ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
หลายครั้งที่มีโอกาสไปเดินตลาดนัดสวนจตุจักร ยังคงพบบ่อยครั้งว่ามีการลักลอบนำสัตว์ป่าคุ้มครองมาจำหน่ายอย่างเปิดเผย แม้จะมีข่าวการกวาดจับผู้ค้าที่ลักลอบจำหน่ายหลายครั้งแล้วก็ตาม จะด้วยปัจจัยใดที่ทำให้ยังมีการจำหน่ายก็ไม่ทราบได้ จึงยังมีการจำหน่ายเสมือนเป็นสัตว์เลี้ยงปกติทั่วไป นกหกเล็กปากดำ ก็เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่เคยมีผู้ค้านำมาวางจำหน่าย จนมีผู้สนใจซื้อไปเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์จำนวนหนึ่ง
นกหกเล็กปากดำ เป็นนกที่พบได้เฉพาะในทวีปเอเชียแถบสุมาตรา บอร์เนียว มาเลเซีย ซึ่งในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ พัทลุง สงขลา (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง) จังหวัดสตูล (อุทยานแห่งชาติทะเลบัน) จังหวัดปัตตานี นราธิวาส (ป่าพรุสิรินธร) และจังหวัดยะลา (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา)
เป็นสัตว์ที่พบได้ค่อนข้างยากและเหลือน้อย ทำให้ถูกจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้
คุณพิทักษ์ อาษายุทธ์ อดีตข้าราชการครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้หนึ่งที่ผ่านประสบการณ์การเลี้ยงนกหกเล็กปากดำมา เพราะราว 10 ปีก่อน เขาพบนกหกเล็กปากดำหลายตัววางขายในตลาดนัดสวนจตุจักร จึงนำมาเพาะเลี้ยง เพราะสนใจเรื่องราวของนกกลุ่มนี้มาก่อนหน้า การนำกลับมาในครั้งนั้นทำให้คุณพิทักษ์ดูแลนกชนิดนี้เป็นอย่างดี และสามารถขยายพันธุ์ได้ลูกนกได้จำนวนการออกไข่ของนกหกเล็กปากดำต่อครั้งมากกว่าการออกไข่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี และปัจจุบันคงเหลือเฉพาะนกรุ่นลูกที่จากพ่อแม่พันธุ์ที่ซื้อมาในครั้งแรกเท่านั้น
“ผมศึกษาธรรมชาติของนกจากหนังสือ ทราบว่า เป็นนกที่มีพฤติกรรมการอยู่เป็นฝูงใหญ่ เกาะบนต้นไม้ที่ออกดอกออกผล ไม่ชอบบิน แต่ใช้ปากช่วยจับกิ่งไม้ไต่ไปตามต้นไม้ เวลานอนจะห้อยหัวลงคล้ายค้างคาว โดยใช้ขาเกาะกับกิ่งไม้ มักได้ยินเสียงร้องมากกว่าเห็นตัว เพราะนกตัวเล็กและมีสีเขียวสดกลมกลืนไปกับใบไม้ในป่า เป็นนกที่บินตรงไวและรวดเร็วมาก”
คุณพิทักษ์ บอกว่า ตามธรรมชาติ นกชนิดนี้กินอาหารสด ได้แก่ ธัญพืช ผลไม้เนื้ออ่อน ลูกไทร และยังชอบดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ เช่น ดอกทุเรียนป่า แต่เมื่อนำมาเลี้ยงจึงให้กินผลไม้เป็นอาหาร ประกอบด้วย มะละกอ แอปเปิ้ล และกล้วย ทุกชนิดให้ในในปริมาณ ¼ ลูกต่อนกจำนวน 1 คู่ ส่วนน้ำหวานที่นกชอบดูดกินจากดอกไม้ ในระยะแรกที่นำนกมาเลี้ยง ใช้น้ำหวานชงจากน้ำผึ้งให้กินแทนน้ำ และค่อยๆ เจือจางลงเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบัน ไม่ได้ให้น้ำหวานเลย นกก็สามารถอยู่ได้
