอ่อน
เปลือกและชัน

จะว่าไปแล้ว สาละอินเดียเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดที่อินเดีย แต่เพราะเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ และคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา จึงมีกลุ่มคนหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ คนที่รักและปลูกต้นไม้พยายามพิสูจน์ และชี้ให้เห็นว่าต้นสาละอินเดีย และสาละที่ปลูกตามวัดทั่วไปนั้นเป็นคนละชนิดกัน

โดยเฉพาะเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้มีนักวิชาการด้านพุทธศาสนาได้เคยออกมาชี้แจงว่า ต้นสาละชนิดจริงแท้ หรือสาละอินเดียนั้น มีอยู่ที่หน้าวิหารปรินิพพานในเมืองกุสินารา ที่สวนลุมพินีในเนปาล หน้าวัดไทย ที่เมืองโครักขปูร์ก่อนถึงกุสินารา ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนไทยนิยมไปกันบ่อยๆ

นอกจากนั้น กลุ่มพุทธสาละ และชมรมรักษ์สาละ ที่ผู้เขียน และ อาจารย์คำนวณ จุฑาศรี ได้ก่อตั้งขึ้นมาบนโลก social โดยวัตถุประสงค์ของกลุ่มหรือชมรมก็เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับต้นสาละอินเดียในเชิงวิชาการ และสาระน่ารู้ เพื่อให้ชาวพุทธมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ผู้เขียนมีโอกาสได้นำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการป่าไม้แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานนั้นสถานีวิจัยวนวัฒน์งาว จังหวัดลำปาง ได้นำกล้าสาละอินเดียมาแจก ต้นกล้ามีอายุประมาณ 1-2 ปี ซึ่งเพาะด้วยเมล็ดจากต้นแม่ที่มีอายุมาก 40-50 ปี

ลำต้นที่แตกสะเก็ดเปลือกหลุดล่อน
ผลแก่

ผู้เขียนได้ต้นกล้ามาทั้งหมด 5 ต้น และนำไปอนุบาลไว้ที่บ้านนนทบุรี และเป็นจังหวะเดียวกันที่ผู้เขียนได้รู้จักกับ อาจารย์คำนวณ จุฑาศรี ผู้ซึ่งทุ่มเทงานด้านการขยายพันธุ์ และการปลูกต้นสาละอินเดีย จึงได้ทราบข้อมูลว่า ต้นสาละอินเดียต้นใหญ่ๆ ที่ปลูกในเมืองไทยนั้น มีอยู่ประมาณเกือบๆ 10 ต้น และมีในภาคใต้หลายต้น และที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นหนึ่งต้นในจำนวนนั้น ซึ่งท่านพุทธทาสได้นำต้นกล้ามาจากประเทศอินเดีย และปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2505 ผู้เขียนจึงได้เดินทางไปดูเพื่อให้เห็นเป็นบุญตา

“สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป…” เสียงนี้กึกก้องอยู่ในหัวของผู้เขียนหลังได้เห็นต้นสาละอินเดีย อายุ 54 ปี ณ ตอนนั้น สวนป่าที่อยู่ด้านหลังรูปปั้นอวเลกิเตศวรเป็นที่อยู่ของต้นสาละอินเดียต้นที่ว่านี้ ถึงแม้จะซ่อนตัวอยู่ในสวนป่า มีลำต้นเอียงคดงอเพราะต้องยืดหาแสง แต่ความสง่างามของต้นมีไม่น้อยเลย ที่สำคัญสาละอินเดียต้นนี้มีชันเกิดขึ้นมากมายตามลำต้นที่แตกเป็นสะเก็ดซึ่งหลุดล่อน และผู้เขียนได้เก็บเปลือกลำต้นที่มีชันส่วนหนึ่งไว้เพื่อนำมาศึกษาวิจัย

