ชูโมเดล เส้นทาง R 10 Road of Paradise เชื่อมการท่องเที่ยว กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม

ความพยายามสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทยกับกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ตามกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS และ ASEAN ศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยแบบพัฒนา “โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศกลุ่ม CLMV” ค่อนข้างเห็นเป็นรูปธรรมเมื่อมีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “แนวทางการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่ม CLMV เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ผศ.ดร. จุฬาภรณ์ ขอบใจกลาง

ผศ.ดร. จุฬาภรณ์ ขอบใจกลาง อาจารย์ประจำศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า การสำรวจเส้นทางในโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวไทย เชื่อมโยง CLMV ว่า จากการสำรวจมีถึง 15 เส้นทาง ที่มีความเป็นไปได้ และมี 5 เส้นทางท่องเที่ยวที่มีความเป็นไปได้สูง คือ

เส้นทางที่ 1 เยือนถิ่น ไทโบราณ เวียง-เชียง-หลวง (เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ้ง หลวงพระบาง เวียงจันทน์)

เส้นทางที่ 2 Road of Paradise (บ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด เกาะกง สีหนุวิลล์ กำปอต เกียนยาง พนมเปญ)

เส้นทางที่ 4 มิตรภาพ 4 แผ่นดิน

เส้นทางที่ 3 ล่องเรือเที่ยวเกาะ (เกาะช้าง เกาะกูด จังหวัดตราด เกาะกง สีหนุวิลล์ กัมพูชา และ เกาะฟูก๊วก ท่าเรือเกิ่นเทอ ท่าเรือหวุงเต่า นครโฮจิมินห์ เวียดนาม)

เส้นทางที่ 4 มิตรภาพ 4 แผ่นดิน (สระแก้ว เสียมราฐ สตรึงเตรง เปลกู ฮอยอัน ดานัง เว้ สะหวันนะเขต มุกดาหาร)

เส้นทางที่ 5 วัฒนธรรม 3 แผ่นดิน ญวน ลาว ไทย (นครพนม ท่าแขก วิญห์ ฮานอย หลวงพระบาง วังเวียง เวียงจันทน์ หนองคาย อุดรธานี)

เลือกโมเดล : เส้นทาง Road of Paradise: R 10 (Southern Coastal Corridor Road)เป็นถนนเลียบชายฝั่งทะเล ไทย-เวียดนาม-กัมพูชา จาก ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์-กำปอต-พนมเปญ เพื่อทำการศึกษาเป็นโมเดลนำร่อง

ผศ.ดร. จุฬาภรณ์ ชี้แจงด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ คือรัฐบาลให้ความสนใจกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีแผนที่จะเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง ระยอง จันทบุรี ตราด สีหนุวิลล์ การเป็นฮับการดูงาน ในแผนพัฒนากลุ่มภาคตะวันออก แผนพัฒนา ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก รวมทั้งจังหวัดตราดเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ซึ่งการท่องเที่ยวจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งนโยบาย One Belt One Road ของจีน มีเป้าหมายการพัฒนาเชื่อมโยงกับกลุ่ม CLMV การลงพื้นที่ เส้นทาง R10 ได้นำคณะจาก หนองคาย มุกดาหาร นครพนม สกลนคร เลย ไปร่วมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์

และจัดเวทีนำเสนอ เส้นทาง R 10 ให้เห็นโมเดลของความร่วมมือภาครัฐและเอกชนพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง CLMV และเส้นทางใหม่ๆ อีก 4 เส้นทาง ในมิติการเชื่อมโยงร่วมมือกันให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการได้นำไปต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยว

คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยมีการพัฒนา ปี 2560 องค์การท่องเที่ยวโลกจัดอยู่ อันดับที่ 7 ทำรายได้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อันดับที่ 4 ของโลก 1.8 ล้านล้านบาท รองจากสหรัฐอเมริกา สเปน ฝรั่งเศส

ปัจจุบันเส้นทางท่องเที่ยวเดสติเนชั่นเดิมๆ นักท่องเที่ยวเริ่มอิ่มตัว อนาคตจำเป็นต้องพัฒนายกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น และเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ เชื่อมกับกลุ่มประเทศ CLMV จะเป็นการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวและประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่นเดียวกับการไปเที่ยวยุโรป

นักท่องเที่ยวจะเดินทางข้ามแดนต่อไปหลายประเทศ เช่นเดียวกับไทยต่อไปนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางต่อไปในกลุ่มประเทศ CLMV เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีภาคเอกชนลงทุน มีการกระจายรายได้ในชุมชนที่เส้นทางท่องเที่ยวผ่าน

ปัจจุบัน รัฐบาลสนับสนุนบ้านมีห้องพักไม่เกิน 4 ห้องนอน พักไม่เกิน 20 คน ทำเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวได้ และในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง นำค่าใช้จ่ายค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าที่พักแบบโฮมสเตย์ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน ปีละ 15,000 บาท

เส้นทางที่ 2R 10

อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมโยงทางน้ำ ตามที่เสนอใน R 10 จากเกาะฟูก๊วก-สีหนุวิลล์-ตราด สิ่งสำคัญ ความร่วมมือจากภาคเอกชน นักวิชาการ หน่วยราชการร่วมกันพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV

R 10 ประตูสู่ CLMV จีน กัมพูชา ตลาดใหญ่
ปลดล็อกใช้บอร์เดอร์พาส เข้า-ออก

คุณวิยะดา ซวง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด กล่าวว่า R 10 เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง CLMV มีความสำคัญทั้งการค้าและการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาภาคเอกชนและจังหวัดตราดได้ร่วมกันพัฒนา แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เริ่มต้นด้วยการทำข้อตกลงระหว่างจังหวัดตราดกับ 4 จังหวัด (ต่อมาเพิ่มพระตะบอง) ของกัมพูชา คือเกาะกง แกป สีหุวิลล์ โพธิสัตว์ และเกียนยางอีก 1 เมือง ของเวียดนาม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 เพื่อร่วมมือกันพัฒนาใน 3 เรื่อง คือ
1. ศูนย์รวมแห่งการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค
2. พัฒนาเส้นทางการค้าการลงทุนในเส้นทางสาย R 10 และ
3. พัฒนาฝีมือแรงงานให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

และด้วยศักยภาพของจังหวัดตราดที่มีเขตแดนติดต่อกับ 3 จังหวัดของกัมพูชา เกาะกง พระตะบอง โพธิสัตว์ ประชากรกัมพูชาร่วมประมาณ 2 ล้านคนเศษ และถ้าเชื่อมกับเวียดนามตอนใต้ ประชากร 46 จังหวัด ประชากร 36 ล้านคน ชาวกัมพูชา เวียดนาม ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงินในจังหวัดตราดและในประเทศไทยจำนวนมหาศาล

คุณวิยะดา ซวง

บวกกับสถานการณ์ปัจจุบันจีนบุกเข้ามาลงทุนที่เมืองท่องเที่ยวสีหนุวิลล์ของชาวกัมพูชา นำทัวร์คนจีนเข้ามา ทำให้ค่าครองชีพสูง ชาวกัมพูชามองหาที่เที่ยวแห่งใหม่ๆ ในไทย จังหวัดตราดเป็นด่านแรกที่ตั้งรับ และยังสามารถเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างนครวัดที่มีนักท่องเที่ยวปีละ 5 ล้านคน โอกาสที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาทางด้านประตูจังหวัดตราดเป็นไปได้สูง และทำรายได้จำนวนมาก

แต่ทุกวันนี้ยังมีปัญหาการข้ามแดน ทำให้เสียโอกาสที่จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่นี้ 2 เรื่องหลักๆ ที่จะช่วยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง R 10 คือ การบูรณาการงบประมาณหน่วยงานของรัฐหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาส่งเสริมให้ครอบคลุมทั้งด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง และการพัฒนาบุคลากร

และการแก้ปัญหาการเข้า-ออกนักท่องเที่ยวให้ได้รับความสะดวก จากต้องใช้พาสปอร์ต ณ จุดผ่านแดนถาวร ให้ใช้เอกสารบอร์เดอร์พาสชั่วคราวแทน ขณะเดียวกันควรเร่งการเปิดจุดผ่านถาวรที่บ้านท่าเส้น-โพธิสัตว์ ตามนโยบายรัฐบาล ที่ผ่านมาสูญเสียโอกาสที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาฝั่งไทย

สรุปมิติงานวิจัยศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา CLMV

“มูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดตราด ปี 2560 มูลค่า 34 ล้านบาท รายได้การท่องเที่ยว 17,000 ล้านบาท แต่ได้รับงบประมาณพัฒนาจังหวัด 900 ล้านบาท งบประมาณการพัฒนาการท่องเที่ยวควรเป็นภาพรวมใหญ่ของจังหวัดที่เร่งด่วน คือการปลดล็อกปัญหาเรื่องเอกสารการเข้า-ออก ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจากชายแดนด้านกัมพูชาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่เฉพาะด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้า การลงทุนจะเติบโตตาม เพราะนักท่องเที่ยวกัมพูชานิยมซื้อสินค้าไทยกลับไปจำนวนมาก การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว R 10 จะช่วยกระตุ้นการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราดด้วย เส้นทาง R 10 เชื่อมโยงกลุ่ม CLMV ที่สั้นที่สุด ทำแพ็กเกจทัวร์มาแล้ว คือเดินทาง 3 ประเทศ ภายใน 1 วัน คือ ตราด-พนมเปญ-ฮาเตียน หรือ ตราด-สีหนุวิลล์-ฮาเตียน จังหวัดเกียนยางเวียดนามใต้ ต่อไปภาคเอกชนจะวางแผนและทำงานแบบเครือข่าย 1 สภา 2 สมาคม คือ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด สมาคมโรงแรมและรีสอร์ตจังหวัดตราดและสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และเดือนตุลาคมนี้จะสำรวจเส้นทางล่องเรือเที่ยวเกาะ : เส้นทางสายอนาคต จากเกาะฟูก๊วก อัญมณีแห่งทะเลจีนใต้ที่มีเคเบิ้ลคาร์ยาวที่สุดในโลก-สีหนุวิลล์-เกาะกง-เกาะช้าง เกาะกูด (ตราด) เพื่อเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำอีกเส้นทางหนึ่ง” คุณวิยะดา กล่าว

