กาแฟอาราบิก้า ดงมะไฟ ผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่นของโคราช

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงเป็นแบบอย่างที่ถาวรสำหรับการพัฒนาการในด้านต่างๆ ในประเทศของเรา โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย พระองค์ทรงมีแนวคิดที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ของเกษตรกรไทยอย่างพอมีพอกิน ทำให้พสกนิกรน้อมนำพระราชกรณียกิจมาใช้เป็นแบบอย่างในการทำงานเสมอมา

วิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ แบบประชาอาสา ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน และประพฤติปฏิบัติจริง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคนในบ้านดงมะไฟและประเทศชาติเป็นหลัก ดังเช่น การทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ซึ่งหมู่บ้านดงมะไฟเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ทำให้ไม่มีสิ่งมีพิษปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ

การสร้างอาชีพให้เกษตรกรแบบยั่งยืน เนื่องจากมีการดำเนินการเกษตรแบบครบวงจร โดยเป็นแหล่งปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ ในแหล่งเดียวกัน (Roasted at the source) สามารถนำผลผลิตของเกษตรกรถึงมือผู้บริโภคโดยตรง และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงรูปแบบการทำโครงการแบบประชาอาสาแบบไม่ใส่ใจงบประมาณของรัฐอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของกาแฟดงมะไฟ

แรกเริ่มเดิมที ในปี พ.ศ. 2545 คุณนพดล ม่วงแก้ว มีความคิดว่าพื้นที่ในหมู่บ้านดงมะไฟ ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา น่าจะปลูกพืชสวนมากกว่าพืชไร่ เพราะจะทำให้สภาพพื้นที่มีความชุ่มชื้นตามสภาพเดิมของแหล่งต้นน้ำลำธาร ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้ จึงพยายามเสาะหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้

คุณนพดล ม่วงแก้ว

“ผมได้ต้นกาแฟจากศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากทางเชียงใหม่มาอีกที ผมได้รับต้นพันธุ์กาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ F-7 มา 300 ต้น ตอนนั้นไม่มั่นใจเลยว่าปลูกที่นี่แล้วจะขึ้น แต่ก็ได้ทดลองปลูก โดยให้คนงานปลูกตามแต่ใจเขา ว่าจะปลูกที่ไหน ใกล้น้ำก็มี บนที่ดอนก็มี ไม่ค่อยได้เอาใจใส่ดูแล พ้นไปประมาณครึ่งปี เดินเข้าสวนเห็นต้นอะไรก็ไม่รู้งามมาก ถามคนงาน ก็ได้รับคำตอบว่า นี่ต้นกาแฟที่ให้เอามาปลูกจำไม่ได้หรือ ผมดีใจมาก จึงเริ่มดูแลเอาใจใส่มันด้วยการใส่ปุ๋ยให้บ้าง ดูแลโคนต้นให้เตียน พอเข้าปลายฤดูฝนที่ 2 กาแฟก็เริ่มออกดอก หลังจากนั้น ดอกก็ร่วง มองไม่เห็นร่องรอยบนต้นเลยว่าจะเป็นผล ใจเริ่มเสีย เข้าใจว่าผลมันคงร่วงไปด้วย ผ่านไปประมาณ 5 เดือน จึงเห็นเมล็ดกาแฟเริ่มขยายผลออกมา นับว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับผม เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ไม่มีน้ำ ผลกาแฟน่าจะถูกสลัดทิ้งไป แต่เรื่องแบบนี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการติดผลของเมล็ดกาแฟ นี่ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ผมเลือกต้นกาแฟเป็นหลักในการปลูกเป็นไม้สวน เนื่องจากในการทำสวนกาแฟใช้น้ำค่อนข้างน้อย” คุณนพดล เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกกาแฟ

