สินค้าเกษตรอินทรีย์โตพรวด 5 ชนิด ส่งออก ปริมาณพุ่งกว่า30%

น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ในหลายชนิด อาทิ ข้าว พืชผักและผลไม้ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดเก็บสถิติที่ชัดเจนผ่านระบบพิกัดศุลกากรของไทย ยกเว้น สินค้าข้าวอินทรีย์ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560–64 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้มอบหมายให้ สศก. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์


น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า สศก. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดศุลกากร ระยะ 1 สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก 5 ชนิด ต่อจากข้าว ได้แก่ 1. ใบชาเขียว 2. มะพร้าวอ่อน 3. กะทิสำเร็จรูป 4. มังคุด และ 5. ทุเรียน ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2561

“พบว่า 7 เดือน ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด มีปริมาณรวม 720 ตัน คิดเป็น 0.08% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของสินค้า 5 ชนิด และขยายตัว 30.53% โดยมีมูลค่ารวม 76 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.16% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าทั้ง 5 ชนิด และขยายตัว 105.15%”

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า สำหรับสินค้าที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดตามลำดับ คือ มะพร้าวอ่อนอินทรีย์ ทุเรียนอินทรีย์และทุเรียนอินทรีย์แช่เย็นจนแข็ง กะทิอินทรีย์สำเร็จรูป ใบชาเขียวอินทรีย์ และมังคุดอินทรีย์ โดยปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออก 3 ลำดับแรก ได้แก่ มะพร้าวอ่อนอินทรีย์ มีนาคม – กันยายน 2561 มีปริมาณการส่งออกมากที่สุด รวม 475 ตัน คิดเป็น 0.89% ของปริมาณการส่งออกมะพร้าวอ่อนทั้งหมด และขยายตัว 10.26% มูลค่าการส่งออกมะพร้าวอ่อนอินทรีย์ช่วง 7 เดือน มีมูลค่า 20 ล้านบาท คิดเป็น 1.25% ของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวอ่อนทั้งหมด ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลัก หรือคิดเป็น 80%

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวอีกว่า ส่วนทุเรียนอินทรีย์และทุเรียนอินทรีย์แช่เย็นจนแข็ง มีนาคม–กันยายน 2561 มีปริมาณการส่งออก 193 ตัน คิดเป็น 0.04% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด ตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีน ทั้งนี้ ทุเรียนอินทรีย์และทุเรียนอินทรีย์แช่เย็นจนแข็ง นับเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ช่วง 7 เดือน มูลค่า 52 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.17% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมด และกะทิอินทรีย์สำเร็จรูป มีนาคม–กันยายน 2561 ส่งออก 52 ตัน คิดเป็น 0.03% ของปริมาณส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั้งหมด และมีมูลค่า 7 เดือน รวม 3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.04% ของมูลค่าการส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั้งหมด

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า ในส่วนของใบชาเขียวอินทรีย์ และมังคุดอินทรีย์ ยังไม่มีการส่งออกมากนัก ทั้งนี้ สศก. จะเตรียมเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้จัดทำรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดศุลกากรสำหรับชนิดสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม ในระยะที่ 2

รวมทั้งกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ด้านพัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในการผลักดันให้มีพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง