ปิดทองหลังพระ อุดรธานี เข้าร่วม “เกษตรปลอดภัย” ช่วยเกษตรกรรายได้เพิ่ม 14 ล้านบาท เตรียมขยายแบรนด์ “ภูธารา” จากข้าวไปสู่สินค้าเกษตรและแปรรูปอื่น

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า โครงการ “เกษตรปลอดภัย” ในจังหวัดมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันเกิดกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรปลอดภัยแล้ว 15 กลุ่ม ในภาคอีสานตอนบนตามเป้าหมาย ครอบคลุมอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำพู เลย และบึงกาฬ

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

ภายใต้โครงการดังกล่าวที่มุ่งผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้อย่างกว้างขวาง บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ก็ได้เข้าร่วมด้วย โดยการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวและปลูกผักปลอดภัยเพื่อป้อนตลาดที่มีความต้องการสูง

นางหม่วย ดอนศรีโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูธารา กล่าวว่า บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการปิดทองหลังพระ ที่เข้ามาพัฒนาต่อยอดอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี นอกจากนี้ ยังประสานงานให้หน่วยงานราชการมาให้ความรู้ สอนอาชีพด้านต่างๆ ตามความสนใจของเกษตรกร

นางหม่วย ดอนศรีโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูธารา

บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม มีวิสาหกิจกลุ่มโรงสีข้าวร่วมกันผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อจำหน่ายในตลาดนัดเกษตรปลอดภัย ซึ่งต่อมา นายวัฒนา พุฒิชาติ ได้เปิดนโยบายให้โรงพยาบาลเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย ทำให้กลุ่มสามารถส่งข้าวปลอดภัยจำหน่ายในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นความต้องการของโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ตลอดจนหน่วยทหาร จนคาดว่าในปีหน้าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 14 ล้านบาท และรายได้จากผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ภูธารา” อีกกว่า 6 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ยังได้เข้ามาให้ความรู้ทางการตลาดและพัฒนาแบรนด์ของข้าวในชื่อ “ภูธารา” ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยภูเขาและลำธาร และผลความสำเร็จของข้าว “ภูธารา” ทำให้วิสาหกิจชุมชนมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรอื่นภายใต้แบรนด์ที่มีอยู่ อาทิ การแปรรูป ผักและผลไม้อื่นๆ เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเชื่อมโยงความรู้ด้านการแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์

ข้าว “ภูธารา”

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มเกษตรปลอดภัยทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน

“การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมีความยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจของเกษตรกร ดังนั้น ก็จะต้องหาตลาดให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เกษตรกรหมดกำลังใจ ที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จ ทำให้โรงพยาบาล 20 แห่ง เข้าร่วมจนผักไม่พอจะขาย จังหวัดก็ต้องไปเร่งเสริมด้านการผลิต โดยจะสนับสนุนโรงเรือนให้เกษตรกร 50 หลัง”

ในขณะเดียวกันจังหวัดจะขยายตลาดสู่ผู้บริโภคให้ได้อาหารปลอดภัย โดยจะเพิ่มการจัดตลาดเกษตรปลอดภัย จากตลาดร่มเขียวที่มีอยู่ในขณะนี้ ด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำเปิดตลาดจริงใจ เป็นทางเลือกเพิ่มเติม

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานีได้จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้มีการทำความตกลงการค้ากัน ของผู้ประกอบการค้าปลีกและโรงแรมรวมสิบแห่ง เพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกร