ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | หมอเกษตร ทองกวาว |
เผยแพร่ |
เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ
ผมปลูกดาหลาไว้หลายกอในสวนหลังบ้าน มีทั้งชนิดดอกสีชมพู และสีขาว ปลูกมาแล้วปลายปี ผมบำรุงต้นอย่างดี มีการให้ดอกสม่ำเสมอ แต่ทำไมไม่ยอมติดเมล็ด มีผู้รู้เล่าว่า หากปลูกไว้หลายพันธุ์ในบริเวณเดียวกัน เมล็ดที่ได้เมื่อนำไปปลูกต่อจะได้พันธุ์ใหม่ๆ แปลกจากต้นพ่อแม่ ผมควรทำอย่างไรจึงจะทำให้ต้นดาหลาที่ปลูกไว้สามารถติดเมล็ดได้ ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้
ด้วยความเคารพอย่างสูง
วิโรจน์ อนันตรัตน์
นนทบุรี
ตอบ คุณวิโรจน์ อนันตรัตน์
ดาหลา (Torch Ginger) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และภาคใต้ของไทย ดาหลา จัดอยู่ในวงศ์ขิง ข่า ให้ดอกตลอดปี แต่จะมากที่สุดในระหว่างเดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคมในปีเดียวกัน ส่วนของลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ส่วนเหนือดินเรียกว่า ลำต้น หรือลำต้นเทียม สูง 1.5-2.0 เมตร รูปร่างของดอกมีกลีบซ้อนสวยงาม การขยายพันธุ์ทำได้ทั้งการแยกเหง้าและเพาะจากเมล็ด
การปลูกดาหลาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่ติดเมล็ด ผมเองก็เคยทดลองมาแล้ว ที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี แม้มีการบำรุงอย่างเต็มที่ก็ตาม เช่นเดียวกันจากที่ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมเกษตรกรและศูนย์วิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตรหลายแห่ง พบว่า ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดยะลา ดาหลาออกดอกและติดเมล็ดได้ดี ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดาหลา ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จังหวัดตรัง
ปัจจุบัน สามารถพัฒนาพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 5 พันธุ์ แต่ละพันธุ์มีความสวยงามแปลกตา ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า การปลูกดาหลาให้ติดเมล็ดได้ดีนั้น ต้องปลูกในบริเวณภาคใต้ ที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง มีจำนวนวันฝนตกเฉลี่ยมากกว่าบริเวณภาคกลางของประเทศ ถ้าหากปลูกในร่มเงาของไม้ยืนต้นจะยิ่งติดเมล็ดดียิ่งขึ้น
ที่จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างไปจากอดีตมาก ความชื้นจึงไม่พอเพียงกับความต้องการของดาหลาเพื่อผลิตเมล็ด
หากต้องการพันธุ์ดาหลาใหม่ๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันพืชสวน กรมวิชาการเกษตร อยู่ในบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ในวัน และเวลาราชการ