ลิ้นห่าน ผักพื้นบ้านที่ใกล้สูญพันธุ์

ผักลิ้นห่าน จัดเป็นผักพื้นเมืองที่หายากอีกชนิดหนึ่ง คนเก่าแก่ในบางพื้นที่เรียกว่า ผักหลักไก่ สำหรับคนจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา มักจะพูดออกสำเนียงเป็น ผักลิ้นหาน (ซึ่งน่าจะมีมาแต่โบราณนานแล้ว) ความอร่อยของผักลิ้นห่านนั้นจะมีความกรอบและอร่อย ปัจจุบัน ในจังหวัดภูเก็ตได้มีผู้ปลูกผักลิ้นห่านเป็นการค้านับได้ก็มีจำนวนหลายๆ ราย

ผักลิ้นห่าน

สำหรับชื่อ ผักลิ้นห่าน อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนสมัยใหม่นัก แต่ก็จะเป็นที่รู้จักของชาวภูเก็ตตั้งแต่รุ่นเก่าก่อนซะมากกว่า…ปัจจุบันเริ่มหากินได้ยาก หรือบางพื้นที่อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วโดยสิ้นเชิง

ส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างตามบ้านเรือน ที่มีการเพาะพันธุ์ไว้สำหรับปรุงประกอบอาหาร และหากมีมากก็จะแบ่งกินหรือแบ่งขายกันบ้าง

มารู้จัก ผักลิ้นห่าน

ผักลิ้นห่าน คือ ชื่อที่ชาวบ้านเรียกผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้นๆ และมีไหลทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มักแตกกอเป็นช่วงๆ ขอบใบหยักเล็กน้อย ใบยาวรีคล้ายลิ้นห่าน ปลายใบแหลม ใบยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ใน 1 ต้น มีใบประมาณ 7-15 ใบ สีเขียวเข้ม ถ้าแสงแดดจ้าใบจะออกเหลือง

พบได้ตลอดแนวชายทะเลในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต

หากไม่สังเกตหรือไม่รู้จักก็อาจจะทำให้เข้าใจว่า เป็นต้นหญ้า ในอดีตมีมากอยู่ตามธรรมชาติบริเวณพื้นที่ริมทะเลที่มีดินทราย ตามริมชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน และพบมากตลอดแนวชายทะเลในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต แต่ปัจจุบันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่เจริญอย่างไม่หยุดยั้ง พื้นที่และที่ดินชายทะเลเหล่านั้นได้ถูกนายทุนกว้านซื้อไปทำธุรกิจริมชายหาด เช่น โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร และยังมีการเทคอนกรีตเป็นทางเดินบ้าง ทำให้กระทบกับพื้นที่ที่ผักลิ้นห่านขึ้น ส่งผลให้ผักลิ้นห่านได้สูญหายไปจากชายหาดตามธรรมชาติในที่สุด แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างในพื้นที่ที่อนุรักษ์เท่านั้น

วิธีปลูกและดูแลรักษา ผักลิ้นห่าน

ผักลิ้นห่าน สามารถเจริญเติบโตและฝังตัวบนผืนทรายตามชายฝั่งทะเล จะขึ้นอยู่ตามบริเวณใต้ร่มต้นสน และผักบุ้งทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีคุณสมบัติในการระบายน้ำดี และอุ้มน้ำได้น้อย อุณหภูมิอยู่ในช่วงที่สังเคราะห์แสงได้ตลอดปี จึงส่งผลทำให้ผักชนิดนี้สามารถดูดซึมสารอาหารบางส่วนไปเลี้ยงตนเองได้

การเพาะและขยายพันธุ์ มี 3 วิธี คือ

  1. 1. ถอนต้นผักลิ้นห่านให้ติดราก แล้วนำมาอนุบาลเพาะเลี้ยงในถุงชำ (ถุงดำ) หรือกระถาง
  2. ขยายพันธุ์โดยใช้ไหลผักลิ้นห่านนำมาปักชำ (ส่วนมากมักจะได้รับความนิยมสูง)
  3. การเพาะด้วยเมล็ด (ไม่ค่อยนิยม)
การตัดต้นเล็กๆ ที่เกิดจากไหลเหมือนสตรอเบอรี่นำมาปลูกใหม่โดยให้ติดราก วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการขยายพันธุ์ผักลิ้นห่าน

