สกว.จับมือจีนคิดค้นยาใหม่จากสารธรรมชาติ มหิดลเร่งศึกษายารักษาท้องร่วงจากเชื้อรา

ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (NSFC) และมหาวิทยาลัยนานจิง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 7th China-Thailand Bilateral Workshop on Natural Products and Drug Discovery” ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติมหาวิทยาลัยนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนการวิจัยและพัฒนายาใหม่จากสารในธรรมชาติระหว่างนักวิจัยชั้นนำของทั้งสองประเทศ

ศ. ดร.เซี่ยวกวง เล่ย จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษถึงการวิจัยแนวใหม่เพื่อการคิดค้นยา โดยเริ่มต้นจากการศึกษาผลของสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มไขมัน เนื่องจากมีความสอดคล้องกับสรีรวิทยาและการเกิดโรคในมนุษย์ ซึ่งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีทางเคมีชีวภาพในการคิดค้นวิธีการรักษาโรคที่มีความเกี่ยวข้องจากความผิดปกติของกรดน้ำดี ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไขมันที่ร่างกายสร้างมาจาก     คอเลสเตอรอล ผลการวิจัยบ่งชี้ว่ากรดน้ำดีสามารถจับกับโปรตีนหลายตัวที่มีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และอาจมีบทบาทในการเกิดโรคไขมันพอกตับและโรคสมองเสื่อม ในอนาคตอาจดัดแปลงโครงสร้างของกรดน้ำดีหรือสังเคราะห์สารใหม่เพื่อพัฒนาเป็นยารักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกรดน้ำดีในร่างกาย

ด้าน รศ.ดร.นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท วุฒิเมธีวิจัย สกว. จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเชื้อราในธรรมชาติที่เป็นแหล่งสารเคมีสำคัญในการคิดค้นยาใหม่ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ศึกษาฤทธิ์ของสารเหล่านี้ในเชิงลึกเพื่อการใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างเพียงพอ จึงทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยเคมีทางผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อแยกและวิเคราะห์โครงสร้างของสารเคมีจากเชื้อราที่พบในประเทศไทย รวมถึงศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในระดับโมเลกุลและศักยภาพในการรักษาโรคในสัตว์ทดลอง จนค้นพบสารเคมีหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งการคัดหลั่งของคลอไรด์ไอออนในเซลล์ลำไส้มนุษย์ สารบางตัวออกฤทธิ์โดยจับกับโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ไอออนในเซลล์ลำไส้โดยตรงและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขต่อไป

ศ.ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. เผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ      ดังกล่าวมีความร่วมมืออย่างยาวนานนับแต่ปี 2008 ซึ่งมีงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าตามมาเป็นลำดับขั้น อาทิ การค้นพบสารประกอบหลักที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น สำหรับการประชุมครั้งนี้มีทีมนักวิจัยอาวุโสและนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยและจีนร่วมนำเสนอแลกเปลี่ยนความรู้มากกว่า 60 คน ในหัวข้อต่างๆ มากกว่า 40 เรื่อง โดยในครั้งต่อไป สกว.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 8 ในปี 2563