มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ สารพัดประโยชน์

จริงๆแล้วมะขามเปรี้ยว ตีคู่มาพร้อมกับมะขามหวาน แต่มะขามหวานทำเป็นการค้าจริงจังมากกว่า ชื่อเสียงของมะขามเปรี้ยวจึงเงียบไป

ตามท้องถิ่นในชนบท จะพบมะขามเปรี้ยวต้นขนาดใหญ่ เติบโตมาจากเมล็ด บางคราวเจ้าของเลื่อยทำเขียง แต่ส่วนใหญ่แล้วเก็บผลผลิตมาทำเป็นมะขามเปียกไว้ปรุงอาหาร มีมากก็จำหน่าย

วงการมะขามเปรี้ยวมาฮือฮา เมื่อมีการเปิดตัวมะขามฝักกระดาน ของพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง เสียบยอดมะขามเปรี้ยว เหมือนมะขามหวาน ทำให้ลักษณะพันธุ์เดิมยังคงอยู่

มะขามเปรี้ยวของพลโทรวมศักดิ์ ได้รับความนิยมมาก โดยเริ่มปลูกที่จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นก็ขยายไปยังจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดอื่นๆ

นอกจากสายพันธุ์มะขามเปรี้ยวของพลโทรวมศักดิ์แล้ว มีการศึกษาพันธุ์มะขามเปรี้ยวของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร ต่อมามีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกแล้ว

มีมะขามเปรี้ยวสายพันธุ์ “สะทิงพระ” ถิ่นกำเนิดอยู่จังหวัดสงขลา ผู้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังคือพันเอกวินัย พุกศรีสุข หัวหน้ากองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก ซึ่งมีที่ตั้งอยู่จังหวัดกาญจนบุรี

พันเอกวินัยเล่าว่า ตนเองศึกษาสายพันธุ์นี้ ตั้งแต่มียศเป็นร้อยเอก เพราะเห็นว่าฝักใหญ่ ฝักดิบที่โตเต็มที่ เคยชั่งได้ 4-5 ฝักต่อกิโลกรัม กรณีนี้ เจ้าของไม่ปล่อยให้ฝักดกมากนัก สายพันธุ์อื่นก็ใกล้เคียงกัน

มะขามเปรี้ยวสะทิงพระ เมื่อฝักสุก หากน้ำหนักมะขาม 1 กิโลกรัม แกะเปลือกและเมล็ด  ออกแล้ว…จะเหลือน้ำหนัก 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีมาก

พันเอกวินัยบอกว่า มะขามเปรี้ยวฝักยักษ์โดยทั่วไป เมื่อต้นอายุ 10 ปี จะได้น้ำหนักมะขาม 300 กิโลกรัมต่อต้น บางปีอาจจะน้อยกว่านี้ เพราะมะขามจะไม่ดกทุกปี

วิธีการขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยว นิยมการทาบกิ่ง หรือไม่ก็ปลูกต้นตอในแปลงแล้วเสียบยอดพันธุ์ดีเข้าไป คล้ายมะม่วง

ระยะปลูกมะขามเปรี้ยว ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 8 คูณ 8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น เวลาที่เหมาะสำหรับการปลูกคือต้นฝน

โดยทั่วไป มะขามเปรี้ยวชอบปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก แต่หากทำเป็นการค้าและสังเกตเห็นว่ามะขามติดผลผลิตมาก หลังเก็บเกี่ยวนอกจากปุ๋ยคอก ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 1-2 กิโลกรัมต่อต้น ก่อนออกดอกสร้างตาดอกด้วยปุ๋ยสูตร 8-24-24 จำนวน 1 กิโลกรัมต่อต้น ช่วงพัฒนาผลผลิต ใส่สูตร 15-15-15 อีกครั้งหนึ่ง ราว 1 กิโลกรัมต่อต้น

ปริมาณปุ๋ยที่ให้ ขึ้นอยู่กับผลผลิตบนต้น ขนาดของต้น และจำนวนผลผลิตที่มะขามติดฝัก

กรณีปลูกเป็นไม้รอบบ้าน อาจจะไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีก็ได้

เมื่อฝักเริ่มแก่แต่ยังไม่สุก สามารถนำฝักมะขามมาแช่อิ่มจำหน่าย ฝักสุกแกะเนื้อขายเป็นมะขามเปียก ตลาดต้องการอย่างต่อเนื่อง

เป็นพืชเอนกประสงค์ ใบอ่อนนำมาปรุงอาหารได้ พุ่มใบมีความสวยงาม ปลูกหน้าบ้าน หรือรอบบ้านให้ความร่มเย็น

ผู้มีที่ว่างรอบบ้าน ควรพิจารณาปลูกมะขามเปรี้ยวสักต้น