สินค้ากาแฟของวิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ

ปลูกกาแฟและมะคาเดเมียนัท
แบบเกื้อกูลกัน

การปลูกกาแฟ พื้นที่ปลูกควรจะเป็นที่ร่มรำไร การปลูกกาแฟในช่วงแรกของที่นี่เสียหายบ้างบางต้นที่ปลูกในที่โล่งแจ้งกลางแดดโดยไม่มีร่มเงา คุณนพดล เลยต้องคิดต่อว่าจะเอาต้นอะไรมาเป็นร่มให้ต้นกาแฟ ก็เลยนำเอาต้นมะคาเดเมียนัทมาปลูก การปลูกมะคาเดเมียนัทเป็นพืชเดี่ยว ใช้ระยะการปลูก 6×6 เมตร แต่ถ้าปลูกในไร่กาแฟต้องปลูกระยะห่าง 8×8 เมตร ในรัศมีของพุ่มมะคาเดเมียนัท ทุกๆ 2 เมตร จะปลูกกาแฟทั้งสี่ด้าน เท่ากับว่าไม่มีช่องว่างเลย

ใน 2 ปีแรกต้นกาแฟจะสูงกว่าต้นมะคาเดเมียนัท พอปลูกได้ปีที่ 3 ต้นจะมีขนาดความสูงเท่าๆ กัน ต่อมาในปีที่ 4 มะคาเดเมียนัทจะเริ่มสูงกว่าต้นกาแฟ และจะเริ่มสอนให้ผลคือ มีผลผลิตออกมาบ้าง พอปีที่ 5 มะคาเดเมียนัทก็จะเริ่มให้ร่มเงาได้บ้าง ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทั้งกาแฟและมะคาเดเมียนัทเป็นพืชที่ค่อนข้างทนแล้ง แต่ในปีแรกๆ ควรจะดูแลมากหน่อย เช่น รดน้ำในฤดูแล้งสัปดาห์ละครั้ง ใส่ปุ๋ยบ้าง ทำโคนให้เตียน

เมื่อผ่านเวลา 2 ปีไปแล้ว โอกาสต้นที่จะตายมีน้อย สรุปในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกกาแฟได้ จำนวน 375 ต้น และต้นมะคาเดเมียนัทได้ 25 ต้น รวมกันเป็น 400 ต้น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการปลูกสำหรับพื้นที่โล่งแจ้ง ส่วนพื้นที่มีต้นใหญ่อื่นที่เป็นร่มเงาขึ้นอยู่ ก็ให้ปลูกมะคาเดเมียนัทกับกาแฟลงในพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยเอาระยะที่ให้นี้เป็นเกณฑ์ ไม่จำเป็นต้องโค่นต้นไม้ใหญ่ทิ้ง

ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ มีต้นไม้ 2 ระดับ ระดับสูงคือ มะคาเดเมียนัท ส่วนระดับล่างจะเป็นกาแฟ ต้นกาแฟที่ปลูกจะต้องจัดแต่งกิ่งไม้ให้สูงเกิน 2 เมตร เพราะจะทำให้การเก็บเกี่ยวและดูแลรักษายาก

คุณนพดล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การปลูกกาแฟขุดหลุม 30 เซนติเมตร ทั้งกว้าง ยาว ลึก ส่วนมะคาเดเมียนัทขุดหลุม 50 เซนติเมตร ทั้งกว้าง ยาว ลึก เมื่อปลูกแล้วก็ปักไม้เพื่อป้องกันลมโยก และไม่ควรไปรบกวนโคนของต้นในรัศมีพุ่มใบ โคนใบควรคลุมด้วยเศษวัชพืช ฟาง หญ้าที่แห้งแล้ว รัศมีนอกจากนี้จะฉีดยาฆ่าหญ้าก็ได้ในปีแรกๆ

มะคาเดเมียนัทออกผลเป็นพวง

ต่อมาเมื่อต้นกาแฟและมะคาเดเมียนัทโตขึ้นปัญหาจะค่อยๆ หมดไป ของที่นี่ใช้ต้นกระดุมทองมาปลูกเป็นพืชคลุมดิน ซึ่งได้ทั้งความสวยงาม กันต้นหญ้าไม่ให้ขึ้น และเป็นแนวกันไฟ เนื่องจากในหน้าแล้งต้นกระดุมทองยังเขียวอยู่ นอกจากนี้ ต้นกระดุมทอง ยังไม่มีศัตรูพืชด้วย จึงไม่ต้องดูแลรักษาอะไรเลย ความกังวลเกี่ยวกับหนอนในกอหญ้าก็จะไม่มี

