กล้วยไม้ในเมืองไทย

กล้วยไม้ เป็นพืชที่มนุษย์รู้จักกันดีมานาน ในโลกมีกล้วยไม้หลากหลายสกุลและชนิดพันธุ์ในธรรมชาติพบมาแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ชนิด โดยเฉพาะในเขตอบอุ่นและเขตร้อน บริเวณทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา เป็นแหล่งกล้วยไม้ที่มีความหลากหลายมากที่สุด

คำว่า “กล้วยไม้” ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Orchid มาจากคำในภาษากรีก ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “มีลักษณะโปร่งคล้ายต่อม” ซึ่งหมายถึงลักษณะลำลูกกล้วยอันเป็นส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ แต่ก็มีกล้วยไม้หลายชนิดที่ไม่มีลำลูกกล้วย

กล้วยไม้ เป็นต้นไม้ที่มีระบบรากสำหรับหาอาหารเช่นเดียวกับต้นไม้ชนิดอื่น การที่เกาะบนต้นไม้เป็นการเกาะเพื่อเป็นการอิงอาศัย ไม่ใช่เป็นพวกกาฝากที่กินอาหารและน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ที่เกาะ ซึ่งเป็นการทำให้ต้นไม้นั้นทรุดโทรม กล้วยไม้เพียงแต่เกาะกับเปลือกของลำต้นเพื่ออาศัยอาหารและความชื้นจากเปลือกไม้ โดยอาศัยเชื้อราที่มีอยู่บนราก ช่วยเปลี่ยนอินทรียวัตถุที่หมดสภาพแล้วให้เป็นอนินทรียสาร เพื่อนำไปเป็นอาหาร

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แสดงถึงความสัมพันธ์ทางด้านลมฟ้าอากาศ พืชพรรณ การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น (Humid Tropic) ทางซีกโลกเหนือ ซึ่งอยู่ในแนวตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ จึงทำให้มีอุณหภูมิสูงตลอดทั้งปี ไม่มีเดือนใดอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส พืชพรรณธรรมชาติจึงเป็นประเภททุ่งหญ้าในเขตร้อน แต่มีปริมาณความชื้นสูง เนื่องจากอยู่ในเขตมรสุม ภูมิอากาศจึงเหมาะในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้

ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันท์ และ ศาสตราจารย์ Gunnar Seidenfaden นักการทูต และนักพฤษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ค้นพบกล้วยไม้ในประเทศไทย จำนวน 177 สกุล (Genus) และจำนวน 1,125 ชนิด (Species) ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จนถึง พ.ศ. 2543 ในช่วงเวลา 41 ปีนี้ ถือเป็นยุคที่สำรวจกล้วยไม้พันธุ์แท้ในประเทศไทย แล้วนำเสนอสู่สายตาชาวโลกอย่างสมบูรณ์แบบ

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย ภาพจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในยุคของ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย เป็นการนำกล้วยไม้ในป่ามาพัฒนาสายพันธุ์และพัฒนาการปลูกเลี้ยง จนชื่อเสียงในการนำกล้วยไม้มาพัฒนาในเชิงการค้าก็ประจักษ์ แก่สายตาชาวโลก ในปี พ.ศ. 2507 กล้วยไม้ช้างหลายร้อยต้น จากการพัฒนาของท่านได้มีโอกาสจัดให้ สมเด็จพระราชาธิบดีและพระราชินีแห่งเบลเยียม เสด็จทอดพระเนตรที่จังหวัดเชียงใหม่ตามพระราชประสงค์ รวมถึงการเผยแพร่กล้วยไม้ช้างแดงลูกต้น ขุนรัตน์ ไปต่างประเทศ ยิ่งเป็นการนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยให้เด่นชัดขึ้นในการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้

กล้วยไม้ช้าง

การค้นพบกล้วยไม้จำนวนมากมายหลายชนิดในประเทศไทย ทำให้เรารู้และหวงแหนในทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง ซึ่งถูกละเลยไป ซึ่งกล้วยไม้บางชนิดพบเฉพาะในประเทศไทยแหล่งเดียว ซึ่งเรียกว่า กล้วยไม้เฉพาะถิ่น หรือ กล้วยไม้ถิ่นเดียว (endermic orchid) ในประเทศไทยมีประมาณ 175 ชนิด ถ้าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ก็หมายถึงสูญพันธุ์ไปจากโลก สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการค้นพบ คือเมื่อมีของสวยงาม ก็เกิดความต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งนำไปสู่การแสวงหากล้วยไม้ในป่าอย่างไม่จำกัดแบบถอนรากถอนโคน