การตัดต้นเก่าให้เหลือโคนต้นไว้สัก 2 มิลลิเมตร เมื่อรดน้ำบำรุงต้นใบก็จะงอกมาใหม่หรือแตกหน่อข้าง หรือถอนต้นเล็กๆ ที่เกิดจากไหลเหมือนสตรอเบอรี่ นำมาปลูกใหม่โดยให้ติดราก วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการขยายพันธุ์

ส่วนผสมดิน สำหรับใช้เพาะเลี้ยงในแปลงปลูก หรือกระถาง

  1. หน้าดิน 2 ส่วน
  2. แกลบเผา 1 ส่วน
  3. ปุ๋ยคอก (แห้ง) 1 ส่วน
  4. แกลบดิบเก่า 1/2 ส่วน

นำส่วนผสมทั้ง 4 ตัว มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี จากนั้นนำต้น (กอ) ไหล มาปลูกลงในดินผสมไว้แล้ว และสามารถนำไปปลูกลงแปลง หรือกระถางเลยก็ได้เช่นกัน

ลิ้นห่าน…ผักพื้นบ้านหายาก

ผักพื้นบ้านพื้นเมืองชายทะเลอีกอย่างหนึ่ง จะกินเป็นผักเหนาะ (แกล้ม) หรือนำไปปรุงประกอบอาหารได้อร่อยๆ หลายๆ เมนู หรือยอดอ่อนๆ จะกินสดๆ รสชาติออกมันๆ ฝาดนิดหน่อย กินกับแกงไตปลา หรือขนมจีนน้ำยา ได้อร่อยอย่าบอกใครเชียว

ผักลิ้นห่าน จะกินสดๆ รสชาติออกมันๆ ฝาดนิดหน่อย

ผักพื้นบ้านริมทะเลภูเก็ต กรอบ มัน เจือขมเล็กน้อย สร้างสรรค์ได้สารพัดเมนู ผู้เขียนเองได้ลองสัมผัสและชิมรสชาติครั้งแรกก็ที่จังหวัดภูเก็ตแห่งนี้นี่เอง สำหรับผักลิ้นห่านสามารถทำได้หลายเมนู แต่ที่นิยมทำก็คือ ต้มกะทิผักลิ้นห่านใส่กุ้งสด ผักลิ้นห่านผัดน้ำมันหอย และทานสดกับน้ำพริก ซึ่งพบว่ามีความอร่อย มีความกรอบ มัน และวันนั้นเลยได้ชิมเมนูผักลิ้นห่านครบทั้ง 3 เมนูด้วยกัน จึงไม่ลืมที่จะนำเมนูอร่อยๆ ของคนภูเก็ตมาบอกต่อๆ กันไป และหากท่านใดมีโอกาสแวะเวียนไปเที่ยวภูเก็ต ก็ต้องขอฝากเมนู ผักลิ้นห่าน เป็นเมนูแนะนำด้วยนะคะ…รับรองไม่ผิดหวัง

ขอขอบคุณ คุณณรงศักดิ์ ลูกอ้น (น้องอ้น และคุณแม่) ที่ให้ข้อมูล

สูตรต้มกะทิผักลิ้นห่าน

(สูตรคุณแม่เต่า ท่านกรุณาบอกต่อความอร่อยของเมนูเด็ดๆ ของภูเก็ตมาให้ ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วย)

ส่วนผสม

  1. ผักลิ้นห่าน 200 กรัม
  2. กุ้งสด (จะใส่กุ้งแห้ง หรือใส่ปลาฉิ้งจ้าง ก็อร่อยเลิศรสเช่นกัน) 150 กรัม
  3. หอมแดง 3 หัว
  4. กะปิน้ำพริกอย่างดี 1 ช้อนโต๊ะ
  5. น้ำกะทิ (แยกส่วนหัวและหาง) 250 กรัม
  6. เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
ต้มกะทิผักลิ้นห่านใส่กุ้งสด

