“หัวร้อยรู” สมุนไพรป่าชายเลน ของดีป่าบ้านทุ่งตะเซะเมืองตรัง

ป่าบ้านทุ่งตะเซะ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง มีเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ มีสภาพเป็นป่าชายเลน เชื่อมระหว่างทะเลอันดามัน กับป่าบกที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต พันธุ์ป่าชายเลน ไม่ว่า จะเป็นโกงกางใบเล็ก แสมดำ ปรง ปอทะเล หยีทะเล แม้กระเช้าผีมด หรือ ต้นหัวร้อยรู เป็นต้น ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ในเรื่องการดูแลสุขภาพโดยอาศัยสมุนไพรในพื้นที่ในการรักษา

และกว่าจะผ่านความเป็นป่าที่สมบูรณ์มาได้นั้น ได้ผ่านเรื่องราวการต่อสู้มาแสนสาหัส เนื่องจากป่าถูกทำลายจากสัมปทาน

ระหว่างปี 2536-2538 ผู้ใหญ่น้อม ฮั้นเย็ก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ริเริ่มระดมความคิด ปลุกจิตวิญญาณของคนในชุมชน ให้เห็นคุณค่าของป่าชายเลน เนื่องจากถูกทำลายไปมาก สร้างผลกระทบต่อชุมชน รณรงค์ทุกวิถีทางเพื่อที่จะชุมชนเกิดความรู้สึกห่วงแหน ป่าชายแห่งนี้ หลายต่อหลายครั้ง ที่ร่วมกับชุมชน ร่วมกันปลูกป่าชายเลนรอบๆหมู่บ้าน พร้อมเสนอความต้องการจัดการพื้นที่ป่าใช้สอยของชุมชน

กระทั่งสามารถตั้งศูนย์แห่งการเรียนรู้ป่าชายเลนชุมชนทุ่งตะเซะ จนกลายเป็นห้องเรียน ขนาดใหญ่

ทุกวันนี้ผู้ใหญ่น้อม ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์แห่งป่าชายเลนชุมชนทุ่งตะเซะ เป็นวิทยากรถ่ายให้กับผู้ที่สนใจ ในเรื่องป่าชายเลน เพราะผู้ใหญ่น้อม ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ปลูกและผู้ดูแลต้นไม้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ มากกว่า 20 ปี

สมุนไพรในชุมชน

กระเช้าผีมด หรือ ต้นหัวร้อยรู เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ขึ้นอยู่ในป่าชายเลน ที่อาศัยต้นไม้ใหญ่อื่น ในป่าชายเลน ผู้ใหญ่น้อม นำเพาะปลูก เพื่อการค้า สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเผยแพร่การขยายพันธุ์ ให้ชุมชนได้เรียนรู้

“เริ่มเพาะพันธุ์มาประมาณ 2-3 ปีมานี้เอง ตอนนี้มีประมาณ 150 ต้น ราคาซื้อขายกันประมาณ กิโลกรัมละ 500 บาทถือว่าราคาดี มีพ่อค้าหลายรายต้องการสมุนไพรชนิดนี้ ”

การเพาะปลูกต้นหัวร้อยรู

1.ต้นพันธุ์หัวร้อยรู

2.เปลือกมะพร้าวแห้ง

3.เชือกฟาง

4.มีด

5.ถังน้ำ

ขั้นตอนการเพาะพันธุ์

1.นำน้ำมาใส่ถังประมาณ 2/4 ส่วน

2.นำมีดมาตัดเปลือกมะพร้าวพอประมาณเท่ากับหัวร้อยรู

3.นำเปลือกมะพร้าวที่ตัดแล้วมาแช่น้ำในถังพอหมาดๆ

4.นำเปลือกมะพร้าวที่แช่น้ำแล้วขึ้นมาจากถัง แล้วนำหัวร้อยรูมาทาบกับเปลือกมะพร้าว

5.นำเชือกที่ตัดแล้วมามัดหัวร้อยรูกับเปลือกมะพร้าว

6.ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้รากของหัวร้อยรูงอกขึ้นมากเกาะกับเปลือกมะพร้าว

7.จากนั้นเมื่อเสร็จแล้ว ก็นำหัวร้อยรูที่เตรียมไว้จากขั้นตอน 1-6 ไปมัดผูกไว้กับต้นไม้ในป่าชายเลน หรือต้นไม้ใหญ่เพื่อที่จะได้หัวร้อยรูแพร่พันธุ์ต่อไป

ประโยชน์อีกประการของการอยู่ใกล้ป่าชายเลน คือ สภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ ทำให้แต่ละวันมีน้ำขึ้น-น้ำลง เป็นปัจจัยสำคัญทางระบบนิเวศที่ทำเกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนสิ่งมีชีวิตและสารอาหารที่มีอยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดระยะเวลาในการเข้าป่าเพื่อหาอาหารของชาวบ้าน โดยชาวบ้านจะเข้าป่าช่วงน้ำลง ในแต่ละวันจะเป็นช่วงเวลาแตกต่างกันไปสั้นบ้างยาวบ้าง ทำให้อาหารที่หาได้จากป่าต่อครั้งมีพอกินในครอบครัว น้ำขึ้น-น้ำลง เป็นวิธีธรรมชาติสร้างขึ้น เพื่อกำหนดการใช้ทรัพยากรจากป่าที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการดูแลสิ่งมีชีวิตในป่าแห่งนี้

หากไม่มีน้ำขึ้น มีแต่น้ำลงอย่างเดียว ความอุมสมบูรณ์ในป่าคนหมดเร็วขึ้น คนจะเข้าป่าไปหาอาหารกันได้ตลอดเวลา ไม่มีเวลาให้สัตว์น้ำและพืชได้ฟื้นฟู

“ตราบใดที่ป่าอยู่ คนยัง เพราะคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้”