มีการนำกล้วยไม้ออกจากป่าจำนวนมากมายมหาศาลจำหน่ายไปยังต่างประเทศในราคาถูก เพื่อมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์เล็กน้อย ซึ่งเทียบค่ากันไม่ได้เลยกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าเหมือนประชาชนประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมองไม่เห็นอนาคตอันยาวไกลทั่วๆ ไป ด้วยจำนวนที่ส่งออกไปมาก ทำให้การคัดเลือกต้นพันธุ์ที่สวยงามกว่าเป็นไปได้ง่าย

หลังจากนั้น ประเทศไทยได้ถูกผลักดันให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พืช จึงมีผลทำให้การส่งออกกล้วยไม้ป่าสิ้นสุดลง กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการผลักดันไปสู่การพัฒนาสืบต่อ เมื่อประชาชนในประเทศตระหนักถึงการสูญเสียทรัพยากรกล้วยไม้ในป่า ก็หันมามุ่งในการอนุรักษ์ คัดเลือก และพัฒนาพันธุ์ แต่นั่นก็เริ่มสายเสียแล้วเนื่องจากไม่สามารถคัดเลือก พันธุ์ได้จากในธรรมชาติอีก โดยคู่แข่งมีต้นพ่อแม่พันธุ์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ในประเทศของเราปัญหาและอุปสรรคในด้านกฎหมาย ก็เป็นปัญหาอุปสรรคทางด้านกฎหมาย แต่ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ กล้วยไม้ที่สวยงามเราเห็นกันในปัจจุบันล้วนเป็นการพัฒนาหลังการมีข้อกฎหมายในการอนุรักษ์แทบทั้งสิ้น

 

การคัดเลือกและการพัฒนาเป็นการยับยั้งการหากล้วยไม้มาจากป่าได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากสำหรับนักเล่นกล้วยไม้แล้ว กล้วยไม้ที่ได้รับการคัดพันธุ์และพัฒนาพันธุ์เป็นกล้วยไม้ที่น่านำมาปลูกเลี้ยงมากกว่ากล้วยไม้มาจากป่า เพราะมีความสวยงามแตกต่างกันมาก โดยเราจะเสียเวลาเลี้ยง ปุ๋ยยาเท่ากัน แต่คุณภาพของกล้วยไม้ต่างกัน

การลักลอบนำกล้วยไม้ป่าออกจากธรรมชาติเพื่อปลูกเลี้ยง แต่ความรู้ความเข้าใจในการปลูกเลี้ยงมีไม่เพียงพอ จึงทำให้กล้วยไม้ดังกล่าวไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ ราว 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็เพียงสามารถอยู่ได้ไปสักระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้าย การอยู่รอดไม่ถึง 1%

กล้วยไม้ดินเป็นกล้วยไม้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงกว่ากล้วยไม้อากาศมาก เนื่องจากสามารถเก็บได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องปีนป่าย การถอนต้น หรือขุด ก็สามารถนำออกมาจากป่าได้ไม่ยาก การแผ้วถางทำการเกษตรที่ใช้การไถพรวน ก็เป็นการทำลายกล้วยไม้ดินได้มากเช่นกัน แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าการใช้ยาฆ่าหญ้า จะเป็นการทำลายโดยไม่ให้โอกาสกล้วยไม้ดินงอกได้อีกเลย การตัดไม้ทำลายป่าซึ่งทำให้สภาพนิเวศของธรรมชาติแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ชนิดนั้นเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการสูญพันธุ์อย่างมากเช่นกัน

เอื้องชมพูไพร

กล้วยไม้ป่าที่วางขายกันที่ตลาดนัดจตุจักร หรือตามแผงค้ากล้วยไม้ป่าทั่วไป ในปัจจุบันนำมาจากประเทศเพื่อนบ้านเรา ทางภาคใต้ เข้ามาทางด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทางภาคเหนือ เข้ามาทางด่านท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงราย หรือทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาทางช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี สุวรรณเขต จังหวัดมุกดาหาร ท่าแขก จังหวัดนครพนม ช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น กล้วยไม้ที่นำมาจากป่าเมืองไทยมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้ามาจากต่างประเทศ บางครั้งก็มีการคิดเข้าข้างตัวเองเหมือนกันว่า ไม่ได้ทำลายกล้วยไม้ของไทยเอง

การจับกุมการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่า จากตลาดนัดจตุจักรก็ดี หรือจากแหล่งค้าไม้ป่าอื่น แล้วนำไปให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเลี้ยง โดยขาดแคลนทั้งงบประมาณและสถานที่ รวมถึงบุคลากรที่ไม่มีใจรักทางด้านนี้ แต่ต้องทำตามหน้าที่

การเก็บรักษาไว้ ก็เป็นการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดี รวมถึงกว่ากล้วยไม้เหล่านั้นจะมาถึงสถานที่เลี้ยงก็มีสภาพเหมือนคนไข้อยู่ในห้อง ไอซียู ก็ไม่ผิด แล้วจะเลี้ยงกล้วยไม้เหล่านั้นให้รอดได้อย่างไร โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความรู้ความชำนาญที่ขาดมากกว่านั้นคือ ใจซึ่งรักกล้วยไม้เป็นทุนเดิม เพราะเราซื้อกล้วยไม้ป่ามาเลี้ยงด้วยใจรักแท้ๆ ประคบประหงมอย่างดี ยังไม่อยากจะอยู่กับเราเลย นับประสาอะไรกับคนที่ไม่รัก

กล้วยไม้เลี้ยงยากนักหรือไง ก็อุตส่าห์เลี้ยงดูอย่างดียังตายเสียได้ ขอตอบคำถามนี้ว่า ที่เราเลี้ยงดูอย่างดีเป็นการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องตรงกับนิสัยของกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ เช่น กล้วยไม้ชนิดนี้ไม่ควรใส่วัสดุปลูก ยังไปใส่วัสดุปลูก พอความชื้นมากๆ ก็เลยเน่า กล้วยไม้ชนิดนี้ต้องใส่วัสดุปลูกกลับไม่ใส่อะไรเลย มันก็เลยแห้งลงๆ

กล้วยไม้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าความสวยงามด้านจิตใจ บางชนิดสามารถทำเป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคได้ ค่อยๆ หมดไปจากป่าในธรรมชาติเรื่อยๆ นอกจากการเก็บกล้วยไม้ป่ามาขายแล้ว การตัดไม้ทำลายป่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการทำลายความสมดุลทางสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกล้วยไม้

จึงขอฝากเป็นข้อคิดไว้สำหรับผู้รักธรรมชาติทุกคนตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเราไม่เพียงแต่กล้วยไม้ ไว้สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

ศัพท์กวนๆ ของชาวสวนกล้วยไม้

– ไม้ป่า

หมายถึง กล้วยไม้ที่เก็บออกมาจากป่าแล้วนำมาปลูกเลี้ยง โดยพยายามจัดให้กลมกลืนกับกล้วยไม้ในสวนให้มากที่สุด คำที่ถูกต้องที่สุดจะเรียกว่า กล้วยไม้ป่า แต่ก็ตัดคำว่า กล้วย ออก ทำให้เรียกได้คล่องปาก เช่น คำว่า “ผมชอบไม้ป่า เพราะว่าราคาไม่แพง”

ใครพูดคำนี้จะต้องโดนสวนทุกคนว่า “ชอบไม้ป่าเดียวกัน หรือชอบคนละป่า” เฮ้ย! ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ผมหมายถึงผมชอบกล้วยไม้ป่า อ้าว!…งั้นก็แล้วกันไป ปัจจุบันไม้ป่าที่วางขายกันเกลื่อนบ้านอยู่ส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ เพราะสภาพป่าไม้ของเมืองเขายังอุดมสมบูรณ์อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ของคนที่อยู่ใกล้ป่า อาชีพหาของป่ามาขาย อะไรขายได้เป็นเก็บ ไม่ต่างกับบ้านเราเมื่อ 20-30 ปีก่อน เดี๋ยวนี้คนบ้านเราเลิกรากันไปเกือบหมด แต่คงไม่ใช่เกิดสำนึกอนุรักษ์อะไรหรอก ของในป่ามันหมด