แพ พาหนะชาวบ้าน

วิถีชีวิตชาวไทยผูกพันอยู่กับสายน้ำ

เราชาวบ้านเก่าก่อน ต้องอาศัยน้ำเป็นเส้นทางไปมาหาสู่กัน ไม่ว่าจะไปไหนใกล้ ไกล ต้องศัยเรือ แพ บางบ้านก็ใช้อีโปง อยากจะไปไหนก็พายหรือไม่ก็ท่อกันไป

อีโปง บางถิ่นเรียกอีโพง หรือ โพง การเรียกขานมีเพี้ยน ๆ กันไปบ้าง แต่หมายถึงพาหนะสิ่งเดียวกันคือ พาหนะคล้ายเรือ ชาวบ้านนำเอาต้นตาลมาขุด เจาะ เป็นโพรงด้านใน แล้วอุดด้านปลายไม่ให้น้ำเข้า จัดการเสี้ยนต่าง ๆ ให้ราบเรียบ แล้วนำมาใช้ถ่อหรือพาย ใช้ประโยชน์ตามใจต้องการ

การเดินทางของชาวบ้าน จะเลือกพาหนะอย่างไหน ขึ้นอยู่กับระยะทางและคนที่เดินทางแต่ละคน ว่ามีอะไรอยู่ในบ้าน

โดยทั่วไปแล้ว การเดินทางไกล มักใช้เรือและแพ ส่วนอีโปงหรือโพงนั้น เรามักถ่อไปไหนมาไหนใกล้ ๆ

แพ เราชาวบ้านต่อกันมาใช้เอง

ขนาดใหญ่ เล็ก ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ว่า ต้องการแพไปทำอะไร ถ้าเป็นแพสำหรับล่องแม่น้ำเพื่อเดินทางไกล มักต่อเป็นแพขนาดใหญ่ พร้อมสร้างที่พักบนแพนั้น กิจวัตรประจำวันไม่ว่าจะกิน อยู่ หลับนอนอยู่ในแพ รอนแรมกันไปเป็นเดือน ๆ เมื่อเสบียงหมดก็แวะข้างทาง เพื่อหาเสบียงเดินทางต่อไป

“บ้านพี่เป็นเรือนแพ สาวน้อยก็ไม่แล สาวแก่ก็ไม่มอง”

เนื้อเพลงท่อนนี้ นักร้องต้นเสียงดูเหมือนจะเป็น กาเหว่า เสียงทอง เนื้อเพลงบอกถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่สาว ๆ ไม่ว่าจะวัยไหนก็ไม่สนใจ  นัยหนึ่งของคนเรือนแพที่เพลงไม่ได้บอกไว้คือ ชาวบ้านมองว่า คนที่อยู่เรือนแพนั้นเป็นคน “หลักลอย” พร้อมที่จะร่อนเร่ไปไหนก็ได้

ลอยมาลอยไปไร้หลักยึดเกาะ

สำนวนที่เกิดจากแพ นอกจาก “หลักลอยแล้ว” ยังมี “ลอยแพ”  ซึ่งหมายถึงหลอก ล่อลวงเอาไปปล่อยทิ้ง หรือปล่อยทิ้งโดยไม่มีการรับผิดชอบ อย่างที่เป็นข่าวดัง ๆ  น้ำท่วมหนัก บริษัทลอยแพลูกจ้างนับพัน เป็นต้น

ด้วยหนุ่มเรือนแพเป็นเหมือนคนหลักลอย  ทำให้พ่อ แม่ของสาว ๆ ไม่อยากลูกสาวเข้ามาข้องเกี่ยว เพราะไม่รู้ว่า ไอ้หนุ่มเรือนแพจะทิ้งลูกสาวของตนไปเมื่อไร หรือถ้าได้ไปก็อาจจะทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่รับผิดชอบ ความคิดนี้เป็นความคิดของคนเก่าก่อน ส่วนเดี๋ยวนี้จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยนักวิจัยฝีมือดีออกสำรวจกันใหม่

แพที่อาศัยของชาวบ้านเป็นแพขนาดใหญ่

แต่แพที่ชาวบ้านต่อใช้กันเอง เพื่อเดินทางไปมาใกล้ ๆ เป็นแพขนาดเล็ก การทำแพชาวบ้านจะนำเอาไม้ไผ่มาผูกเข้าด้วยกัน ให้เป็นแนวระนาบ ประมาณ 10 ถึง 15  ลำ ผูกทั้งหัว ท้าย และกลางลำ  การผูกแพ ถ้าเพิ่มแนวผูกมากเพียงใด ก็เท่ากับเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้แพมากขึ้นเท่านั้น

สมัยเก่าก่อน ชาวบ้านมีไผ่เป็นแนวรั้วบ้าน เมื่อต้องการแพใช้ก็ตัดไผ่มาต่อ แต่เดี๋ยวนี้สภาพนั้นหาดูได้ยากแล้ว เมื่อต้องการต่อแพก็ต้องหาซื้อไผ่มาตัดเป็นท่อน ๆ ราคาไผ่ลำหนึ่งก็หลายบาททีเดียว และคนที่ผูกแพได้อย่างมีประสิทธิภาพคงหายาก

ประการสำคัญ เราชาวบ้านดูเหมือนจะหนีจากวิถีชีวิตชาวบ้านไปทุกที แม้น้ำจะพยายามมาเตือนให้รู้ความเป็นมาแต่ดั้งเดิม ด้วยการท่วมให้เป็นเป็นระยะ ๆ อย่าง น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2538 และ สาหัสสากรรจ์ เมื่อปี พ.ศ.2554 ก็ตาม

เรากำลังมุ่งไปข้างหน้า บางขณะอดคิดไม่ได้ว่า  ยิ่งก้าวก็เหมือนเรายิ่งหนีรากเหง้าของตนเอง