ด้าน คุณกำธร อ่อนอินทร์ คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดตราดและกรรมการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวเสริมว่าเห็นด้วยที่ต้องแก้ไขปัญหาระดับนโยบายอย่างเร่งด่วน เพราะทำให้เสียโอกาสในด้านการค้า การท่องเที่ยว

ทั้งเรื่องเอกสารบอร์เดอร์พาสผ่านแดนของนักท่องเที่ยว การเร่งเปิดจุดผ่านแดนถาวร ทางด่านท่าเส้น อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด-บ้านทมอดา อำเภอเวียลเวียง จังหวัดโพธิสัตว์ แม้ว่ารัฐบาลอนุมัติให้เปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดได้

คุณกำธร อ่อนอินทร์

ด้านกัมพูชาพร้อมที่จะเดินทางเข้า-ออก เส้นทางจากจังหวัดโพธิสัตว์ ถึงบ้านทมอดา-ด่านท่าเส้น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อย จังหวัดโพธิสัตว์ มีประชากร 680,000 คน และเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว การค้ากับกัมพูชาได้ เช่น พนมเปญ-จังหวัดโพธิสัตว์ ระยะทาง 189 กิโลเมตร ถึงชายแดนช่องท่าเส้น 187 กิโลเมตร

กัมพูชาพร้อมที่จะเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อสินค้าจากฝั่งไทย และอนาคต R 10 ควรอำนวยความสะดวกการเดินทางโดยรถยนต์ข้ามแดนในกลุ่มประเทศ CLMVเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในยุโรป มีการพัฒนาสู่ระบบมาตรฐาน ใช้ระบบคิวอาร์โค้ด หรือ ID Card สแกนข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว

พัฒนาบุคลากรท้องถิ่นรองรับ

ดร. หลินฟ้า คูร์พิพัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ความเป็นไปได้ของเส้นทางท่องเที่ยว R 10 เชื่อมโยงกับประเทศกลุ่ม CLMV มีความเป็นไปได้สูง เพราะมีปัจจัยทั้งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ด้านเกษตรเมืองผลไม้ การท่องเที่ยวมีชายหาดทะเลใสสะอาด ระบบการขนส่งที่สะดวก ถนน 4 เลน ใช้เวลาน้อยกว่าด้านอรัญประเทศ-ปอยเปต

ดร.หลินฟ้า คูร์พิพัฒน์

การพัฒนาต้องใช้ทฤษฎีชวนกันทำ ภาคเอกชนสำคัญที่สุด ภาครัฐต้องบูรณาการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ปัญหาคือ ความพร้อมการเปิดประตูสู่ CLMV คือ ด้านการตลาด การรับซื้อสินค้าเกษตรที่จันทบุรีที่เป็นมหานครผลไม้ แหล่งการค้าสินค้า OTOP เรียนรู้ช่องทางการขายผ่านช่องทาง E3 commerce การค้า Online ระบบการขนส่งทางบกอาจจะไม่ต้องรอให้ถนน 4 เลนเสร็จ

ทางน้ำท่าเทียบเรือสำราญ การสร้างเครือข่าย การพัฒนาบุคลากรทางด้านภาษาและเทคโนโลยี ตำรวจท่องเที่ยว ภาคการศึกษา ต้องสร้างบุคลากรในท้องถิ่นเชื่อมโยงภูมิภาค สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ผลิตบุคลากรด้านภาษา อังกฤษ จีน กัมพูชา มัคคุเทศก์ที่ทำทัวร์ต้องเข้ามาร่วมพัฒนา ที่เร่งด่วนคือ การอนุมัติการลดหย่อนภาษีให้นักท่องเที่ยวที่มาจับจ่ายซื้อของ เพราะสินค้าไทยเป็นที่ต้องการของชาวกัมพูชาและเวียดนาม โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า

วงเสวนาเส้นทาง R 10

ต้นแบบโมเดล เส้นทาง R 10 เส้นทางเชื่อมโยงไทยกับกลุ่ม CLMV รวมทั้งอีก 4 เส้นทาง เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนมีการลงทุนพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยนี้คงไม่สูญเปล่า