ชาวสวน “เมืองตรัง” ทำสวนผสมลดรายจ่าย-สร้างรายได้ แก้วิกฤติราคายาง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ชาวสวนยางพาราเมืองตรังหันทำเกษตรแบบไร่นาผสมหลังราคายางตกต่ำ สร้างรายได้ปีละ 5 แสนบาท ขณะที่บางรายตัดสินใจโค่นยางบางส่วนนำไม้ไปขาย ทิ้งไว้แต่ตอไม้ยางไว้ทำค้างปลูกเสาวรสแทน สามารถทำเงินได้นับพันบาทต่อวัน


นายยุทธพงศ์ คงรอด ผู้จัดการสวนปันสุข เลขที่ 129/1 ต.น้ำผุด อ.เมืองตรัง จ.ตรัง เปิดเผยว่า จากปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดราคาน้ำยางสดมาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 32 บาท (ข้อมูลวันที่ 16 พ.ย.) ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เพราะขณะนี้ขายยางพารา 3 กิโลกรัม จึงจะซื้อหมู 1 กิโลกรัมได้ ดังนั้นชาวสวนยางจึงพากันหันไปประกอบอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า สำหรับตนเมื่อก่อนนั้นมีอาชีพทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว หลังราคายางตกต่ำต่อเนื่องทำให้รายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้ตนต้องหาอาชีพอื่นเสริม แต่ตนคิดต่างจากคนอื่นๆ ตรงที่ว่าตนได้ใช้พื้นที่ของตนเอง จำนวน 13 ไร่ แบ่งเป็นส่วนๆ ในการทำเกษตรผสมผสาน มีการใช้พื้นที่ปลูกยางพารา เลี้ยงปลา ทำนา ทำสวนพริกไทย และพืชผักสวนครัว เรียกว่าปลูกทุกอย่างที่กินได้ นอกจากจะนำผลผลิตมาใช้บริโภคในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่าย ส่วนที่เหลือก็นำออกจำหน่ายให้เพื่อนบ้านและตลาดในชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้มีรายได้จากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปีละประมาณ 4-5 แสนบาท

“นอกจากนี้ ผมยังใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ โดยให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง นำนักเรียน บุตรหลาน มาเรียนรู้ชีวิตเกษตรกร โดยมีการสอนการปลูกต้นไม้ การทำไข่เค็ม การทำสบู่ การวาดภาพ และที่น่าสนใจคือ ให้เด็กๆ ที่มาศึกษาดูงานได้ดำนาด้วย ทั้งนี้เด็กที่มานั้นต้องลงมือทำเองทุกสิ่งที่เรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจในชีวิตเกษตรกร และเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่นักเรียนได้ลงมือทำและเห็นของจริง ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าการเรียนในห้องเรียน เพราะการที่เด็กๆ เห็นและสัมผัสของจริงนั้นจะทำให้เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก อีกทั้งผู้ปกครองก็มีความพึงพอใจที่บุตรหลานได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตนเอง ผมคิดว่าทางรอดของเกษตรกร ณ เวลานี้คือ การหันมาทำไร่นาแบบผสมผสาน เพราะจะช่วยลดรายจ่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี”


ด้าน นายเฉลิม ศรีสุข อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 256 หมู่ที่ 3 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง เปิดเผยว่า ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาจากราคายางพาราตกต่ำ ทำให้มีรายได้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจโค่นต้นยางพาราอายุ 15 ปี ในพื้นที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งเป็นยางเปิดกรีดมาประมาณ 8 ปี ทั้งๆ ที่ยางพารามีอายุการกรีดน้ำยางกว่า 27 ปี โดยนำไม้ยางพาราส่วนหนึ่งไปขาย เหลือไว้เฉพาะตอไม้ยางพารา ความสูงประมาณ 1.5-2 เมตร เพื่อทำเป็นค้างไว้สำหรับปลูกต้นเสาวรส ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกตาเป็นอย่างมากเพราะยังไม่มีเกษตรกรคนไหนที่ใช้ตอไม้ยางพารามาทำเป็นค้างปลูกต้นเสาวรส

และเมื่อหันมาใช้พื้นที่ว่างปลูกต้นเสาวรสมาประมาณปีกว่าๆ โดยได้ซื้อหาพันธุ์มาเอง ทางรัฐบาลไม่ได้มาหนุนเสริมแต่อย่างใด การปลูกต้นเสาวรสก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ผลผลิตที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีไม่พอขาย จึงตัดสินใจโค่นต้นยางเพื่อมาปลูกต้นเสาวรสแทน ซึ่งตนได้คิดทำแบบนี้คนแรก เพราะหากซื้อเสาปูน ตกเสาร้อยกว่าบาท ซึ่งต้องใช้หลายเสาและต้องลงทุนเยอะ จึงยอมโค่นต้นยางพาราทิ้ง

“ตอนนี้ปลูกเสาวรสจะดีกว่ากรีดยางพาราแน่นอน เพราะสามารถเก็บเสาวรสขายได้ตลอด แม้จะเข้าช่วงหน้าฝนก็ตาม ต่างกับการกรีดยางที่พอฝนตกก็ไม่สามารถกรีดยางได้ อย่างน้อยขายเสาวรสมีรายได้ต่อวันละ 500-1,000 บาท ส่วนกรีดยางพาราในแต่ละวันมีรายได้แค่ 100 บาท เท่านั้น โดยผมเองจะขายเสาวรสอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 40 บาท เสาวรสที่ผมปลูกเป็นพันธุ์สีม่วง ประมาณ 200 ต้น นอกจากจะปลูกเสาวรสแล้ว ยังมีมะม่วงหาวมะนาวโห่ พร้อมเตรียมวางแผนปลูกทุเรียนไว้อีกด้วย สามารถทำรายได้มาจุนเจือครอบครัวเป็นอย่างดี”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์