“สวนบ้านทุ่ง” แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน เพาะ-จำหน่าย พันธุ์ปลาและพันธุ์ไม้นานาชนิด

สภาพพื้นที่อันประกอบไปด้วยภูเขาใหญ่-น้อยสลับไปมาจนแทบไม่มีพื้นที่ราบลุ่มสำหรับการเลี้ยงปลาอย่างจริงจัง ส่งผลให้ชาวแม่ฮ่องสอนต้องไปหาจับปลาตามแหล่งน้ำทางธรรมชาติมาบริโภค หรือมิเช่นนั้นก็ต้องรอบริโภคปลาที่เดินทางขนส่งมาจากเชียงใหม่ หรืออาจเป็นปลาตากแห้ง ปลากระป๋อง จนเรียกได้ว่าคนจังหวัดนี้จะหาปลาสดบริโภคไม่ได้เลย

การให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงปลาจึงเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานประมงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการจัดหาพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้บริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ รวมถึงยังทำให้มีการค้าขายปลาเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน

คุณอำไพ เหล่ากาวี

คุณอำไพ เหล่ากาวี อยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 10 ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีธุรกิจทางการเกษตรหลายประเภทแบบผสมผสานเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะเพาะ-จำหน่ายพันธุ์ปลา, เพาะพันธุ์กบ รวมถึงยังเพาะพันธุ์ไม้หลายชนิดจำหน่ายอีก ในชื่อ “สวนบ้านทุ่ง”

เดิมคุณอำไพมีอาชีพรับราชการครู ได้ลาออกก่อนวัยเกษียณ เนื่องจากเป็นคนที่ชื่นชอบทำเกษตร แล้วคิดว่าควรจะเริ่มต้นทำเกษตรกรรมในช่วงที่ยังมีกำลังกายดี ดังนั้น ระหว่างที่ยังรับราชการได้มาหาซื้อผืนดินแปลงนี้ซึ่งสมัยแรกยังเป็นป่ารก มีลำห้วยไหลผ่าน แล้วได้ใช้เวลาหลังเลิกงานมาปรับปรุง แล้วค่อยๆ หางานเกษตรทำอย่างละเล็กน้อย ทำได้บ้าง เสียบ้าง เพราะยังไม่มีความชำนาญดีพอ จนในที่สุดคิดว่าควรเพาะเลี้ยงปลาเพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

คุณอำไพ เหล่ากาวี (ซ้าย) กับ คุณศิริพร วุทธาคง นักวิชาการประมงชำนาญการ แม่ฮ่องสอน
กระชังปลาโต

คุณอำไพมองว่าที่ผ่านมาชาวแม่ฮ่องสอนหาปลาในพื้นที่บริโภคยากเพราะพื้นที่ส่วนมากมีสภาพเป็นป่าเขาหาแหล่งเลี้ยงปลายาก หากต้องการบริโภคปลาต้องไปจับจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือไม่เช่นนั้นต้องบริโภคปลาที่พ่อค้าซื้อมาจากเชียงใหม่ หรือไม่ก็เป็นปลากระป๋อง หรือปลาเค็มแทน

จึงมีความตั้งใจว่าจะให้คนแม่ฮ่องสอนได้มีโอกาสบริโภคปลาสด จากนั้นตัวเองกับสามีจึงทดลองเพาะพันธุ์ปลา ขณะที่สามีพอมีความรู้ ความชำนาญบ้างเพราะเคยไปดูงานเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลามาหลายแห่ง พร้อมกันนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากทางประมงจังหวัดในเรื่องการให้ความรู้อีกด้วย จนถึงตอนนี้ทางประมงจังหวัดก็ยังได้เข้ามาซื้อพันธุ์ปลาที่ฟาร์มคุณอำไพเพื่อนำไปแจกให้แก่ชาวบ้านให้พื้นที่เลี้ยง จนเดี๋ยวนี้อาชีพเลี้ยงปลาถือเป็นรายได้หลักของชาวแม่ฮ่องสอน แล้วยังได้รับประทานปลาสดใหม่อีก

ปลาดุกและปลาไน
สร้างกระชังตามพื้นที่เหมาะสม

คุณอำไพเริ่มเพาะ-เลี้ยงปลาดุกซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของชาวแม่ฮ่องสอนก่อนอันดับแรก เป็นพันธุ์ปลาดุกรัสเซีย ซึ่งเลี้ยงเพียง 3 เดือนก็สามารถจับขายได้แล้ว โดยระยะแรกเพาะพันธุ์ปลาและเลี้ยงปลาขายควบคู่กันไป แต่ต่อมาลูกปลาที่เพาะขายไม่ค่อยทันความต้องการของตลาดเท่าไรนัก จึงหันมาเน้นเพาะขายพันธุ์ปลาเป็นหลัก ส่วนเลี้ยงปลาขายเนื้อทำน้อยลง แล้วปรับเป็นการรับซื้อปลาโตจากชาวบ้านที่เป็นลูกค้าซื้อพันธุ์ปลา เพื่อนำไปขายจะได้ไม่กระทบกับตลาดผู้ซื้อ

เจ้าของสวนบ้านทุ่งเล่าถึงวิธีการเพาะพันธุ์ปลาดุกว่าจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่วนปลากินพืชจะต้องเริ่มในช่วงฤดูฝน พ่อ-แม่พันธุ์ปลาดุกจะต้องมีอายุระหว่าง 8-12 เดือน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสมบูรณ์มาก พอเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์นำมาไว้ในบ่อเดียวกัน หลังจากผสมพันธุ์เสร็จจะแยกลูกปลาไว้ในบ่อปูน พอลูกปลามีขนาดตัวโตจึงย้ายลงบ่อดิน อาหารของลูกปลาจะใช้ไข่แดงเป็นอาหารหลัก พอมีขนาดตัวเป็นปลาตุ้มจึงใช้ไรแดงเป็นอาหาร

“ลูกปลาที่พร้อมขายจะอยู่ในช่วงอายุ 1-2 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ทั้งนี้ มีอัตรารอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจมากกว่า ขึ้นอยู่กับขนาดลูกปลาตลอดจนวิธีเลี้ยงของผู้เลี้ยงว่ามีประสบการณ์ความชำนาญมากน้อย สำหรับขนาดลูกปลาที่ลูกค้ามักซื้อกันส่วนใหญ่คือประมาณความยาว 5-7 เซนติเมตร เนื่องจากผู้เลี้ยงมั่นใจว่ารอดแน่ แล้วไม่ยุ่งยากด้วย”

ลูกพันธุ์ปลาไน
เพาะเลี้ยงและจำหน่ายกบ

พันธุ์ปลาที่คุณอำไพเพาะขายพันธุ์นอกจากปลาดุกแล้วยังมีปลาชนิดอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นปลานิล ปลาไน แต่จะเน้นไปที่ปลาดุกมากกว่าเนื่องจากมีความคุ้นเคย อีกทั้งวิธีการเพาะที่ไม่ยุ่งยากเพราะปลาดุกมีความแข็งแรง และอดทนดี ใช้อาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุก เนื่องจากคุณอำไพเคยลองผลิตอาหารเองแต่ไม่คุ้มเพราะพื้นที่ของแม่ฮ่องสอนหาวัตถุดิบในการผลิตอาหารปลาเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้อาหารเม็ดเป็นหลัก ส่วนการเพาะขายพันธุ์ปลาชนิดอื่นจะต้องดูความเหมาะสมและความต้องการของตลาดควบคู่ไปด้วย

ภายในพื้นที่ของสวนบ้านทุ่งถูกจัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ ตามการใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะขุดบ่อเลี้ยงปลาทั้งแบบกระชัง บ่อปูน และบ่อดิน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการเลี้ยงปลาในแต่ละชนิด โซนเลี้ยงกบ โซนเพาะลูกปลา โซนปลูกและเพาะพันธุ์ไม้ หรือโซนการอบรมให้ความรู้

ให้ความรู้การเพาะพันธุ์ปลาแก่ผู้สนใจ

“ปลาดุกใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน กบใช้เวลาเลี้ยง 3-4 เดือน ส่วนปลาชนิดอื่นใช้เวลาเลี้ยงระหว่าง 7-12 เดือน มีลูกค้ามาซื้อตลอดเวลาทุกวัน ทั้งนี้ พันธุ์ปลาดุกจะต้องเพาะไว้อย่างน้อย 500-1,000 กิโลกรัม”

ทั้งนี้ ลูกพันธุ์ปลามีราคาขายที่ต่างกันโดยกำหนดให้ขึ้นอยู่กับขนาด อย่างถ้าเป็นขนาดเท่าหัวไม้ขีดขายตัวละ 50-60 สตางค์ ถ้าขนาดโตอีกเล็กน้อยขายตัวละ 1 บาท หรือขนาดยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ตัวละ 2 บาท หรือขนาด 7 เซนติเมตรขึ้นไป ตัวละ 3 บาท

คุณอำไพ บอกว่า ชนิดพันธุ์ปลาที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมเลี้ยงและบริโภคมากที่สุด ได้แก่ ปลาดุก และรองลงมาคือ ปลานิล ปลาทับทิม โดยปลาสองชนิดหลังนี้คุณอำไพได้เพาะพันธุ์ขายด้วยแต่ไม่ได้รับซื้อปลาโตเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการเดินทางขนส่ง

“กบ” เป็นสัตว์อีกชนิดที่คุณอำไพเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ เป็นพันธุ์กบนา กับกบจาน โดยเป็นการเพาะพันธุ์และจำหน่ายกบเนื้อ ส่วนมากจะขายเป็นลูกกบโตอายุประมาณ 60 วัน มีขนาดราวหัวแม่มือ ซึ่งในแต่ละปีคุณอำไพจะเพาะเลี้ยงกบไว้จำนวนกว่าแสนตัว ขณะเดียวกัน ยังรับซื้อกบเนื้อจากชาวบ้านเพื่อนำไปขายต่อให้กับพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดชุมชนอีก ราคาขายส่งกบกิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าขายปลีกกิโลกรัมละ 120 บาท

นอกจากอาชีพเพาะพันธุ์ปลาขายแล้ว คุณอำไพยังเพาะพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ทั้งไม้ผล (บางชนิด) ไม้ดอก ไม้ประดับ ไว้ขายทั้งแบบปลีกและส่งให้แก่บุคคลทั่วไปหรือหน่วยงานราชการด้วย พร้อมไปกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเมืองหนาวไว้จำหน่ายทุกๆ ปีด้วย

ชุดนี้เหมาไปจัดงานตกแต่งสวน
พันธุ์ไม้ยืนต้น

“สวนบ้านทุ่ง” ถือว่าเป็นแหล่งเพาะจำหน่ายพันธุ์ปลาแห่งใหญ่ที่มีลูกค้าทั้งเป็นชาวบ้านและหน่วยงานราชการต่างๆ หลายแห่งต่างให้ความสนใจซื้อเนื่องจากมีคุณภาพ ทั้งนี้ หากซื้อไปแล้วมีปัญหาทางคุณอำไพจะดูแลรับผิดชอบในกรณีที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของตัวปลา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอำไพ เหล่ากาวี โทรศัพท์ (081) 950-6000 หรือ fb : สวนบ้านทุ่ง

…………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2564