กระเจี๊ยบเขียวนราธิป พันธุ์พืชเทิดพระเกียรติ “รัชกาลที่ 9” 

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนเกษตรวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขที่33 หมู่1 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งข้อหนึ่งว่า “การนำพันธุ์ใหม่หรือพันธุ์ต่างประเทศต้องระวังเรื่องโรค ถ้าเกิดโรคแล้วจะเกิดเสียหายมากและขาดทุน การนำพันธุ์ต่างประเทศมาราคาสูงไม่ควรพึ่งพา”

ในการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยทั่วไปต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากตลาดเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาปลูกทุกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้ ถ้าเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้เองจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและสามารถพึ่งตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันความต้องการผลผลิตเกษตรธรรมชาติมีมากขึ้นและตามมาตรฐานเกษตรกรรมชาตินั้นต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตภายใต้เกษตรธรรมชาติ

ดอกคล้ายชบา

กระเจี๊ยบเขียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (L.) Moench เป็นพืชสกุลเดียวกับชบา มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน แถบแอฟริกาตะวันตก สันนิฐานว่านำเข้ามาปลูกในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2416 เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศา และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

สำหรับในประเทศไทยพื้นที่ที่มีการปลูกกระเจี๊ยบเขียวกันมากที่สุดส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในภาคกลาง เช่น นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก ราชบุรี ระยอง พิจิตร สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และกาญจนบุรี

ชาวบ้านนิยมนำฝักอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวไปประกอบอาหารได้หลายอย่างเช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงกะทิ ยำ ชุบแป้งทอด ต้มจิ้มน้ำพริก หรือนำไปย่าง เมื่อไหร่ที่มีการกินเลี้ยงกันในบ้านมีการปิ้งย่าง ผู้เขียนมักนำกระเจี๊ยบเขียวมาร่วมย่างด้วยเสมอเนื่องจากเพื่อเป็นการลดความแน่นท้องและแก้เลี่ยน กระเจี๊ยบเขียวที่ย่างจะไม่เป็นเมือกเหมือนการต้มหรือแกง

ฝักของกระเจี๊ยบเขียวมีเส้นใยอยู่จำนวนมาก เมื่อกินเข้าไปจะไปขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ไม่ให้มากเกินไป ทำให้ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้เส้นใยของกระเจี๊ยบเป็นตัวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และสารเมือกในฝักยังช่วยจับสารพิษในลำไส้และขับออกมาทางอุจจาระ ทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้าง นอกจากนี้กระเจี๊ยบเขียวยังมีสรรพคุณบำรุงสมอง ช่วยรักษาความดัน แก้อาการหวัด และมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ

ปลูกแบบยกร่อง

นอกจากนี้กระเจี๊ยบเขียวจะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่ายช่วยอาการท้องผูก ลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหารและป้องกันมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ เนื่องจากในฝักของกระเจี๊ยบเขียวมีสารเมือกจำพวกเพกทิน( Pectin) และกัม (Gum) ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและสำไส้ และยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ในสมัยก่อนชาวมุสลิมทางจังหวัดภาคใต้ นิยมกินผักที่มีเมือก เช่นกระเจี๊ยบเขียวหรือผักกูด เป็นยาบำรุงข้อกระดูก โดยเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มไขมันหรือเมือกในข้อกระดูก ทำให้มีน้ำเมือกในหัวเข่าหรือข้อกระดูกมากขึ้นในผู้สูงอายุ

ที่มาของสายพันธุ์

อาจารย์ทิพย์วัลย์ สิทธิรังสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาวิชาการ ของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องจากพระราชดำริ จึงได้เริ่มงานวิจัยและพัฒนากระเจี๊ยบเขียวภายใต้ระบบเกษตรกรรมธรรมชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2557 เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ผ่านการปลูกคัดเลือกในสภาพการเพาะปลูกแบบเกษตรธรรมชาติซึ่งไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีใดๆเลย โดยมี ผศ.ดร. จานุลักษณ์ ขนบดี มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา อนุเคราะห์แหล่งพันธุกรรมให้เป็นเบื้องต้น และได้ให้ความกรุณาเป็นที่ปรึกษาในงานวิจัย

อาจารย์ทิพย์วัลย์ สิทธิรังสรรค์

จากการรวบรวมต้นกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์พื้นบ้านทั่วประเทศมาปลูกเพื่อคัดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียว อ.ทิพย์วัลย์ เล่าให้ฟังว่า “เริ่มจากการปลูกทดลองในแปลง แล้วคัดต้นพันธุ์ที่ดีๆไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้ต้นพันธุ์ดีที่สุด ในช่วงปี พ.ศ. 2550 จึงได้นำต้นพันธุ์ดีนั้นมาผสมตัวเองภายในต้นเดียวกัน จนได้เมล็ดนำมาปลูก ได้ทำการผสมและคัดเลือกต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้พันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่สมบูรณ์ มีความคงตัวทางพันธุกรรม”

หลังจากนั้นจึงนำพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ได้มาปลูกในแปลงทดลองในระบบเกษตรธรรมชาติไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี เพื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์การค้า 5 สายพันธุ์ รวมทั้งหมด 4 ครั้งเพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบ 8 ลักษณะ คือ ความสูงของลำต้น จำนวนกิ่งแขนงต่อต้น เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น จำนวนข้อบนลำต้น ความยาวของผล เส้นผ่าศูนย์กลางผล น้ำหนัก 100 เมล็ด และจำนวนเมล็ดต่อฝัก

จากการเปรียบเทียบพบว่า กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ ศฝก1.(ชื่อเดิม) มีความสูงไม่มาก คือมีความสูงเฉลี่ย 127.0 ซม. ขณะที่พันธุ์การค้า 4 สายพันธุ์มีความสูงถึง 225-258 ซม. ส่วนอีกหนึ่งสายพันธุ์มีความสูงน้อยกว่า จำนวนกิ่งแขนงต่อต้น มีจำนวนมากกว่า 11 แขนงต่อต้น ทำให้มีผลผลิตมากกว่า ในขณะที่พันธุ์การค้ามีการแตกแขนงเพียง 3.1-8.2 แขนงต่อต้น ส่วนเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าจึงทนต่อแรงลมกว่าพันธุ์เพื่อการค้า

ขอพระราชทานนาม

ในปี พ.ศ. 2557 ทางศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องจากพระราชดำริ จึงได้ขอขึ้นทะเบียนกระเจี๊ยบเขียว ศฝก.1 เป็นพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร และในปี พ.ศ. 2558 ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานชื่อพันธุ์กระเจี๊ยบเขียว ศฝก.1 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่

และในปี พ.ศ.2559  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อกระเจี๊ยบเขียว ศฝก.1 ว่า “กระเจี๊ยบเขียวธราธิป” มีความหมายว่า กระเจี๊ยบเขียวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

กระเจี๊ยบเขียวธราธิป จึงเป็นกระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ภายใต้ระบบเกษตรธรรมชาติที่เป็นเวลานานถึง 16 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

กระเจี๊ยบเขียวธราธิป มีลักษณะเด่นคือ ต้นมีความแข็งแรงต้านทานโรคและแมลงได้ดี มีลำต้นไม่สูงมาก ทำให้เก็บเกี่ยวได้สะดวกกว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นใหญ่ ทำให้ต้นแข็งแรงและทนการหักล้มได้ดีกว่า มีจำนวนแขนงต่อต้นมากทำให้ได้จำนวนฝักมาก ลักษณะของฝักเป็นห้าเหลี่ยมตรงกับความต้องการของตลาด รสชาติดี เหมาะต่อการผลิตฝักสดจำหน่าย ยังมีน้ำหนัก 100 เมล็ดสูง และมีจำนวนเมล็ดต่อฝักมากอีกด้วย

แขนงเยอะมาก

เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียวธราธิปมีขนาดต้นไม่สูงมาก จึงเหมาะกับการปลูกในกระถางสำหรับคนเมือง คุณทิพย์และคุณสมบูรณ์ สว่างทุกข์ ผู้ช่วยนักวิจัยของศูนย์ฝึกฯ บอกว่า “ การปลูกกระเจี๊ยบไม่ยาก เพียงเตรียมดินยกร่อง ใส่ปุ๋ยหมักลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็สามารถปลูกได้เลย ในแปลงมีระยะการปลูกระหว่างร่องและระหว่างต้น 90 เซนติเมตร ช่วงแรกรดน้ำวันละสองครั้ง ประมาณ 7 วันเมล็ดจะงอก หลังจากปลูกได้อายุ 60 วันจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ปัจจุบันที่ศูนย์ฝึกฯ มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวธราธิป ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปในราคา ซองละ 20 บาท 3 ซอง 50 บาท”

กระเจี๊ยบเขียวแม้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศแต่ก็ได้เข้ามาปลูกในประเทศไทยนานมากจนเราคิดว่าเป็นพืชพื้นบ้านของเรา การปลูกก็ง่ายๆ ปลูกครั้งเดียวต้นจะออกฝักให้เรากินได้นาน นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณมากมายหลายขนาน เหมาะสำหรับปลูกไว้ในรั้วบ้านเพื่อชื่นชมดอกที่เหมือนดอกชบา และรับประทานฝัก

ปลูกคู่
ปลูกในกระถาง

ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ที่ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องจากพระราชดำริ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ. ชลบุรี เบอร์โทรศัพท์ 038-343608-10 เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

คุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบเขียว ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 140 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 45 กรัม
  • น้ำตาล 48 กรัม
  • เส้นใย 2 กรัม
  • ไขมัน 19 กรัม
  • โปรตีน 00 กรัม
  • น้ำ 17 กรัม
  • วิตามินเอ 36 ไมโครกรัม 5%
  • วิตามินบี1 0.2 มิลลิกรัม 17%
  • วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี3 1 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินซี 23 มิลลิกรัม 28%
  • วิตามินอี 27 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินเค 3 ไมโครกรัม 30%
  • ธาตุแคลเซียม 82 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุเหล็ก 62 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุแมกนีเซียม 57 มิลลิกรัม 16%
  • ธาตุโพแทสเซียม 299 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุสังกะสี 58 มิลลิกรัม 6%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)