มทร.ศรีวิชัย สร้างตู้อบแสงอาทิตย์ ผลิต “ติหมา” เพิ่มยอดขาย สร้างรายได้สู่ชุมชน

ผลิตภัณฑ์จาก เป็นอาชีพสำคัญอาชีพหนึ่งของชุมชนในลุ่มน้ำปะเหลียน…โดยจำหน่ายเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำการเกษตร

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายยอดทอง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีการนำใบจากมาผลิตเป็นวัสดุใส่น้ำที่เรียกว่า “ติหมา” สำหรับบรรจุเครื่องดื่มจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก แต่ทางกลุ่มยังขาดศักยภาพในการผลิตติหมาให้ได้ตามความต้องการของตลาด เนื่องจากประสบปัญหาในการผลิตในช่วงฤดูฝนไม่สามารถตากใบจากเพื่อนำมาใช้ในการผลิตติหมา

ผศ.นพดล โพชกำเหนิด และ ดร.สุปราณี วุ่นศรี อาจารย์หลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับหน่วยวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ มทร.ศรีวิชัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำการพัฒนาเทคโนโลยีการอบใบจากโดยใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์และการใช้พลังงานลมร้อน สำหรับใช้ในการผลิตติหมาให้ได้คุณภาพ เป็นการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตใบจากได้มากขึ้น สามารถผลิตใบจากได้ตลอดทุกฤดูกาลทั้งฤดูร้อนและฤดูฝน ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีตู้อบใบจากสู่ชุมชนต้นแบบ ทางกลุ่มผลิตติหมาได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 เท่า มียอดการจำหน่ายติหมาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 16,000 ใบ และนอกจากนั้น ได้เกิดเครือข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์ใบจากในชุมชนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เมื่อรวมรายได้จากเครือข่ายผู้รับเทคโนโลยีตู้อบใบจากจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สามารถเกิดรายได้ในชุมชนได้แล้วกว่า 2,000,000 บาท ซึ่งจะส่งผลให้เกิดช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายยอดทอง ชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียนได้อย่างยั่งยืน

ผศ.นพดล โพชกำเหนิด กล่าวว่า ตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์ มีกระบวนการทำงานโดยใช้พลังงานจากแสงแดด ใช้หลักการไหลเวียนอากาศร้อนเพื่อระบายความชื้นด้วยพัดลมระบายความร้อนโดยใช้โซลาร์เซลล์ พร้อมติดตั้งเครื่องวัดความชื้นและอุณหภูมิ สามารถกระจายความร้อนได้อย่างสม่ำเสมอ หากฝนตกสามารถเคลื่อนย้ายได้ จุดเด่นของตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์คือ สามารถอบใบจากให้แห้ง โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ผลิตใบจากแห้งได้เฉลี่ย 2,000-3,000 ใบ ต่อรอบ สามารถนำไปผลิตเป็นติหมาครั้งละ 100-200 ใบ การผลิตตู้อบเพื่อผลิตติหมาสามารถลดขยะจากเศษใบจากที่เหลือจากกระบวนการผลิตใบจากสูบ เพื่อนำมาผลิตเป็นติหมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถลดขยะจากการผลิตใบจากสูบในชุมชนได้ประมาณ 1.8 ตัน ต่อปี สร้างความตื่นตัวในการสร้างรายได้จากภูมิปัญญาของชุมชน ส่งผลให้ภูมิปัญญาในการผลิตติหมาได้ถูกถ่ายทอดต่อไปให้แก่คนรุ่นใหม่ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเกิดเครือข่ายผู้ผลิตติหมาในชุมชนกว่า 100 คน สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และชุมชนได้เล็งเห็นถึงการขยายผลเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้สนใจในชุมชนต่อไป

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ผศ.นพดล โพชกำเหนิด อาจารย์หลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ 0-7520-4070