3 หน่วยงาน จับมือ ร่วมผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการความร่วมมือในการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการผลิตน้ำมันปาล์มและเพิ่มความยั่งยืนทางนิเวศวิทยาและสังคมในการผลิตปาล์มน้ำมัน

นายเศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำมันปาล์มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก มีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มที่ลงทะเบียนมากกว่า 100 ราย รวมถึงมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกือบทั้งหมดเป็นสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อย ที่ยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสวนปาล์ม ขาดการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายที่ช่วยเหลือกัน ตามแนวทางการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ส่งผลให้คุณภาพและผลผลิตของปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมีคุณภาพไม่ดีนัก

จึงได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และ GIZ ในการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และได้รับการสนับสนุนจาก Ministry of the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety (BMU) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับดำเนินโครงการในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2565 เพื่อมุ่งสู่การยกระดับปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (RSPO) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

สำหรับบทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร จะเตรียมศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมผู้นำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมถึงเป็นพื้นที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกร พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดตั้งโรงเรียนปาล์มน้ำมัน ในตำบลเขาคราม อำเภอเมืองจังหวัดกระบี่ เป็นสถานที่ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติ มีแปลงปลูกปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาฐานข้อมูลดิจิตอลเพื่อติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของเกษตรกรในพื้นที่นำร่องตามฐานข้อมูลเดิมที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีอยู่ พร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านอื่นๆ ให้สามารถพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล RSPO

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกร ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชตามความเหมาะสมของที่ดิน และส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มเป็น เกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุน ส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพของพืชและสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงเกษตรกรเข้าสู่ตลาด

สำหรับ การปลูกปาล์มตามมาตรฐานของ RSPO เป็นการปลูกปาล์มน้ำมันโดยมีการกำกับดูแลในเรื่องการจัดการสวน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันภายในชุมชน มีหลักการ 8 ข้อ ได้แก่
1.ความโปร่งใส 2.ทำตามกฎหมายและระเบียบ 3.สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว 4.ทำตามวิธีการดูแลรักษาปาล์มน้ำมันที่ดี 5.ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 6.รับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน 7.ปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ 8.พัฒนาสวนปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง

คาดว่า ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2565 จะมีเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 รายที่ได้รับความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ สามารถผลิตวิทยากรหลักจากโครงการมากกว่า 50 คน มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 10 โรงงาน ลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 20% และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 5,000 ตัน