โดยปกติ นกจะจับคู่กันเมื่ออายุได้ 2 ปี พฤติกรรมการจับคู่เป็นพฤติกรรมเดียวกับนกเลิฟเบิร์ด คือ เลือกจับคู่เอง และจะไม่ทิ้งคู่ไปไหน แม้ว่าคู่ตายก็ไม่จับคู่ใหม่ ก่อนจับคู่จะมีการเกี้ยวพาราสี นกตัวผู้จะพยายามป้อนอาหารให้กับนกตัวเมีย ถ้านกตัวเมียยอม แสดงว่านกจับคู่กันแล้ว หรือ บางครั้งนกตัวเมียจะยืนเรียกตัวผู้ให้เข้ากรง ถ้านกตัวผู้ตัวนั้นไม่ยอมเข้ากรง นกตัวเมียก็จะไม่ยอมจับคู่กับนกตัวผู้ตัวอื่น
การจับคู่ บ่งบอกถึงการออกไข่ของลูกนก เพราะหลังจากนกจับคู่ไม่นาน นกจะมีไข่และออกไข่ในกรง รอฟักตามระยะเวลาที่ควร ที่ผ่านมา คุณพิทักษ์ ปล่อยให้นกเลี้ยงลูกเองจนลูกนกลงรังเรียบร้อย ซึ่งเป็นเรื่องดีที่นกสามารถดำรงชีวิตอยู่เช่นเดียวกับการอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ
จุดเด่นของนกหกเล็กปากดำ อยู่ที่สีสันตลอดทั้งตัวทีมีความสดและมีหลายสีในตัวเดียว
จากการเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับนกหกเล็กปากดำ ของสัตวแพทย์หญิง รัตนา สาริวงศ์จันทร์ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ทำให้ทราบว่า สีของนกหกเล็กปากดำเพศผู้ จะมีหัวและลำตัวสีเขียวสด ลำตัวส่วนบนมีสีเข้มกว่าลำตัวส่วนล่าง แต่กลางกระหม่อมมีแต้มสีน้ำเงิน กึ่งกลางหลังตอนบนเป็นแถบสีน้ำตาลเจือส้ม หลังตอนล่างมีแถบสีเหลืองพาดขวาง ตะโพกและขนคลุมบนโคนหางสีแดงสด ขนคลุมปีก ขนกลางปีกและขนปลายปีกมีครีบ ขนด้านในสีคล้ำ ขนคลุมใต้ปีกสีเขียว ใต้ปีกสีฟ้า หางสีเขียวสด แต่ใต้หางสีฟ้า ใต้คอและอกตอนบนเป็นแถบสีแดงสด สีข้างเจือสีเหลืองเล็กน้อย
สำหรับนกหกเล็กปากดำเพศเมีย หัวและลำตัวสีเขียวสดเช่นเดียวกับนกเพศผู้ แต่หม่นกว่าเล็กน้อย ลำตัวส่วนล่างออกสีเหลือง แต้มสีน้ำเงินที่กลางกระหม่อมคล้ำกว่า และแถบสีส้มที่กลางหลังตอนบนแคบกว่า ไม่มีแถบสีแดงที่อกและแถบสีเหลืองที่หลังตอนล่าง
ความน่าสนใจในตัวนกหกเล็กปากดำ นอกจากจะอยู่ที่สีสันของนก ความแปลกที่ไม่เหมือนในกลุ่มนกด้วยกัน แต่คล้ายกับค้างคาว คือ การนอนในเวลากลางคืน นกหกเล็กปากดำจะนอนห้อยหัวลง โดยใช้นิ้วเท้าที่ยาวเกี่ยวกับกรงหรือกิ่งไม้ตามธรรมชาติ แล้วห้อยหัวลงเช่นเดียวกับค้างคาว
