ผู้เขียน | อนุชิต ไกรวิจิตร |
---|---|
เผยแพร่ |
คณะผู้จัดงานฮอร์ติ เอเชีย และวารสารเคหการเกษตร พาสื่อมวลชนเข้าชม หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านหนองสามพราน ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
คุณพิเชษฐ์ เจริญพร ผู้ใหญ่บ้านหนองสามพราน ผู้รับผิดชอบโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ให้การต้อนรับคณะ นับได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นตัวอย่างของเกษตรกรในการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ เล่าว่า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นไร่อ้อย ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่บ้านหนองสามพราน โดยมีเนื้อที่ทำศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มี 20 ไร่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับมาจากหน่วยงานของจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีองค์ประกอบที่หลากหลาย ที่เหมาะแก่การทำพืชสวนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญในการทำการเกษตร โดยโครงการนี้เริ่มจัดทำเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา
คุณพิเชษฐ์ เจริญพร ผู้ใหญ่บ้านหนองสามพราน ผู้รับผิดชอบโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่
“พื้นที่นี้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรร คนละ 10 ไร่ เลยดูคับแคบไปหน่อย ก็เลยทำให้ทางผู้ใหญ่บ้านอย่างผมเลือกที่จะรับโครงการมา เพื่อทำไว้เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านของผมได้ดู และเกิดการจดจำเพื่อทำไว้เป็นตัวอย่าง ซึ่งผมก็จะพยายามจะย่อจากสิ่งที่ใหญ่โต ให้มีขนาดที่เล็กลง เพื่อจะได้ให้ชาวบ้านทุกคนสามารถจับต้องได้ บนรากฐานความพออยู่พอกิน แบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีความหลากหลายที่จะให้ปลูกพืชสวน และเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ให้ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกัน” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว
แบ่งพื้นที่ให้เหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ ได้เผยถึงการแบ่งพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10
ซึ่ง 30% ส่วนแรกสำหรับแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร โดยขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มพูนรายได้
ส่วนที่ 2 แบ่ง 30% สำหรับเพาะปลูกพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว การปลูกไร่อ้อย และหญ้าเนเปียร์ หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงช้างซึ่งกำลังนำหญ้าชนิดนี้มาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดี ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันใช้บริโภคและนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้
ส่วนที่ 3 แบ่งเป็น 30% โดยจะใช้ทำเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ เช่น หมูหลุม ไก่ไข่ และเป็ดไข่ อีกทั้งยังเลี้ยงสัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อ ได้แก่ ปลากดเหลือง ปลากดคัง ปลาสวาย ปลาบึก ซึ่งล้วนเป็นสัตว์กินพืช รวมกว่า 2,500 ตัว นอกจากนี้ ยังเลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 225 ตัว ไก่ไทย 20 แม่พันธุ์ พร้อมเครื่องฟักลูกเจี๊ยบ เป็ด 220 ตัว หมูหลุม 20 ตัว และกำลังสร้างคอกกบอีกประมาณ 500 ตัว
ในส่วนสุดท้าย จะมีประมาณ 10% จะถูกแบ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้กับที่พักของคนทำสวน และยังใช้ทำเป็นถนนหนทางต่างๆ รวมถึงโรงเรือนอื่นๆ
จากโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สามารถทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้ โดยมีรายได้จุนเจือครอบครัวทั้งแบบรายวัน จากการเก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด รายได้รายเดือนจากพืชอายุสั้น อาทิ มะเขือเทศ พืชผัก และรายได้รายปีจากไม้ผล ปศุสัตว์-สัตว์น้ำ
“คิดไว้ว่าจะทำข้าวไร่ แต่ตอนนี้ยังหาพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่นี้ไม่ได้ ก็เลือกใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกทานตะวันไว้แทนก่อน แล้วก็ข้าวโพด ส่วนพื้นที่อื่นๆ เราก็เลือกปลูกตามสัดส่วนและความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ ให้เข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยยึดหลักที่ว่า เพื่อประหยัดรายจ่าย โดยทดลองในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ก่อน ก่อนที่จะขยายไปสู่วงนอก ให้เขาได้รู้ว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีประโยชน์ เรายินดีที่จะให้เข้ามาศึกษาดูงาน ดูแบบอย่างเพื่อนำไปใช้กับสวนของตัวเอง ก็สุดแล้วแต่จะทำ ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนมาจากความมุ่งมั่นของผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยากจะให้จังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้เป็นพื้นที่ผลิตแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว
หน่วยงานต่างๆ พร้อมสนับสนุน
นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงยังมีศูนย์วิทยาเขตกำแพงแสน ที่คอยช่วยเหลือในด้านการดูแลพันธุ์พืชในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ด้วย อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มอบเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศมาให้ทางศูนย์ได้ทดลองปลูก ซึ่งมะเขือเทศพันธุ์นี้ สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องฉีดยาใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผลมะเขือเทศเติบโตสมบูรณ์แล้วสามารถรับประทานได้ทันที
“นอกจากหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่นำเมล็ดพันธุ์มาให้เราได้ทดลองปลูกกันแล้ว แต่ต่อไปในอนาคตเห็นท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า จะลองนำผักที่ปลูกแบบกางมุ้งปลอดสารมาปลูกที่แหล่งนี้ ซึ่งสิ่งๆ นี้จะแสดงให้เห็นว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว
แบ่งระยะการปลูก เพื่อเพิ่มรายได้ตลอดปี
ตอนนี้ผู้ใหญ่พิเชษฐ์แบ่งสัดส่วนการปลูกแบบใหม่หรือการปลูกแบบ 3 ระยะ ได้แก่ รายได้รายวัน รายเดือน และรายปี ซึ่งรายได้รายวันนั้นจะได้มาจากไข่ไก่กับไข่เป็ด ส่วนรายเดือนจะได้จากมะเขือเทศ กล้วย และพืชผักต่างๆ และก็มีมะละกอแทรกเข้าไปหรือพืชอายุสั้น และรายปีจะเป็นไม้ผลกับปลา โดยปลาที่ทดลองเลี้ยง มีปลากดเหลือง ปลากดคัง ปลายี่สก ปลาสวาย แล้วก็ปลาบึก (พันธุ์บิ๊กสยาม)
ซึ่งทั้งหมดนี้จัดอยู่ในจำพวกปลากินพืชทั้งหมด ปลาเหล่านี้จึงอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมดและสามารถเลี้ยงในบ่อเดียวกันได้ ในขนาดบ่อ 3 ไร่ โดยจะปล่อยปลาชนิดละ 2,500 ตัว แต่จะมีเฉพาะแค่ปลาบึก (พันธุ์บิ๊กสยาม) ที่สามารถเลี้ยงได้ไม่ถึง 50 ตัว โดยปล่อยลงบ่อเลี้ยงพร้อมกันเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา
ในส่วนของไก่เลี้ยงไว้ 225 ตัว เป็ด 220 ตัว หมูหลุม 20 ตัว ไก่ไทยอีกประมาณ 20 แม่พันธุ์ และตอนนี้ก็ได้ทำที่เลี้ยงกบเสร็จแล้ว แล้วก็สร้างหลังคาเป็นสีฟ้าเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้กบที่เลี้ยงเหมือนอยู่ในธรรมชาติปกติ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้ปลูกให้เกษตรกรได้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างเป็นรายได้ของครอบครัวได้ เพราะถ้าเลี้ยงมากไปมันจะกินกันเอง
ส่วนเป็ดนั้น ถึงจะอยู่หน้าเขาก็จริง แต่เราสามารถเลี้ยงเป็ดไข่ได้เหมือนกัน โดยใช้เทคนิคด้วยการสร้างอ่างน้ำไว้ให้เป็ดโดยเฉพาะ เพราะตามธรรมชาติของเป็ดแล้ว ถ้าเป็ดไม่ว่ายน้ำ มันก็จะมีผลทำให้เป็ดไม่ผลิตไข่ออกมา จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องสร้างอ่างน้ำไว้ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำลำคลองที่เป็นแบบธรรมชาติของจริง และเราจะเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 3 วัน ส่วนน้ำที่ถูกเปลี่ยนถ่ายออกจะถูกนำไปใช้รดพืชในสวนอีกที
แหล่งน้ำ หัวใจสำคัญ ของศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่
แหล่งน้ำของที่นี่เปรียบเสมือนกับหัวใจของแปลงเกษตรของเรา เพราะจังหวัดกาญจนบุรีจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ร้อนและแห้งแล้งมาก ซึ่งสิ่งที่ต้องแก้ทุกๆ ครั้งในช่วงหน้าร้อนคือ การหาแหล่งน้ำเพื่อให้กับพืชผักได้อยู่รอดถึงวันเก็บเกี่ยว ในปี 2557 ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ได้งบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำเพื่อมาลอกลำห้วย เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร รวมทั้งยังจัดทำฝายชะลอน้ำและก็ขุดสระเพื่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มอีกด้วย
“เราก็ได้ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรในหมู่เรามีน้ำใช้อย่างไม่ขัดสน พืชผลทางการเกษตรที่พวกเขาปลูกก็จะเจริญเติบโตเป็นอย่างดี และยังได้ผลกำไรที่เหมาะสมตามมาอีก” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ บอก
ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ เผยว่า ถ้าพูดถึงว่าตอนนี้แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำก็ยังไม่สมบูรณ์มากเท่าที่ควร แต่ตอนนี้ก็ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 75% ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ และต้องบอกว่าทางหมู่บ้านนี้โชคดีมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้งบจากหน่วยงานในหลายๆ หน่วยงานคอยช่วยเหลือเรื่องน้ำ บรรเทาภัยแล้งอยู่ในหลายๆ ครั้ง