การปลูกพืชสวนในป่าดงมะไฟนี้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จะทำให้ความชุ่มชื้นของผืนป่าในอดีตกลับมาสู่ชุมชนในบริเวณนี้อีกครั้ง และการทำพืชสวนแบบนี้เป็นการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่ใช้สารเคมี ยาปราบศัตรูพืช เหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่อยู่บริเวณต้นน้ำลำธาร เนื่องจากไม่มีสารพิษปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ และผลิตผลที่ได้คือ เมล็ดกาแฟ และเมล็ดมะคาเดเมียนัท เป็นพืชที่มีราคาสูงเมื่อเทียบต่อไร่กับผลผลิตทางการเกษตรอย่างอื่น

คุณนพดล จึงขนานนามหมู่บ้านดงมะไฟว่า เป็นแหล่งเพชรดำและทองคำขาว (Land of Black Diamond and white Gold) ซึ่งหมายถึงแหล่งที่ปลูกกาแฟอาราบิก้า และมะคาเดเมียนัทนั่นเอง

การให้ปุ๋ย ก็จะให้ช่วงก่อนการออกดอก ช่วงต้นฝนและให้หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วอีกครั้ง ปุ๋ยที่ให้จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด และมีการนำเอาเนื้อของเมล็ดกาแฟมาหมักเป็นน้ำชีวภาพ ซึ่งเอาไว้ใช้ผสมน้ำรดในหน้าแล้งเท่านั้น รากของกาแฟเป็นรากฝอยจะขึ้นมาที่หน้าดินเพื่อหาอาหาร ถ้าไม่มีอะไรคลุมไว้ รากฝอยก็จะไม่ขึ้นมา แต่ถ้าเราคลุมไว้มีความชื้นอยู่โคนต้นรากฝอยจะขึ้นมามากเพื่อหาอาหาร เพราะฉะนั้นจะถากโคนก็ไม่ได้ เปิดหญ้าที่คลุมออกก็ไม่ได้ ต้นจะแห้ง คนไม่เข้าใจไปถากโคนเสียเตียน รากแก้วมีไว้พยุงลำต้น แต่รากฝอยมีหน้าที่หาอาหาร

การเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟของวิสาหกิจดงมะไฟ จะเก็บเฉพาะเมล็ดแดงเท่านั้น โดยการใช้แรงงานในครัวเรือน หรือจ้างเด็กนักเรียนมาเก็บในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักภาระหน้าที่ และวิสาหกิจชุมชนไม่ได้รับซื้อกาแฟเมล็ดแดง แต่จะมีเครื่องสีกาแฟไว้ให้สมาชิกใช้สี โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เมื่อสีเมล็ดกาแฟแล้วจะนำเปลือกไปหรือไม่ก็ได้

แต่เมล็ดกาแฟที่ได้สมาชิกจะนำกลับไปตากแดด ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้น จะขายให้วิสาหกิจชุมชนหรือรวบรวมไว้ให้มีจำนวนมากจึงจะนำมาขายให้ก็ได้ โดยวิสาหกิจชุมชนรับซื้อในราคาประกัน

เมล็ดกาแฟใส่ถุงไว้ที่บ้านเหมือนกับเป็นธนาคาร ที่เมื่อไรจะเปลี่ยนเป็นเงินสดก็เอามาเปลี่ยนได้ในทันที ไม่ต้องเร่งขายเหมือนกับผลผลิตอย่างอื่น กาแฟของวิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ ปลูกที่นี่ แปรรูปที่นี่ ใช้ชื่อของที่นี่ เพราะฉะนั้นจะไปขายที่ไหน ทุกคนก็รู้จักในนามกาแฟดงมะไฟ คนของบ้านดงมะไฟก็ภูมิใจที่ผลิตภัณฑ์ของตัวเองถึงผู้บริโภคเองโดยตรง

