ยุคนี้ ใครอยู่ดีกินดี

ผมจับคำพูด “บิ๊กตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ออกมาระบุว่า “คนที่ออกมาพูดว่าเรามีคนจนมากขึ้นทุกปีนั้นโกหกทั้งสิ้น ยืนยันว่าคนจนไม่ได้มากขึ้น”
หากรัฐบาลหลงใหลกับตัวเลข จีดีพี พยายามปั้น สร้างผลงานตัวเลขเหล่านี้ ก็น่าชื่นใจเมื่อเห็นตัวเลขผลประกอบการกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 3 ปีนี้พุ่งไประดับ 2 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 10% เช่นเดียวกับตัวเลขธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 53,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.15%

คนที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ คนระดับบน เจ้าของกิจการ เจ้าสัว ที่กอบโกยผลกำไรจากกิจการที่ตนเองถือครองหุ้นอยู่

และคงไม่ต่างกับยุคสมัย คสช. ปกครองโดยระบบราชการ ซึ่งมักรักษาผลประโยชน์กลุ่มตน คสช. ยึดถือการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงเข้ามาบริหารประเทศจึงมีกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการไปแล้วอย่างน้อย 12 ฉบับ ล่าสุด เกิดผลกระทบงบประมาณครั้งใหญ่ เพราะในปี 2562 วงเงินงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1,060,869 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อวงเงินงบประมาณถึงร้อยละ 35.4

เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณในปีแรก 57 ของ คสช. กับปีล่าสุด มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 454,001 ล้านบาท สัดส่วนงบประมาณก็เพิ่มขึ้นจากเดิมแค่ 1 ใน 4 แต่ตอนนี้พุ่งไปที่ 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมดของประเทศแล้ว

จึงนำไปสู่คำถามถึงความเหมาะสมเนื่องจากเงินเดือนข้าราชการถูกปรับสูงขึ้น ในขณะที่ข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงาน คนเหล่านี้ด้อยทั้งเกียรติและรายได้ กลับไม่ได้รับความสนใจ กว่าจะขึ้นได้แต่ละบาทแต่ละสตางค์มักมีข้อแม้ มีข้อท้วงติงต่างๆ มากมาย

ไม่ต่างกับคนในระดับรากหญ้าหรือเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ก็ได้รับผลกระทบต่อการบริหารของรัฐบาลชุดนี้

ชาวสวนปาล์มน้ำมันออกมาเรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือราคาปาล์มตกต่ำ เหลือแค่กิโลกรัมละ 3.10-3.50 บาท ลานรับซื้อบางแห่งให้ราคากิโลกรัมละ 2 บาทเศษ เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวสวนยางใต้และอีสานต้องหวานอมขมกลืน ออกมาเคลื่อนไหวเพราะน้ำตาตกกับราคายางร่วงลงมาถึงจุดต่ำสุด 3 กิโล 100 บาท

ชาวสวนมะพร้าว ประสบปัญหาราคาเหลือลูกละ 4-5 บาท จากเดิมราคาลูกละกว่า 20 บาท ด้านราคาไข่ไก่ตกต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ไม่เว้นผู้ประกอบการประมง “มงคล สุขเจริญคณา” นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ต้องนัดประชุมตัวแทนสมาคมประมงเพื่อเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำที่กำลังตกต่ำ

ขณะที่รัฐบาลออกมาป่าวประกาศ ข้าวหอมมะลิราคาพุ่งตันละ 15,000-17,000 บาท แต่กลับมีเสียงท้วงติงจาก “สุเทพ คงมาก” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย บอกว่า ราคาข้าวหอมมะลิที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดจากกลไกทางการตลาดปกติ แต่เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อย เพราะช่วงต้นฤดูการผลิตประสบภาวะภัยแล้ง ปลายฤดูการผลิตเกิดภาวะฝนตกหนัก ทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิในปีนี้น้อยลงกว่าปกติ พ่อค้าข้าวและโรงสีต่างแย่งกันรับซื้อข้าวอย่างคึกคัก

ตกลงแล้วราคาข้าวไม่ใช่ฝีมือบริหารจัดการของรัฐบาล แต่เป็นเพราะกลไกตลาด ในขณะที่ราคาข้าวนาปรังตอนนี้ราคาตกถูกกดเหลือเพียง ตันละ 6,000-6,200 บาท จึงเรียกร้องรัฐบาลมาช่วยพยุงบ้าง
วันนี้รัฐบาลลองหันไปฟังคำพูดภาคเอกชน อย่ามัวไปสนใจสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่กำลังขับเคี่ยวคัดง้างตัวเลขกับธนาคารแห่งประเทศไทยปมเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ฟื้น

เสียงจาก อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เป็นห่วงกำลังซื้อที่ยังตกต่ำของฐานรากในภูมิภาคถือเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต โดยราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกดดันการบริโภคให้ฟื้นตัวช้า ราคาปาล์มและยางยังไม่ฟื้นตัว

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ระบุว่า กำลังซื้อกลุ่มกลาง-บน ยังดี แต่กลุ่มฐานรากและรายได้จากภาคเกษตรได้รับผลกระทบ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร เช่น ยาง ปาล์ม มันสำปะหลัง ยังชะลอตัวอยู่ เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องแต่ยังไม่ถึงฐานราก

อย่ามัวมานั่งโต้คารมว่ามีคนจนมากขึ้นทุกปีหรือไม่ เอาแค่คนจนทุกวันนี้รัฐบาลเอาตัวเลขมาโชว์ว่าแก้ให้หายจนได้ซักกี่คนกัน ถ้าคิดว่าคนในประเทศนี้ได้อานิสงส์จากการบริหารอยู่ดีกินดีมีสุขก็รีบๆ ปล่อยมือจากอำนาจ ให้ประชาชนได้กำหนดอนาคตตัวเองเถอะ…

 

ที่มา : มติชนออนไลน์