ลัดเลาะเลี้ยว เที่ยวศรีสะเกษ ชม-ชิม-ช็อป ชาหอมแดง แหล่งปลูกอินทรีย์

ชุมชนท่องเที่ยวโอท็อป นวัตวิถี นับเป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่ช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนไม่ต้องเข้าเมืองหารายได้ แต่นำผลผลิตที่มีมาต่อยอด เพิ่มค่าให้น่าสนใจ

วันนี้เราได้มาเยือนถิ่น “ศรีสะเกษ” ที่เป็นแหล่งปลูกหอมแดงขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ตั้งอยู่ใน 4 อำเภอ คือ อ.ยางชุมน้อย อ.ราษีไศล อ.กันทรารมย์ และ อ.วังหิน ที่ถือว่าเป็นหอมแดงที่มีคุณภาพดีกว่าที่อื่น เพราะมีกลิ่นฉุนแรง เก็บรักษาได้ยาวนาน เกษตรกรนิยมปลูกหลังจากช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก

แต่ราคาหอมแดงที่ขึ้นลงตามกลไกตลาด และสารพัดอุปสรรค ทำให้ชาวบ้านบ้านเมืองแสน ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ กลุ่มอาชีพพัฒนาสตรี จึงรวมกลุ่มคิดค้น “ชาหอมแดง” เพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบ

“นางวิลาวัณย์ แก้วคำ” เกษตรกรต้นแบบบ้านยางชุมน้อย เล่าถึงที่มาให้ฟังว่า ปีนั้นหอมแดงราคาต่ำ ทางพัฒนาชุมชนจึงส่งกลุ่มของเราเข้าอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพื่อแปรรูปหอมแดง จึงได้สูตรชาหอมแดงขึ้นมา โดยใช้หอมแดงอายุตั้งแต่ 75 วัน ขึ้นไป เพราะจะมีความหอม ฉุน เหมาะแก่การทำชา ส่วนการปลูกเราจะปลูกในโรงเรือนแบบอินทรีย์ มีสมาชิกทำชาทั้งหมด 10 คน ส่วนรายได้ค่อนข้างดีกว่าการขายหอมสด เพิ่มขึ้นอีก 3-4 หมื่นบาท ต่อปี ทีเดียว

“อยากให้ทุกท่านที่ซื้อชาหอมแดงของหมู่บ้านเรามั่นใจว่า ผลผลิตของเราปลอดสารอย่างแท้จริง และยังช่วยเรื่องสุขภาพ เพราะชาหอมแดงมีสรรพคุณช่วยแก้หวัด คัดจมูก ขับลม แก้ท้องอืด นอกจากหอมแดงแล้วเรายังมีกระเทียมดอง และกะหรี่พัฟไส้หอมแดง ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเป็นของฝากอีกด้วย”

Advertisement

ต่อจาก อ.ยางชุมน้อย เราได้มาเยือน อ.เบญจลักษ์ ที่นี่เราได้พบกับ “น.ส.ศรัณย์รัชต์ สาลี” หรือ คุณจุ๊บ อายุ 41 ปี ชาว ต.หนองงูเหลือม อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จากสาวโรงงานเมืองกรุง ลาออกกลับมาสู่ชีวิตบ้านทุ่ง อยู่กับครอบครัวและธรรมชาติรอบกาย พลิกฟื้นผืนนาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ส่งขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เธอคิดทำขึ้น คือ “ชาเปลือกแก้วมังกร” ที่เธอปิ๊งไอเดียจากการกินผลแก้วมังกรแล้วทิ้งเปลือก พบว่ามีเส้นใยอยู่เยอะ จึงนำมาสู่การทำชา แม้รายได้ยังไม่มากแต่สร้างความสุขใจให้ตัวเอง

Advertisement

โดย น.ส.ศรัณย์รัชต์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า แรกเลยที่คิดทำ “ชาเปลือกแก้วมังกร” คือ ตอนที่กินแก้วมังกรแล้วเห็นเปลือกมีเส้นใย จึงเกิดความอยากรู้ว่า เปลือกมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เมื่อศึกษาดูพบว่าช่วยเรื่องบำรุงความจำ จึงคิดทำสูตรชาขึ้นมา เมื่อทดลองทำและชิมดู รู้สึกว่ามันมีกลิ่นหอมนุ่ม แต่รสชาติยังจืด จึงใส่หญ้าหวานเป็นส่วนผสม ทำให้รสชาติดีขึ้น ส่วนต้นแก้วมังกรจะปลูกแบบอินทรีย์ ใช้พื้นที่บริเวณบ้าน 3 ไร่ ผลที่ได้จึงไม่ค่อยสวย ไม่เหมาะกับการขายผลสด สำหรับราคาขายอยู่ที่ กล่องละ 350 บาท เพราะเปลือกแก้วมังกร 10 กิโลกรัม เมื่อตากแดด 3 วัน และผ่านการอบ น้ำหนักจะเหลือแค่ 700 กรัม เท่านั้น และโชคดีที่มีโครงการโอท็อปนวัตวิถี ทำให้ช่วยโปรโมตผลิตภัณฑ์ ทั้ง “ชาเปลือกแก้วมังกร” และ “กลีบลำดวนข้าวไรซ์เบอร์รี่” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เมืองรองแห่งนี้ แม้ไม่ใช่เมืองหลักแห่งการท่องเที่ยว แต่หากได้ไปเยือนจะรู้ว่า แต่ละชุมชนซุกซ่อนของดีเอาไว้อย่างมากมาย อย่างเช่น บ้านละทาย ต.ละทาย อ.กันทรารมย์ ชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มผลิตผ้าสไบสีฟ้างดงามด้วยการทอมือเป็นเอกลักษณ์ที่หาดูยากยิ่ง หรือจะเป็นกระติ๊บข้าวสานจากต้นกกให้ได้เลือกซื้อติดมือกลับไปเป็นของฝาก ส่วนที่บ้านโนนสว่าง ต.พรหมสวัสดิ์ อ.พยุห์ งามล้ำด้วยผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอด้วยกี่โบราณ สืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าลาว หากใครได้ไปเยือนต้องควักกระเป๋าซื้อกลับบ้านแน่นอน

นี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากหลายหมู่บ้านที่ทีมงานพัฒนาชุมชนได้พามาเยือน ทุกชุมชนจะเข้มแข็งได้ภาครัฐต้องมีส่วนร่วมช่วย พร้อมด้วยความสามัคคีเป็นที่ตั้ง

“ศรีสะเกษ” เมืองรองแห่งนี้ มีดีกว่าที่คิด