ข้าวแต๋นธัญพืช : ต้องตา ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น แพร่

“ข้าวแต๋น” นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม หมู่ที่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ คุณดารารัตน์ หิตการุญ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและประธานวิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโม มีตำแหน่งทางการปกครอง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านช่องลม อยู่บ้านเลขที่ 108/1 หมู่ที่ 8 ตำบลหัวฝาย กล่าวว่า มูลเหตุของการผลิตข้าวแต๋นเกิดขึ้นเนื่องจาก ช่วงปี พ.ศ. 2557-2558

คุณดารารัตน์ หิตการุณ

“ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่ที่จังหวัดแพร่ มีราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมกันคิดในกลุ่มแม่บ้านว่าจะมีวิธีการใดที่จะเพิ่มมูลค่าของข้าวในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นขนมขบเคี้ยว หรืออาหารว่างไว้บริโภค หรือขายเป็นของฝาก และเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนที่ว่างงานอีกทางหนึ่ง ที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นน้ำแตงโม

วัตถุดิบหลักที่ใช้คือข้าว เป็นข้าวคัดพิเศษที่ได้จากผลผลิตข้าว กข 6 และข้าว กข 10 จากแปลงรวมซึ่งเป็นข้าวปลอดภัย และใช้น้ำแตงโมเป็นพื้นฐานแรกในการปรุงรสน้ำข้าวแต๋น ต่อมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายทางรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นรสปาปริก้า บาร์บีคิว รสสาหร่าย ให้มีความแปลกใหม่ในด้านรูปทรงสามเหลี่ยม รูปหัวใจ แทนที่จะเป็นรูปทรงกลมเพียงอย่างเดียว และได้พัฒนารสชาติด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามฤดูกาลในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมน้ำข้าวแต๋น เช่น การนำน้ำแก้วมังกร (เนื้อสีแดง) ซึ่งมีสีสันที่สวยงามมาแทนน้ำแตงโมในฤดูกาลผลิตที่ไม่สามารถหาแตงโมได้ และแก้วมังกรยังเหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ เนื่องจากแก้วมังกรเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณในการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในการทำข้าวแต๋น ทำให้ได้ข้าวแต๋นที่มีสีและรสชาติที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งยังได้ใช้ธัญพืชที่มีประโยชน์ ได้แก่ งาขาว งาดำ ถั่วเขียวผ่าซีก เมล็ดทานตะวัน มาเป็นส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น

วัตถุดิบจากแตงโม

“จากกระบวนการผลิตที่มุ่งมั่นในคุณค่าทางโภชนาการจากหลากหลายวัตถุดิบ ส่งผลให้ข้าวแต๋นมีรสชาติและคุณค่าที่แตกต่างจากข้าวแต๋นของถิ่นอื่น จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะซื้อเพื่อรับประทานเองเป็นอาหารว่างแบบพื้นบ้าน ซื้อเป็นของฝากในเทศกาลต่างๆ” คุณดารารัตน์ กล่าว

อีกทั้งกลุ่มได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากกระบวนการผลิตข้าวแต๋นมักจะมีการแตกหักของแผ่นข้าว จึงคิดนำเศษข้าวแต๋นมาใช้เป็นส่วนผสมของขนมกระยาสารท ขนมปั้นสิบ ขนมกะหรี่ปั๊บไส้ต่างๆ และถั่วเคลือบ ถั่วทอดสมุนไพร กลายเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษข้าวแต๋นที่แตกหัก

คุณดารารัตน์ เปิดเผยถึงสูตรและขั้นตอนการแปรรูปข้าวแต๋นไว้ดังนี้

สูตรการทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม หรือน้ำแก้วมังกร 

วัตถุดิบที่ใช้

  1. ข้าวสารเหนียวคัดอย่างดี (ใช้ข้าว กข 6 และ กข 10) 12,000 กรัม (แช่น้ำอย่างน้อย  3 ชั่วโมง)
  2. น้ำแตงโมหรือน้ำแก้วมังกร 1,000 กรัม
  3. น้ำตาลทรายแดง 1,000 กรัม
  4. เกลือป่น 180 กรัม
  5. น้ำสะอาด 6,820 ซีซี

ส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น

ใช้แก้วมังกรเป็นวัตถุดิบ
  1. น้ำอ้อย 500 กรัม
  2. น้ำตาลปี๊บ 2,000 กรัม
  3. เกลือป่น 4.6 กรัม
  4. น้ำสะอาด 13.8 ซีซี
  5. งาขาว 1,000 กรัม
  6. งาดำ 167 กรัม
  7. ถั่วเขียวผ่าซีก/เมล็ดทานตะวัน 700 กรัม

และน้ำมันสำหรับทอด 6 ลิตร

วิธีทำ

  1. นำข้าวสารที่แช่น้ำแล้ว ล้างให้สะอาด จำนวน 2 ถ้วย นึ่งให้สุกแล้วนำมาผสมน้ำแตงโมหรือน้ำแก้วมังกรที่ปรุงรสเรียบร้อยแล้ว ใช้อัตราส่วน 1 ถ้วย (ถ้วยที่ใช้ตวงข้าว) คนให้เข้ากันดี และนำไปหยอดลงพิมพ์ที่เตรียมไว้
  2. นำข้าวแต๋นตากแดดจัดๆ ประมาณ 3-4 แดด แล้วนำเก็บใส่ภาชนะมีฝาปิดมิดชิดเป็นข้าวแต๋นรอการทอดต่อไป
  3. เตรียมน้ำมันใส่กระทะตั้งไฟให้ร้อนใส่ใบเตยหั่นไม่ต้องมากนักใส่ลงไปในกระทะแล้วทดลองทอดประมาณ 2-3 ชิ้น เพื่อทดสอบความร้อนของน้ำมัน
  4. ทอดข้าวแต๋นให้มีสีเหลืองนวล (อย่าให้ไหม้) ตักขึ้น รองด้วยกระดาษซับมัน
  5. เตรียมส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น (น้ำอ้อย น้ำตาลปี๊บ เกลือป่น น้ำ) ลงคนในกระทะตั้งไฟอ่อนๆ ให้ละลายเข้ากันดี
  6. นำข้าวแต๋นที่ทอดแล้ว หยอดหน้า แล้วโรยด้วยธัญพืชให้ดูสวยงาม เก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อคงความกรอบ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง

คุณดารารัตน์ ยังได้เผยถึงเคล็ดลับการทำข้าวแต๋นว่า

ตาก 3-4 แดด

– ต้องนึ่งข้าวให้สุกพอดี โดยการตั้งเวลา ต้องนำแผ่นข้าวตากแดด 3 แดดขึ้นไป และจะต้องมองเห็นเมล็ดข้าวเป็นเมล็ดใสๆ

– และก่อนทอด จะนำแผ่นข้าวผึ่งตากแดดอีกครั้ง เคล็ดลับนี้ ได้จากทดลองหลายๆ ครั้ง ครั้งใดทำแล้วไม่ได้ผลก็ทิ้งไปทำใหม่ จนได้ข้อสรุปถือเป็นเคล็ดลับดังที่กล่าว

การตลาดแหล่งขายข้าวแต๋นธัญพืชต้องตา

กลุ่มจะผลิตข้าวแต๋นแต่ละครั้งให้มีพอขายหมดภายใน 2 เดือน หมดแล้วก็ทอดใหม่ แต่ทั้งนี้หากมีคำสั่งซื้อนอกเหนือที่กล่าวก็จะผลิตเพิ่ม เช่น งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ หรือในเทศกาลต่างๆ ก็จะจัดทำเป็นกระเช้าของฝาก สำหรับแหล่งขายที่กลุ่มจัดส่งหรือวางขาย ได้แก่ ตลาดชุมชนในหมู่บ้าน ค่าย ม.พัน 12 การจัดงานต่างๆ ของส่วนราชการ หรือให้ไปจัดแสดงสินค้า แต่ที่ได้จัดส่งไปขายนอกพื้นที่ก็ที่จังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และจันทบุรี และขายผ่านสื่อออนไลน์ใช้ชื่อ webpage ว่า http://www.facebook.com/.dr.tongta/notification

ข้าวแต๋นจากน้ำแก้วมังกร

สำหรับราคาขายบรรจุแพ็ก น้ำหนัก 80 กรัม แพ็กละ 20 บาท หรือขนาดน้ำหนัก 60 กรัม ถุงละ 10 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีราคาต้นทุนที่แตกต่างกันหรือตามที่ผู้สั่งซื้อต้องการ

“ข้าวแต๋นของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม หมู่ที่ 8 สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ โดยเฉพาะการหมุนเวียนของวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบก็ได้จากชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งวัสดุที่ใช้ในการจักสานชะลอมและตะกร้า ค่าจ้างแรงงานของแม่บ้าน แล้วนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของชุมชนและครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง” คุณดารารัตน์ กล่าว

ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นดำเนินกิจการโดยวิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโม และผลิตโดยใช้แรงงานจากสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่และเกษตรอำเภอสูงเม่น พัฒนาชุมชนอำเภอ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย แรงงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลหัวฝาย และปกครองอำเภอสูงเม่น

รูปแบบต่างๆ

คุณฉลอง เพชรศักดา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้ให้ข้อมูลว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ได้เข้ามาร่วมให้คำแนะนำส่งเสริม พร้อมกับหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะภาคีความร่วมมือกันแบบบูรณาการให้ชุมชนบ้านช่องลมเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ในการส่งเสริมนั้น มีเป้าประสงค์ที่จะให้แต่ละครัวเรือนเป็นบ้านเกษตรกรต้นแบบ เป็นตัวอย่างของอำเภอสูงเม่นและจังหวัดแพร่ ที่จะแนะนำให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกมาศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ต่อมาก็ได้มีโครงการและงบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตร มาที่ชุมชนแห่งนี้ คือโครงการส่งเสริมเคหกิจเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน กับอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรแปรรูป โครงการดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่าในเมื่อเกษตรกรผลิตวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือพืชไร่ต่างๆ ทำอย่างไรจึงจะนำผลผลิตนั้นมาแปรรูปและการถนอมอาหารสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้นำเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรมาฝึกอบรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นพื้นฐานก่อน หากผลิตได้เกินบริโภค ก็ขาย สร้างรายได้ ซึ่งแม่บ้านทุกหลังคาเรือนก็มีภารกิจในการดูแลด้านอาหารการกินของครอบครัวอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้าน เลี้ยงจิ้งหรีด ไก่พันธุ์ไข่ไว้เป็นคลังอาหาร โดยเน้นเกษตรปลอดภัย งดใช้สารเคมีทุกชนิด ก็ด้วยการแนะนำให้ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา ไว้ป้องกันโรค และผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย สำหรับป้องกันแมลงศัตรูพืช ซึ่งสามารถลดรายจ่ายในครอบครัวได้ ทั้งยังมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และจัดให้มีแผนพัฒนารายบุคคลและแผนพัฒนากลุ่มอีกด้วย

พร้อมรับประทาน พร้อมขาย

ซึ่งต่อมาก็ได้ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวแต๋นซึ่งกลุ่มแม่บ้านได้ร่วมกันคิดและผลิตขึ้นมาคาดหวังว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างฐานเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนแห่งนี้ได้อย่างมั่นคงและมีความยั่งยืน ทางด้านการตลาดนั้นได้แนะนำให้ติดต่อผ่านทางห้างโมเดิร์นเทรด อย่างเช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้โลตัส หากผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นได้รับฉลาก อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็จะเริ่มมีวางขายตามห้างต่างๆ

ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลมได้สร้างผลงานให้กับชุมชนด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย นับว่าเป็นกลุ่มแม่บ้านที่เข้มแข็ง ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และหน่วยงานภาคีได้สนับสนุนให้เสนอชื่อกลุ่มแม่บ้านแห่งนี้เข้าประกวดจนได้รับรางวัลดีเด่นระดับเขต 6 (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 เชียงใหม่) ประจำปี 2562 และอยู่ระหว่างรอการคัดเลือกในระดับประเทศ

คุณฉลอง ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า การที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม ได้ยืนหยัดมาได้อย่างมั่นคงก็เพราะปัจจัยด้านความสามัคคี การมีส่วนร่วมของแม่บ้าน และที่สำคัญความมีเสน่ห์ของกลุ่มที่มีผู้ใหญ่บ้านเป็นสุภาพสตรีที่แข็งแกร่ง เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่เข้ามาสู่ชุมชน

น่าซื้อน่าชิม

อีกท่านหนึ่ง คุณสุภิญญา ประทิศ ครู กศน.ตำบลหัวฝาย ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการ กศน.สูงเม่น คือ คุณอรุณี พันธุ์พาณิชย์ ให้มาติดตามและช่วยเหลือแนะนำกลุ่มแม่บ้าน เป็นประจำอยู่แล้ว ได้กล่าวว่า กศน.ได้เข้ามาให้ความรู้แก่กลุ่มแม่บ้านในการผลิตข้าวแต๋นมาตั้งแต่ต้น ทางด้านเทคนิค/วิธีการ การจัดหาวิทยากรมาให้ความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ จนได้รับการพัฒนามาตลอดทั้งสีสัน ลวดลาย รูปทรง และการสร้างสื่อออนไลน์ ช่องทางการจำหน่ายข้าวแต๋นผ่านสื่อออนไลน์ จนกลุ่มสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง

หากท่านได้มาเยี่ยมเยียนเมืองแพร่ ให้นึกถึงข้าวแต๋นน้ำแตงโม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม หมู่ที่ 8 หรือสั่งซื้อติดต่อ คุณดารารัตน์ หิตการุญ โทร. (063) 894-5363 หรือจะสอบถามข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอสูงเม่น โทร. (054) 541-484