เมื่อนำมาเลี้ยงในกรง ในระยะแรกคุณพิทักษ์พยายามเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด โดยได้ข้อสรุปในการทำกรงให้กับนกหกเล็กปากแดง ที่ขนาดกรงหมอนเบอร์ 1 (กว้าง 60 ยาว 82 สูง 65 เซนติเมตร) และทำรังนอนให้โดยใช้ไม้ต่อเป็นรับนอน กว้าง 15 เซนติเมตร และลึก 40 เซนติเมตร ใช้ลวดดัดเป็นทางเดินลงให้กับนก เพราะไม้เป็นแบบเรียบ นกไม่สามารถไต่ลงเหมือนต้นไม้ได้ บริเวณพื้นรัง ใช้ขี้เลื่อยรองไว้ และเปลี่ยนทุกครั้งที่เห็นว่าเริ่มสกปรก
ในแต่ละวัน คุณพิทักษ์จะสำรวจความสะอาดของกรง บริเวณกรง และทำความสะอาดทุกวัน เพราะนกหกเล็กปากแดง เป็นนกที่ถ่ายสะเปะสะปะ ไม่ได้ถ่ายเหมือนนกทั่วไปที่มูลตกลงพื้นกรง แต่จะถ่ายแบบพุ่งปรี๊ดมีเนื้อแต่เหลวไปตามทิศทางที่ไม่แน่นอน ทำให้มูลกระเด็นออกนอกกรงไปหล่นอยู่บริเวณโดยรอบกรง หรือ ติดอยู่ตามผนังและสิ่งของที่อยู่ใกล้เคียง หากปล่อยไว้จะเลอะเทอะและดูไม่สวยงาม
เมื่อทำความสะอาดกรงแล้ว จะเปลี่ยนน้ำและให้อาหารทั้งผลไม้สดและอาหารเม็ด ในช่วงเย็นจะเก็บอาหารสดที่เหลือออก เพื่อไม่ให้นกกินอาหารเหลือ เพราะอาจทำให้ท้องเสีย อีกทั้งคุณพิทักษ์ บอกว่า นกหกเล็กปากแดงชอบรับประทานผลไม้สด โอกาสเกิดท้องเสียมีสูง และปัจจัยที่ทำให้นกตายคือท้องเสีย จึงควรระวังให้มาก ที่สำคัญทุก 15 วัน คุณพิทักษ์จะใช้ยาแก้ท้องเสียผสมน้ำให้เจือจางที่สุดให้นกกินก็ช่วยลดภาวะท้องเสียลงได้
“ตามธรรมชาติทราบว่า นกชนิดนี้ออกไข่ปีละครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 ฟอง แต่นกที่อยู่กับผมออกไข่ได้ตลอดปี และออกไข่ได้มากถึงครั้งละ 5 ฟอง อาจเป็นเพราะผมให้อาหารเต็มที่และสมบูรณ์ เพราะสภาพป่าปัจจุบันระบบนิเวศถูกทำลายไปมาก”
จึงถือเป็นความโชคดีของผู้ที่รักและสนใจนกหกเล็กปากดำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนกอนุรักษ์ และการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลนกหกเล็กปากดำของคุณพิทักษ์ในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่พบเจอนกหกเล็กปากดำหรือมีอยู่ในครอบครองได้เลี้ยงดูอย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลี้ยงนกหกเล็กปากดำของคุณพิทักษ์จะเป็นแนวทางที่ทำให้นกหกเล็กปากดำขยายพันธุ์ได้มากกว่าธรรมชาติ แต่คุณพิทักษ์ก็เห็นว่า การปล่อยให้นกอาศัยอยู่ตามธรรมชาติเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีแล้ว หากท่านใดต้องการความรู้เพิ่มเติม คุณพิทักษ์ยินดีให้ข้อมูล สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณพิทักษ์ อาษายุทธ์ โทรศัพท์ 082-2177550