วิธีชงกาแฟแบบทรีอินวัน

วิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ จะรับซื้อเมล็ดกาแฟที่ตากแห้งแล้วนำมาคั่วและบดด้วยกรรมวิธีของตัวเอง เป็นผลิตภัณฑ์กาแฟสดสำหรับชงดื่มได้เลย โดยมีถ้วยสำหรับชงอยู่พร้อมในกล่อง วิธีการชงคือ นำถ้วยชงมาวางไว้บนถ้วยกาแฟ ซึ่งในถ้วยกาแฟนั้นจะใส่นมหรือน้ำตาลไว้ แล้วใส่กาแฟผง 2-3 ช้อนชา ลงในถ้วยชงเกลี่ยให้เสมอ นำฝาปิดชิ้นเล็กกว่าถ้วยปิดใส่ในถ้วยชงกดขยับเบาๆ เพื่อให้ผงกาแฟเสมอในระดับเดียวกัน แล้วรินน้ำร้อน จำนวน 1 ใน 4 ของถ้วย ใส่ลงในถ้วยกาแฟ

โดยวนให้น้ำสัมผัสกาแฟให้ทั่วเป็นรูปวงกลม รอประมาณ 10 วินาที จึงค่อยรินน้ำร้อนที่เหลือลงไป แล้วนำฝาถ้วยชงปิดที่มีขนาดใหญ่กว่าถ้วยชงปิดด้านบนของถ้วยชง เพื่อรักษากลิ่น ทิ้งไว้ประมาณไม่เกิน 1 นาที เราก็จะได้กาแฟที่มีรสชาติหอมกรุ่นเสิร์ฟบนโต๊ะทำงานแบบง่ายๆ ไว้ดื่ม เมื่อเปิดฝาถ้วยชงออก ก็จะต้องหงายฝาขึ้นเพื่อเป็นจานรองถ้วยชงไม่ให้สัมผัสกับโต๊ะ และเมื่อดื่มกาแฟหมดถ้วย ยังไม่ต้องทิ้งกากกาแฟ เพราะเราสามารถทำซ้ำเพื่อดื่มกาแฟดงมะไฟได้อีกครั้ง แต่รสชาติจะเจือจางไปนิด และสามารถทำซ้ำในครั้งที่สามก็กลายเป็นชาอ่อนของกาแฟสำหรับดื่มได้อีก นับว่าราคาไม่แพงเลย สำหรับกาแฟทรีอินวันของกาแฟดงมะไฟ

งานรับขวัญแม่กาแฟ

ช่วงเดือนพฤศจิกายน ชาววิสาหกิจชุมชนบ้านดงมะไฟ นิยมจัดงานรับขวัญแม่กาแฟ เพื่อสืบทอดพิธีรับขวัญแม่กาแฟของบ้านดงมะไฟ นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก และแสดงความสำนึกที่ดีที่มีต่อต้นกาแฟรวมถึงแสดงการรู้คุณ จึงจัดพิธีขึ้นเพื่อทดแทนพระคุณ เหมือนชาวนาที่รู้จักพระคุณของแม่โพสพ

วิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ

ปัจจุบันนี้ กาแฟอาราบิก้าดงมะไฟ ซึ่งเป็นกาแฟปลอดสารพิษ (organic) ที่เป็นความภาคภูมิใจของชุมชนท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถแวะชมกิจการกาแฟและมะคาเดเมียนัท ของวิสาหกิจชุมชนกาแฟอาราบิก้าและมะคาเดเมียนัท แบบประชาอาสา บ้านดงมะไฟได้ทุกวัน เบอร์โทรศัพท์ของ คุณนพดล ม่วงแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนดงมะไฟ โทร. (082) 342-1122

ขอขอบคุณภาพประกอบข่าว จาก เฟซบุ๊ก Dongmafai Coffee