วิธีทำ

  1. ผักลิ้นห่านตัดรากออก แล้วเอาใบแก่ออกให้หมด นำไปล้างให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
  2. กุ้งทะเลสดๆ นำมาปอกเปลือก ให้เหลือส่วนหางไว้ นำมาผ่าหลังแล้วชักเส้นดำออก ล้างน้ำให้สะอาด พักไว้
  3. โขลกหอมแดง กะปิ เกลือ ให้เข้ากัน พักไว้
  4. นำหางกะทิมาตั้งไฟปานกลาง รอให้น้ำกะทิเดือด ใส่กะปิ หอมแดง และเกลือป่นที่โขลกไว้แล้วตามลงไป
  5. รอให้น้ำกะทิเดือด ใส่กุ้งสดที่เตรียมไว้
  6. ใส่ผักลิ้นห่าน (เทคนิคการปรุงเมนูนี้ก็คือ หลังจากใส่ผักลิ้นห่านลงไปในหม้อแล้ว ให้เคี่ยวแค่ให้ผักพอสุกเท่านั้น จะได้รสชาติผักที่อร่อยกว่าการเคี่ยวจนผักเปื่อย)
  7. ชิมให้ได้รสชาติเค็ม หวาน รอพอเดือดอีกครั้ง จากนั้นให้ใส่หัวกะทิตามลงไป เป็นอันว่าเสร็จพร้อมเสิร์ฟได้ทันที และต้องกินตอนร้อนๆ หรอยแรง

(บางสูตร บางตำรา หรือร้านอาหารบางร้าน เขาจะตอกไข่ไก่หรือไข่เป็ดลงไปพอให้ไข่สุกไม่แข็ง ก็ได้รสชาติหวาน หอม อร่อยไปอีกรสชาติหนึ่ง)

ผักลิ้นห่านผัดน้ำมันหอย

วิธีปรุง เหมือนการผัดผักบุ้งไฟแดงทุกประการ ส่วนความอร่อยก็แล้วแต่นักชิมทั้งหลายท่านจะชื่นชอบ ผักบุ้งไฟแดง หรือลิ้นห่านไฟแดง ตัดสินใจเองแล้วกัน

ผักลิ้นห่านผัดน้ำมันหอย

พื้นที่ชายหาดหลายๆ แห่ง เปลี่ยนจากชายหาดที่เคยเงียบสงบ ให้ชาวบ้านได้ออกไปทอดแหหาปลา หาผักลิ้นห่านเอามาจิ้มน้ำพริกได้ ปัจจุบัน ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกแล้ว เพราะชายทะเลบางหาดได้ถูกนายทุนบุกรุกกั้นเป็นสัดส่วน ปิดทางลงทะเลของชาวบ้านไปหมด ทำให้ผักลิ้นห่าน ผักพื้นบ้านชายทะเลฝั่งอันดามันของไทย จึงเริ่มหายากหรืออาจหาไม่ได้เลยก็ว่าได้ เพราะด้วยพื้นที่พื้นดินทุกตารางนิ้วของจังหวัดภูเก็ตนั้นมีราคาค่อนข้างแพงมากถึงมากที่สุด

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผักพื้นเมืองชนิดนี้สูญพันธุ์ไป จึงได้มีผู้อนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชพื้นเมืองชนิดนี้ไว้ด้วยการปลูกเป็นสวนผักลิ้นห่าน ผักลิ้นห่านปลูกในกระถาง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังๆ ได้รู้จักและช่วยกันอนุรักษ์ผักพื้นเมืองชนิดนี้ไว้ให้คงอยู่คู่เมืองภูเก็ตลอดไป และไม่แน่ว่าในอนาคตอีกไม่นานเราคงได้เห็นเมนูเด็ดๆ ใหม่ๆ เชลล์ชวนชิมกับ พิซซ่าผักลิ้นห่าน ก็ได้ ใครจะไปรู้

คุณณรงศักดิ์ ลูกอ้น (น้องอ้น และคุณแม่)

ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้ที่ให้ข้อมูลต่างๆ และสูตรต้มกะทิผักลิ้นห่าน จาก (น้องอ้น และคุณแม่) สารพัดงอกฟาร์ม เลขที่ 35 หมู่ที่ 2 ถนนเจ้าฟ้า ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83130 หรือหากสนใจหรือต้องการข้อมูลผักลิ้นห่าน เพื่อนำไปปลูกสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ คุณณรงศักดิ์ ลูกอ้น หน้าร้านตั้งอยู่ที่ ร้านวรพลสังฆภัณฑ์ โทร. หรือ ID line (085) 888-1616, (088) 766-0658 เฟซบุ๊ก : www.facebook.com/sarapat.ngok.farm/    

………………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2561