เกษตรกรพิจิตรปลูกชะอมไร้หนาม เพียง 3 ไร่ สร้างรายได้ดี

คุณดอกไม้ อินอ้น หรือ ป้าดอกไม้ วัย 78 ปี ที่ถือเป็นเกษตรกรที่เริ่มปลูกชะอมไร้หนามรายแรกๆ ของอำเภอตะพานหิน และเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกชะอมไร้หนามบ้านคลองข่อย บ้านเลขที่ 31/6 หมู่ที่ 6 บ้านคลองข่อย ซอย 13 ตำบลไผ่หลวง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

การปลูกชะอมไร้หนาม ที่หลายคนมองเป็นเพียงอาชีพรองนั้น กลับสร้างรายได้หลักให้กับ ป้าดอกไม้ และครอบครัวมายาวนานมากกว่า 20 ปี และที่สวนชะอมไร้หนามของป้าดอกไม้ ยังเป็น “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่” ประจำตำบลไผ่หลวง เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ เรื่องการปลูกชะอมไร้หนาม สำหรับผู้ที่สนใจหรือเกษตรกร

ปลูกชะอมไร้หนาม เริ่มต้น ในพื้นที่ 3 ไร่ สร้างรายได้ดีกว่าทำนา 10 ไร่

ก่อนที่ป้าดอกไม้จะปลูกชะอมไร้หนามก็ทำนามาก่อน ปัจจุบัน ก็ยังคงทำนาควบคู่ไป ซึ่งนากลายเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น ป้าดอกไม้เล่าย้อนกลับไปว่า ได้พันธุ์ชะอมไร้หนามมาปลูกแบบสวนครัวหลังบ้าน เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว วัตถุประสงค์แรกของการปลูกชะอมไร้หนามในตอนนั้น เพียงเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และต่อมาเลยตอนกิ่งชะอมเพื่อขยายต้นปลูกเพื่อเก็บยอดชะอมจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านและตลาดในชุมชนเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว หลังจากเก็บยอดชะอมขาย ผลปรากฏว่าปริมาณของความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนเกือบทุกวัน ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนา ป้าดอกไม้ บอกว่า ค่อนข้างเหนื่อยกว่ามาก และยังมีค่าใช้จ่ายต่อไร่สูง แล้วการปลูกข้าวยังประสบปัญหาในความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ และราคา เมื่อเปรียบเทียบรายได้จากการเก็บยอดชะอมไร้หนามขาย ในพื้นที่เพียง 3 ไร่ ที่เริ่มต้นทำนั้น ดีกว่าปลูกข้าว ในพื้นที่ 10 ไร่ ปัจจุบัน ป้าดอกไม้และครอบครัวได้ขยายพื้นที่ปลูกชะอมไร้หนามออกไปถึง 6 ไร่ หรือราวเกือบ 10,000 ต้น และแปลงปลูกกล้วยกับไผ่ เพื่อนำกาบกล้วยและไม้ไผ่มาใช้ในการมัดกำชะอมที่จะต้องใช้เกือบทุกวัน ป้าดอกไม้ยังได้บอกว่า โรคและแมลงศัตรูชะอมมีน้อยมาก และใช้เพียงแรงงานในครอบครัว ในแต่ละครอบครัวที่ปลูกชะอมไร้หนาม ในพื้นที่ 1-2 ไร่ หรือมากกว่านั้น จะมียอดให้เก็บหมุนเวียนได้ทุกวัน มีเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว วันละ 200-300 บาท อย่างสบาย

ชนิดของชะอม ที่ปลูกในบ้านเรา

ชะอม ที่ปลูกกันในขณะนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ตามลักษณะ คือ ชะอมมีหนาม กับ ชะอมไม่มีหนาม (ชะอมไร้หนาม) ต้นชะอมจะมีหนามทั่วทั้งต้นและกิ่งก้านสาขา รวมถึงส่วนของยอดอ่อนด้วย ในขณะที่ต้นชะอมไร้หนามเกือบจะไม่มีหนามเลย หรือจะพบหนามบ้างเหมือนกันแต่น้อยมาก จะพบเพียงหนามอ่อนห่างๆ เท่านั้น ข้อแตกต่างของชะอมทั้ง 2 ชนิด ป้าดอกไม้ อธิบายว่า ยอดชะอมที่มีหนามจะมีกลิ่นแรงกว่ายอดชะอมไร้หนาม แต่สำหรับรสชาติเมื่อนำไปประกอบอาหารจะใกล้เคียงกันจนแยกไม่ออก แต่กลับรู้สึกว่าชะอมไร้หนามรับประทานง่ายกว่า เพราะไม่มีหนามให้กวนใจเวลารับประทาน สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกชะอมนั้น ชะอมไร้หนามจะสะดวกในเรื่องของการเก็บเกี่ยวยอดเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่ต้นหรือกิ่งไม่มีหนาม ทำให้เก็บได้ค่อนข้างรวดเร็ว และไม่ถูกหนามทิ่มแทงมือหรือร่างกาย นิสัยของการแตกยอดพบว่า พันธุ์ที่มีหนามจะให้ยอดน้อยและแตกยอดช้ากว่าชะอมไร้หนาม ป้าดอกไม้ได้ย้ำว่าลักษณะของการแตกยอดจะเห็นได้ชัดมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดชะอมมีราคาแพงที่สุด ราคาจะสูงถึงกำละ 10-15 บาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชะอมในท้องตลาดมีน้อย จะเห็นได้ชัดเลยว่าต้นชะอมไร้หนามให้ยอดที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

การขยายพันธุ์ ชะอมไร้หนาม

ป้าดอกไม้ ได้บอกถึงวิธีการขยายพันธุ์ชะอมไร้หนาม จะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การตอนกิ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะรวดเร็วและออกรากได้ดี โดยคัดเลือกกิ่งที่จะตอนไม่ให้แก่และอ่อนจนเกินไป ขั้นตอนเหมือนกับการตอนไม้ผลทั่วไป คือเลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง ควั่นกิ่งด้านบนและด้านล่าง ให้ห่างกันสัก 3-4 เซนติเมตร ใช้ปลายมีดลอกเอาเปลือกชะอมออก แล้วขูดเยื่อเจริญที่เป็นเมือกลื่นๆ ออก จะทาด้วยน้ำยาเร่งรากหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะชะอมเป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่ถ้าทาด้วยน้ำยาเร่งรากก็จะยิ่งดีขึ้นอีก หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่แช่น้ำมาล่วงหน้าสัก 1 คืน แล้วบีบน้ำออกให้หมาดน้ำ อัดลงในถุงพลาสติก เมื่อทำแผลตอนเสร็จ ผ่าครึ่งถุงพลาสติกที่อัดขุยมะพร้าวและนำไปหุ้มบริเวณที่ลอกเปลือก มัดด้วยเชือกหรือตอกไม้ไผ่ ทั้งบนและล่างรอยแผลตุ้มตอนให้แน่น หลังจากนั้น ประมาณ 40-50 วัน เมื่อกิ่งตอนมีรากเต็มตุ้มตอนและเริ่มแก่เป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล ปลายรากมีสีขาว และมีจำนวนรากมากพอ จึงตัดกิ่งตอนได้ ก็สามารถตัดไปปลูกในแปลงได้เลย ไม่ต้องชำลงถุงให้เสียเวลา เมื่อนำกิ่งตอนปลูกลงดิน ต้นชะอมจะตั้งตัวได้เร็ว