ชาวสวนดันรัฐตั้งบริษัทร่วมทุน 4 ประเทศ ซื้อขายยางจริงคานตลาดล่วงหน้าเอเชีย

ภาคีเครือข่ายชาวสวนยางปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยเสนอรัฐตั้งบริษัทร่วมทุนซื้อขายส่งมอบยางจริงกับ 4 ประเทศ หวังรับซื้อยางให้ใกล้เคียงต้นทุนการผลิต คานอำนาจตลาดล่วงหน้าของต่างประเทศ ด้าน “เพิก เลิศวังพง” ชี้รัฐทุ่ม 2 หมื่นล้าน อุ้มชาวสวนยาง จ่ายเงินอุดหนุนชาวสวน ชดเชยส่วนต่างราคาให้ผู้ส่งออก เป็นการแก้ปัญหาไม่ยั่งยืน จี้บอร์ดและผู้ว่าการ กยท. ลาออก

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลการหารือกับ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นี้ ในการแก้ไขราคายางพาราตกต่ำว่า ทางภาคีเครือข่ายได้เสนอการแก้ปัญหายางตกต่ำ โดย

  1. ให้รัฐตั้งบริษัทร่วมทุนกับ 4 ประเทศผู้ผลิต คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ตั้งตลาดซื้อขายส่งมอบยางจริงเพื่อซื้อขายยางให้ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต กก. ละ 63.65 บาท ของกระทรวงเกษตรฯ และคานกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคา

2. ให้ กยท. นำ พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดการบิดเบือนค่าบริหารต้นทุนน้ำยางสดไปเป็นยางแผ่นดิบ กก. ละ 3 บาท และยางแผ่นดิบไปเป็นยางแผ่นรมควัน กก. ละ 4 บาท ผู้ซื้อที่ฝ่าฝืนต้องลงโทษจำคุกหรือยึดใบอนุญาตการค้า

3. ให้ตรวจสอบเงินของธุรกิจ บียู ของ กยท. ที่หายไป 94 ล้านบาทเศษ ในฐานะที่เป็นนายหน้าขายยางให้บริษัทเอกชน แต่เงินไม่เข้า กยท.

ในส่วน 2 มาตรการระยะสั้นที่กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 พ.ย. นี้ โดยจะชดเชยเยียวยาชาวสวนยางไม่ต่ำกว่า ไร่ละ 1,500 บาท กับมาตรการชดเชยให้ผู้ซื้อยางที่ซื้อยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด กก. ละ 2-3 บาท เพื่อให้ราคายางเข้าใกล้ กก. ละ 40 บาทว่า ขอให้เลื่อนการเสนอเข้า ครม. ออกไปก่อน 7 วัน เพื่อหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร ให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย เช่น คนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. สมควรได้รับการเยียวยาด้วย รวมทั้งชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน แต่อยู่ในที่ดินมานาน 50-70 ปีแล้ว มีใบ ภบท.5 เสียภาษีให้ท้องถิ่น แต่กรมป่าไม้และกรมต่างๆ กลับมาประกาศเป็นเขตป่าไม้ เขตอุทยานฯ ควรให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มารับรองกลุ่มชาวสวนยางกลุ่มนี้ที่จะได้รับการเยียวยาด้วย

ทางด้าน นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางทั้ง 2 มาตรการ คณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้ว่าการ กยท. ทำขึ้นมาเสนอรัฐให้ช่วยเหลือเกษตรกร 2 หมื่นล้านบาท เหมือนหมดทางออกในการแก้ปัญหายางแล้ว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปีหน้าปัญหาก็จะกลับมาอีก ดังนั้น บอร์ดและผู้ว่าการ กยท. ควรลาออกทั้งหมด เพื่อให้ผู้ที่ต้องการแก้ไขได้จริงเข้ามาบริหาร กยท.

กยท. ควรเข้ามาสำรวจศักยภาพของสหกรณ์ยางพาราทั่วประเทศอย่างจริงจัง เพื่อจัดลำดับชั้นการช่วยเหลือได้ตรงจุด เพื่อยกระดับและสร้างเครือข่ายการผลิตยางที่ได้มาตรฐาน ว่ามีปริมาณพร้อมขายได้จำนวนเท่าใด เพื่อให้ผู้ซื้อทั่วโลกสามารถเปิดเข้ามาดูในเว็บไซต์และซื้อยางแต่ละประเภทจากสหกรณ์ต่าง ๆ ได้โดยตรง เพราะในขณะนี้ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทยถูกเทกโอเวอร์กิจการจากบริษัทจีนข้ามชาติรายใหญ่หลายราย บริษัทจีนเหล่านี้จึงสามารถกำหนดปริมาณ ราคารับซื้อจากไทยและไปขายให้ผู้ซื้อในจีนจำนวนมากในราคาที่ต้องการเท่าใดก็ได้ เท่ากับสามารถกำหนดทิศทางราคายางของโลกได้ เนื่องจากทุกวันนี้จีนเป็นผู้รับซื้อยางรายใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ รัฐต้องใช้เงินสนับสนุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางของไทยอย่างจริงจัง ทั้งเทคโนโลยีการผลิตป้อนเอกชนไทยผลิตยางรถยนต์ ยางตันที่ใช้ในรถโฟร์กลิฟต์ ถุงมือแพทย์ ฯลฯ เพราะการดึงทุนจากต่างประเทศมาตั้งโรงงานในไทย ไทยแทบไม่ได้อะไรเลย ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี แรงงานก็เป็นต่างด้าวหรือใช้หุ่นยนต์ ในขณะที่สนับสนุนสิทธิประโยชน์มากมายทั้งด้านภาษีและสาธารณูปโภคต่างๆ หากทำได้จะช่วยลดการผูกขาดการรับซื้อยางของทุนต่างชาติลง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์