“การปลูกละมุดเชิงการค้า”

ละมุดพันธุ์มะกอก

ละมุด จัดเป็นไม้ผลขนาดกลาง มีเส้นผ่าศูนย์กลางพุ่ม อยู่ระหว่าง 4-8 เมตร ไม่สลัดใบ ความสูงของต้นจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ อยู่ระหว่าง 9-15 เมตร ต้นแผ่กิ่งก้านสาขาแข็งแรง กิ่งเหนียวไม่หักง่าย ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจพบว่า แหล่งปลูกละมุด ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี รองลงมาคือสุโขทัย และนครราชสีมา ที่เหลือปลูกกระจัดกระจายอยู่ใน 31 จังหวัด ที่ผ่านมา ไทยเคยส่งออกละมุดแช่แข็งและผลละมุดสดไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บูรไน และยุโรป

สำหรับ ละมุด ที่ปลูกในเมืองไทย สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธุ์ผลเล็ก ได้แก่ พันธุ์มะกอก พันธุ์ปราจีน พันธุ์สีดา ส่วนพันธุ์ผลขนาดกลาง ได้แก่ พันธุ์กระสวยมาเล พันธุ์ดำเนิน พันธุ์นมแพะ และกลุ่มผลใหญ่ ได้แก่ พันธุ์กำนัน พันธุ์ ทช01 พันธุ์ CM19 พันธุ์สาลี่เวียดนาม และพันธุ์ตาขวัญ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่น-จุดด้อย ที่แตกต่างกันออกได้ ได้แก่

พันธุ์มะกอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ละมุดกรอบ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาติดี รสหวาน หอม กรอบ แต่มีขนาดผลเล็ก ผลมีลักษณะกลมเมื่อยังเล็กอยู่ เมื่อโตขึ้นก็จะค่อยๆ ยาวเหมือนผลมะกอก จัดอยู่ในกลุ่มขนาดผลเล็ก คือ 45 กรัม ต่อผล ผลมีผิวสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่จัด ผลสุกเนื้อในจะแข็งกรอบ มีสีน้ำตาลอมแดง เนื้อละเอียด ผิวไม่นิ่ม ให้ผลดก อายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน ผลสุกจัดความหวาน 17 องศาบริกซ์ เกษตรกรก็นิยมปลูกกันเป็นอาชีพมาก เพราะมีรสชาติดีและเป็นที่นิยมของตลาด

พันธุ์กระสวยมาเลย์ มีขนาดผลกลาง 150-250 กรัม ต่อผล รูปร่างผลยาวรี สีเปลือกค่อนข้างเหลือง ลักษณะเนื้อเมื่อสุกละเอียด ค่อนข้างเละ สีเนื้อน้ำตาลแดง อายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน

พันธุ์ CM19 จากประเทศมาเลเซีย นิยมเรียกกันติดปากว่า “ละมุดยักษ์มาเล” มีขนาดผลใหญ่ ประมาณ 200-300 กรัม ต่อผล ขนาดผลค่อนข้างโต ลักษณะผลมีทั้งรีและกลมในต้นเดียวกัน สีเปลือกผลน้ำตาลเข้ม เนื้อละเอียดสีน้ำตาล เนื้อละมุดจะไม่กรอบเมื่อสุก อายุเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน

พันธุ์ ทช.01 เกิดจากการคัดเลือกพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร พันธุ์ ทช.01 มีขนาดผลใหญ่เฉลี่ย 200 กรัม ต่อผล อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือน เมื่อสุกเนื้อจะไม่กรอบ สีเปลือกน้ำตาลเข้ม สีเนื้อในน้ำตาลแดง

พันธุ์ไข่ห่าน ขนาดผลใหญ่มาก ขนาดคล้ายกับไข่ห่าน เปลือกผลบาง เนื้อสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานเย็น มีปริมาณเนื้อมาก เมื่อสุกเนื้อค่อนข้างหยาบไม่แข็ง กรอบ ให้ผลได้ไม่ดก

ละมุดพันธุ์สาลี่เวียดนาม

โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตละมุดอย่างมีคุณภาพ โดย คุณสุรศักดิ์ วัฒนพันธุ์สอน และคณะ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย พบว่า การตัดแต่งทรงพุ่มละมุดทุกกรรมวิธี สามารถช่วยให้ผลผลิตที่มีผลขนาดใหญ่มากกว่าการไม่ตัดแต่งทรงพุ่มเลย วิธีการตัดแต่งแบบเปิดแกนกลางและการตัดแต่งแบบครึ่งวงกลม ทำให้ได้ผลผลิตละมุดมีขนาดผลโตขึ้นมากว่าการตัดแต่งทรงพุ่มแบบทรงเหลี่ยม และแบบฝาชีหงาย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ละมุดพันธุ์มะกอก ที่ปลูกจากกิ่งตอน หากใส่ปุ๋ยคอก ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในอัตรา 6-2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ในต้นละมุดอายุ 1-2 ปี จะทำให้ต้นละมุดมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และมีขนาดทรงพุ่มเพิ่มเร็วขึ้น ให้ผลผลิตมากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีที่อัตราต่ำกว่านี้ ให้ผลผลิตได้ในปีที่ 2

สวนละมุดที่สวรรค์โลก

ด้านการจัดการน้ำ พบว่า การให้น้ำต้นละมุดตั้งแต่เริ่มปลูก จะทำให้ละมุดมีการเจริญเติบโตได้ดี แตกตาดอกและตาใบมากขึ้น สำหรับต้นละมุดที่เพิ่งปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำทุกๆ วันในตอนเย็น ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาพความชุ่มชื้นของดินและสภาพแวดล้อมต่างๆ ส่วนต้นละมุดที่ให้ผลผลิตแล้ว การให้น้ำจะไม่มีผลกระทบต่อการออกดอกติดผลแต่อย่างใด

ถึงแม้จะทนต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ต้นละมุดก็ต้องการน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ละมุดออกดอกและดอกกำลังบาน ในช่วงที่ผลแก่และเริ่มจะสุก หากมีฝนตกจะทำให้ความหวานลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ยังจัดว่ายังหวาน เมื่อฝนเริ่มหาย อย่างไรก็ตาม การบังคับน้ำหรือการอดน้ำ ควรกระทำในช่วงหน้าหนาวในระยะผลแก่ก่อนจะทำการเก็บผล ประมาณ 20 วัน เพื่อเร่งให้ผลละมุดมีความหวานมากขึ้นและเนื้อกรอบ ส่วนการให้น้ำหรือบังคับน้ำเพื่อเร่งการออกดอกนั้น ไม่มีความจำเป็น เพราะละมุดมีนิสัยที่มีการติดดอกออกผลมากอยู่แล้ว

ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลออกไปในแต่ละรุ่น ต้นละมุดจะมีการสะสมอาหารพร้อมที่จะออกดอกติดผลได้ในรุ่นต่อไป ในช่วงฤดูแล้งนั้นควรจะให้น้ำเป็นระยะๆ อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง และก่อนจะหมดฤดูฝน เกษตรกรควรนำเศษหญ้ามาสุมโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดินไว้ให้นาน และช่วยไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน น้ำที่รดลงไปจะมีการระเหยออกมาน้อย ช่วยประหยัดน้ำ และประหยัดแรงงานในการให้น้ำได้อีกทางหนึ่ง