ในส่วนวิธีการให้น้ำ จะเริ่มจากการดึงน้ำมาจากต้นน้ำให้มาอยู่ส่วนกลาง แล้วจึงปล่อยไปตามแปลงของชาวบ้าน แต่น้ำเหล่านี้มีต้นทุนในการสูบ เนื่องจากต้องใช้กระแสไฟฟ้าในการสูบทุกครั้ง บางคนอาจจะคิดว่ามันอาจเป็นการสิ้นเปลือง แต่ในช่วงหน้าแล้งจะเห็นผลได้ชัดเจนเลยว่าน้ำเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสวนพืชผักของเกษตรกรค่อนข้างมาก
แต่ทุกครั้งที่ใช้น้ำเราจะไม่ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างสิ้นเปลือง เพราะพื้นที่เป็นที่ปฏิรูปที่ดิน จึงต้องจัดสรรและควบคุมเป็นพิเศษ โดยน้ำที่ได้มาจะถูกส่งไปตามท่อที่ถูกฝังไว้ในดิน
“เราได้แนวความคิดมาจากประเทศอิสราเอล ผมเคยไปดูงานอยู่ที่นั่น แล้วได้มีโอกาสได้เห็นเขาแก้ปัญหาภัยแล้งกันด้วยวิธีประมาณนี้ เราก็จำมาแล้วมาดัดแปลงใช้ที่บ้านของเรา” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ พูดถึงการให้น้ำ
ระบบสหกรณ์ของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีอีกหลากหลายโครงการ ที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือ สหกรณ์โคนมกาญจนบุรี แล้วก็คลังอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ 2 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์โคนม และสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินหนองสามพราน
สหกรณ์โคนมมีสมาชิก 36 ราย และมีวัวทั้งหมด 368 ตัว ทั้งฝูงประมาณกว่า 800 ตัว
ซึ่งทางสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินก็ได้ให้นโยบายไว้ว่า ให้สหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผลิตหญ้าเนเปียร์ขายให้เพื่อรองรับสหกรณ์โคนม ซึ่งสหกรณ์โคนมไม่ต้องปลูกเอง แต่จะให้ทางสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินได้ปลูกเอง ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ที่ใช้สำหรับปลูกหญ้าเนเปียร์ จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 200 ไร่ ทั้งนี้ มีสมาชิกในพื้นที่เพียง 14 ราย ที่ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อส่งให้สหกรณ์โคนม แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการอยู่ดี
“ตอนนี้เรากำลังสนับสนุนให้เกษตรกรในหมู่บ้านของเราหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์ เพราะเป็นการปลูกที่ไม่ต้องใช้สารเคมีเลย ใช้เพียงแค่ท่อนพันธุ์ในการปลูก ในรอบแรกที่ปลูกจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการที่จะรอให้หญ้าเนเปียร์โตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนรอบที่ต่อๆ ไประยะเวลาในการเติบโตของหญ้าจะเหลือเพียง 2 เดือน ซึ่งถ้าเทียบกับอ้อย อ้อยจะปลูกและตัดได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับหญ้าเนเปียร์ สามารถตัดได้มากถึง 5-6 ครั้ง ในปีเดียว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้มีกำไรโดยหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือประมาณแสนกว่าบาท” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ ให้ข้อมูล
สำหรับพื้นที่ใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ใช้แปลงที่เคยปลูกอ้อยมาก่อน
ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ บอกว่า ในช่วงหลังๆ มานี้พยายามให้เกษตรกรของเรา เปลี่ยนจากพื้นที่ทำอ้อยมาปลูกหญ้าแทน เพราะจะได้กำไรตอบแทนดีกว่า ใช้เวลาปลูก 60 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยว และหักลบรายได้แล้ว ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 กว่าบาท ต่อครั้ง จากพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งปีหนึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 6 ครั้งเลยทีเดียว ส่วนของน้ำนมดิบที่ได้จากโคนม จะเน้นทำนมเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งบริษัทโดยเฉพาะ
“นอกจากนี้ ผมในฐานะผู้ดูแลโครงการ ผมก็ต้องคอยประดิษฐ์ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางตอบสนองให้กับชาวบ้าน ทุกวันนี้ก็เริ่มมีชาวบ้านทำตามบ้างแล้ว เวลาเขามีอะไรที่ขัดข้องหรือสงสัยเราก็จะคอยช่วยเหลือตลอด ยกตัวอย่างเรื่องน้ำ ถ้าเวลาไม่มีน้ำ เราก็สูบเข้าไปที่ไร่ของเขาเลย เพราะอย่างที่บอกว่าคลองเราไม่ได้ขุดไว้ใช้คนเดียว แต่เราทำให้สำหรับทุกๆ คนในหมู่บ้านแห่งนี้” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ยังเปิดรับดูงาน ศึกษาโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ และยังมีแนวคิดที่จะสร้างสินค้าโอท็อป ที่ผลิตจากหมู่บ้านของตัวเอง แต่ยังอยู่ในช่วงของการทดลองเท่านั้น