ชาสมุนไพร “หอมแดง” ของดี ยางชุมน้อย ศรีสะเกษ

คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนอง การแก้ปัญหาและพัฒนาตามโจทย์สำคัญระดับจังหวัดในมิติเศรษฐกิจและอาชีพ และตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อน Thailand 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ Smart Enterprises และ Startups บริษัทเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง 

ซึ่งผลิตภัณฑ์ “ชาหอมแดง” จากผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.) โดย อาจารย์จิรายุ มุสิกา และคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างผลงานวิจัยที่เข้าไปช่วยเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ Smart Enterprises และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “หอมแดง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ

“หอมแดงยางชุมน้อย” ดีที่สุดในโลก

หอมแดง เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะอำเภอยางชุมน้อย มีพื้นที่ปลูกหอมแดงมากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบัน อำเภอยางชุมน้อย มีพื้นที่ปลูกหอมแดง ประมาณ 14,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 42,000 ตัน สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษไม่ต่ำกว่าปีละ 200-300 ล้านบาท  อำเภอยางชุมน้อยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยราชการ จัดงาน “งานหอมแดง กระเทียมดีที่ยางชุมน้อย” เป็นประจำในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดหอมแดง ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

หอมแดง ของอำเภอยางชุมน้อยได้รับการยกย่องว่า มีคุณภาพดีเป็น อันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีคุณลักษณะพิเศษ ที่พูดกันติดปากว่า ผิวมัน หัวแห้ง สีแดงสด คอเล็กเรียว กลิ่นฉุนแรง สามารถเก็บรักษาคุณภาพได้ยาวนาน

หอมแดง พืชเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ

เกษตรกรในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อยนิยมปลูกหอมแดงหลังฤดูทำนา โดยเริ่มปลูกหอมแดงตั้งแต่เดือนกันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของทุกปี สำหรับ ปี 2561 เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงได้ผลผลิตคุณภาพดีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้หอมแดงลงหัวได้ดี ได้ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 กิโลกรัม เกษตรกรบางรายลงทุนปลูกหอมแดงเพียงแค่ 10 ไร่ สร้างรายได้กว่า 1 ล้านบาท

แขวนหอมแดงผึ่งลม เพื่อให้ได้หอมแดงคุณภาพดี
บรรยากาศการขายหอมแดงที่จังหวัดศรีสะเกษ

ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อยเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า พวกเขาพยายามยกระดับคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น “หอมแดงโมเดล” มีการตั้ง “โรงเรียนหอมแดง” ประจำหมู่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรดูแล ตรวจสอบคุณภาพซึ่งกันและกัน มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกหอมแดง กับสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูกหอมแดงคุณภาพ GAP และลดการใช้สารเคมี หอมแดงมีอายุการปลูกจนเก็บเกี่ยว 70-75 วัน ถูกนำมาตากแขวนหอมแดงผึ่งลม 14 วัน เพื่อให้มีคุณภาพดี หอมแดงศรีสะเกษมีหัวใหญ่ เนื้อแห้ง สีแดงสด คอเล็ก สามารถขายได้ราคาดี เพราะเป็นสินค้าเกรดเอที่ตลาดต้องการ

งานวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม

“หอมแดง” ตกเกรด

เนื่องจาก หอมแดง เป็นพืชที่เสียหายง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน เพราะเป็นพืชอวบน้ำ และมักจะประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำ ในทุกฤดูกาลผลิต เมื่อเกษตรกรนำผลผลิตออกจำหน่ายพร้อมๆ กัน ที่ผ่านมาเกษตรกรมีความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในลักษณะ “หอมเจียว” ปรากฎว่าขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดแต่เนื่องจากมีขั้นตอนวิธีทำที่ยุ่งยาก จึงไม่นิยมทำกัน ปัจจุบันมีผู้แปรรูปหอมเจียวเพียง 1-2 ราย เท่านั้น

กลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี หมู่ที่ 6 ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม คือ นางวิลาวัณย์ แก้วคำ พวกเขามีอาชีพปลูกหอมแดงปลอดสารพิษหลังฤดูทำนา แต่เจอปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเป็นประจำทุกปี จึงมองหาช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร คือ “ชาหอมแดง” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.)

อาจารย์จิรายุ มุสิกา โชว์ผลงานวิจัยชาสมุนไพร “หอมแดง”

อาจารย์จิรายุ มุสิกา และคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.) ได้ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี หมู่ที่ 6 เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาหอมแดงสมุนไพรจากหอมแดงตกเกรด หลังการเก็บเกี่ยวและพืชผักท้องถิ่น ตำบลคอนกาม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อความยั่งยืนของชุมชน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องการแปรรูปหอมแดงและพืชในท้องถิ่น ในลักษณะชาเพื่อสุขภาพ ที่มีสีใส กลิ่นหอม และเป็นสินค้าที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคณะวิจัยได้พัฒนากระบวนการแปรรูปชาหอมแดงแบบง่ายๆ ที่ชาวบ้านสามารถทำได้เอง โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย” อาจารย์จิรายุ กล่าว

ตัวอย่างวัตถุดิบสำคัญของชาสมุนไพร “หอมแดง”

ในเบื้องต้น ทีมนักวิจัยของ มรภ.ศก. ได้ศึกษาวิจัยการแปรรูปชาหอมแดงผสมกับพืชท้องถิ่น จำนวน 3 สูตร ก่อนนำมาคัดเลือกให้เหลือ 1 สูตร ที่ดีที่สุด โดยมีส่วนผสมดังนี้คือ ใบเตย ร้อยละ 50 หอมแดง ร้อยละ 30 ใบหอม ร้อยละ 30 และใช้หญ้าหวานเป็นสารให้ความหวาน ร้อยละ 0.1 เพื่อเพิ่มรสชาติให้กับผลิตภัณฑ์ โดยนำชาหอมแดงบรรจุในซองชา ขนาด 5 กรัม นำไปทดสอบกับผู้บริโภค จำนวน 100 คน ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และร้อยละ 90 ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ ในราคา 100 บาท ต่อขนาดบรรจุ 20 กรัม

วิธีทำ “ชาหอมแดง”      

ชาหอมแดง ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมวัตถุดิบสำคัญคือ หอมแดง ใบต้นหอม ใบเตย อย่างละ 500 กรัม ล้างให้สะอาด หั่นบาง ขนาด 2-3 มิลลิเมตร นึ่งด้วยน้ำเดือด 1-2 นาที โดยเกลี่ยวัตถุดิบให้ถูกไอน้ำร้อน ใช้อุณหภูมิประมาณ  80 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานประมาณ 20 วินาที หลังจากนั้นนำวัตถุดิบจุ่มลงในน้ำเย็นทันที ก่อนนำขึ้นผึ่งลมให้แห้งหมาดๆ

จากนั้นนำมาคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 20-30 นาที จนวัตถุดิบแห้ง และนำหอมแดง ใบหอม ใบเตยที่คั่วเสร็จแล้ว ไปอบด้วยลมร้อน ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที ก่อนนำวัตถุดิบทั้งหมดมาบดให้ละเอียด และบรรจุใส่ถุงชา ในอัตราส่วน หอมแดง 30% ใบหอม 20% ใบเตย 50% และเติมหญ้าหวานเพื่มเพิ่มรสชาติความหวานแทนน้ำตาลทราย

ชาสมุนไพร “หอมแดง” ดีต่อสุขภาพ

ชาหอมแดง เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะหอมแดงมีสารเคอร์ซิติน สารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง นอกจากนี้ สารฟลาโวนอยด์ในหอมแดงยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การบริโภคหอมแดงเป็นประจำ จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น สามารถป้องกันการติดเชื้อและช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ หอมแดงยังมีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ชาสมุนไพรหอมแดง ยังช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก ขับลม แก้ท้องอืดแน่น บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ บำรุงหัวใจ ดับกระหาย

ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพร “หอมแดง”
ข้อมูลโภชนาการของชาสมุนไพร “หอมแดง”

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรหอมแดงของกลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี กลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป และเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม รายละ 30,000-40,000 บาท ต่อเดือน ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มได้ร้องขอให้ทีมนักวิจัยของ มรภ.ศก. วิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม “หอมแดง” ในรูปแบบ “สมุนไพรชงอาบ” เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในอนาคต

หากใครมีข้อสงสัย หรือสนใจอยากซื้อสินค้าชาสมุนไพร หอมแดง สามารถติดต่อโดยตรงได้กับกลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี หมู่ที่ 6 บ้านเมืองแสน ตำบลคอนกาม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ โทร. 087-876-0541  รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน