เลื่อนนำเข้า “กาแฟนอก” 1 เดือน หวั่นกระทบชาวไร่

คณะกรรมการพืชกาแฟเคาะฤดูนำเข้า ปี 2562 ขยับ 1 เดือน หวั่นกาแฟนอกเข้าตีตลาดทำกาแฟไทยราคาตก คาดปี 2562 ผลผลิตกาแฟไทยรวม 30,000 ตัน นำเข้าเพิ่ม 58,000 ตัน ชสท. เผยบริษัทแปรรูปกาแฟใหญ่รุมท้วงผู้นำเข้ากาแฟนอก วอนช่วยเกษตรกรในประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งตั้งคณะกรรมการหารือรายละเอียดวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

นายนัด ดวงใส กรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตร และที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการพืชกาแฟ โดยอธิบดีกรมการเกษตร เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้มีการขออนุญาตนำเข้ากาแฟได้ในเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2562 จากที่ปกติให้มีการนำเข้าได้ในเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน เพราะกาแฟที่ปลูกในประเทศไทยน่าจะยังไม่สามารถขายออกได้หมด ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ราคากาแฟตกต่ำลงได้หากอนุญาตให้นำเข้าในช่วงเวลาเดิม

สำหรับปริมาณผลผลิต ปี 2562 คาดว่ากาแฟที่ปลูกในไทย จะมีรวมกันกว่า 30,000 ตัน เป็นอราบิก้า 17,000-18,000 ตัน ซึ่งได้รับการส่งเสริมการปลูกอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรบัสต้า มีปริมาณ 15,000 ตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกลดลงจากการเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนและปาล์มน้ำมัน โดยต้องขออนุญาตนำเข้าอีกประมาณ 58,000 ตัน จากภาพรวมการบริโภค 87,000-88,000 ตัน

ทั้งนี้ สถานการณ์กาแฟ ปี 2561 ซึ่งเพิ่งผ่านช่วงเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาด มีราคาในช่วงแรก ประมาณ 65 บาท/กก. ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และในช่วงโค้งสุดท้ายหรือเดือนเมษายน 2562 คาดว่าราคาจะขยับขึ้นมาที่ ราคา 70-72 บาท/กก. หรือเท่ากับราคาสูงสุดในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบของกาแฟที่ผลิตในประเทศไทย คือ มีคุณภาพ และความหนาแน่น เช่น การผลิตกาแฟสเตย์ดราย 1 กก. จะใช้กาแฟที่ผลิตในประเทศเพียง 5 กก. ต่างจากกาแฟที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้กาแฟ 6-6.50 กก. ต่อกาแฟสเตย์ดราย 1 กก.

นายนัด กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ บริษัทผู้แปรรูปกาแฟขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งรับซื้อกาแฟจากเกษตรกร ได้มีข้อโต้แย้งถึงกลุ่มบริษัทผู้นำเข้ากาแฟสำเร็จรูป กาแฟคั่วบด เพื่อแปรรูปในประเทศ เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้รับซื้อกาแฟจากเกษตรกรไทย โดยทางปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหารือถึงรายละเอียดมาตรการในการจัดเก็บรายได้กับผู้นำเข้ารายดังกล่าว เพื่อมาสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟ

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากวงการผู้ปลูกกาแฟ เปิดเผยว่า มีผู้ลักลอบนำเข้ากาแฟตามแนวพรมแดน สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งจะถูกกว่ากาแฟของไทย ประมาณ 6-10 บาท/กก. และเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ ทำให้อาจเข้ามาแย่งชิงตลาดกาแฟของเกษตรกรไร่กาแฟในประเทศไทย