ต้นไม้ใหญ่คงผ่านเรื่องราวมามากมายไม่ต่างอะไรกับคน นับเป็นบุญวาสนาของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีไม้ที่ทรงคุณค่าไว้ในครอบครอง มีโอกาสได้ใกล้ชิดต้นไม้สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า นอกจากต้นที่วัดสวนโมกข์แล้วยังมีต้นสาละอินเดียอีกต้นหนึ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจไม่แพ้กัน แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ…ไม้ต้นนี้เป็นต้นสาละอินเดียที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงปลูก ผู้เขียนขอโอกาสนำมาเสนอในลำดับต่อไป…คาดหวังว่าจะมีผู้สนใจติดตามบ้างไม่มากก็น้อย

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในปีเดียวกันนั้นผู้เขียนได้สัมผัสทั้งต้นสาละอินเดีย และผลของสาละอินเดีย ซึ่งต้องขอบคุณ อาจารย์คำนวณ จุฑาศรี ที่ได้ให้ข้อมูล และเอื้อเฟื้อเมล็ดพันธุ์ซึ่งได้มาจากต้นแม่ที่อยู่สถานีวิจัยวนวัฒน์งาว จังหวัดลำปาง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นหนอนได้กัดกินต้นอ่อน (embryo) ที่อยู่ภายใน ทำให้ไม่สามารถเพาะเป็นต้นกล้าได้ทั้งหมด อาจเนื่องจากผลที่ร่วงหล่นจากต้นแม่นานเกิน 7-14 วัน จึงทำให้สูญเสียการงอกเป็นต้น

สาละอินเดียจะให้ผลหรือเมล็ดได้นั้น ต้นแม่ต้องมีอายุเกิน 15 ปี และจะติดผลทุกๆ 3 ปี ซึ่งยังไม่มีเหตุผลใดมายืนยันหรือสรุปได้ชัดเจน จึงสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะความสมบูรณ์ของต้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของไม้ป่าที่มีการสะสมอาหารให้เพียงพอเพื่อผลิตลูกหลานต่อไปในอีกฤดูกาล หรือสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นปีที่หนาวจัดหรือแล้งจัดจึงจะมีการออกดอก หรือติดผล

ต้นสาละอินเดีย ที่สวนโมกข์

ความงดงามของปีกที่สยาย และกลิ่นที่หอมกรุ่นๆ ยิ่งเพิ่มความเสน่หา และความต้องการที่จะขยายพันธุ์ให้มากยิ่งๆ ขึ้น ผู้เขียนจึงเกิดความคิดที่จะนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งเป็นงานที่ถนัดมาช่วยในการขยายพันธุ์ ซึ่งคงมีโอกาสได้นำมาเล่าให้ฟังอีกเช่นกัน

ในความคิดของผู้เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับความศรัทธาหรือความเชื่อเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ลึกล้ำ หากยังไม่ถึงเวลาก็ไม่น่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มีเหตุมีปัจจัย และขึ้นอยู่กับเวลา แต่ถ้าหากคนชาติอื่นหรือศาสนาอื่นมองเราอย่างสงสัยว่าชาวพุทธไทยเรานั้นทำไมเข้าใจผิด คิดว่าต้นที่มีดอกใหญ่ๆ ผลกลมๆ หรือ ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannon Bullet) คือต้นสาละในพุทธประวัติ ก็จะดูแปลกๆ ไปสักหน่อย สิ่งที่ไม่ยากเกินกำลังที่จะทำได้ในตอนนี้คือ…พวกเราช่วยกันสืบสานเรื่องราวของสาละอินเดียกันต่อไป ในกาลครั้งนี้ผู้เขียนขอกล่าวคำว่า “สวัสดี”

เอกสารอ้างอิง
เอกสารเผยแพร่เรื่องสาละอินเดียของกรมป่าไม้
พระไตรปิฎก เล่มที่ 10 บรรทัดที่ 1888-3915. หน้าที่ 78-159.
วศิน อินทสระ. พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน ที่มา : จากเว็บไซต์ dharma-gateway.com (วันที่ 9 ตุลาคม 2561)