จากนักปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ สู่การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิล้วน

หากฟูเต็มที่น้ำจะข้นและแห้ง อย่างนี้ส่งร้านขนมได้ แต่ถ้าชาวบ้านกินต้องฟูและแห้ง

การเก็บมะพร้าวกะทิมาใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่นิยมนำเนื้อไปใส่น้ำแข็งไสผสมน้ำเชื่อมโดยใช้ช้อนคว้านเป็นชิ้นพอคำ หรือใช้ช้อนตัก กินเฉยๆ ก็ได้รสชาติหวานมันอร่อยด้วยเนื้อมะพร้าวที่หนา ฟู อ่อนนิ่ม ปัจจุบันนิยมคว้านใส่ไอศกรีม ทำบัวลอย “มะพร้าวกะทิ” ขายตามร้านอาหาร ภัตตาคาร

มีหลายคนมักเข้าใจว่า “มะพร้าวกะทิ” เป็นมะพร้าวพันธุ์หนึ่ง แต่ความจริงในธรรมชาติไม่มีต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้อยู่เลย แต่ผลมะพร้าวกะทิที่เห็นกันได้มาจากการเกิดร่วมกับผลมะพร้าวปกติที่อยู่รวมกันในต้นมะพร้าวธรรมดาทั่วไปบางต้นเท่านั้น

มะพร้าวกะทิลำเลียงมาจากเกาะ เตรียมนำส่งขาย

ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดจากการใช้มะพร้าวกะทิคือไม่สามารถแยกได้ว่าผลใดเป็นกะทิ ทำให้ต้องใช้วิธีปอกเปลือกดูเนื้อภายใน หรือชาวบ้านบางคนที่มีความชำนาญก็จะฟังดูว่าถ้าไม่มีเสียงน้ำในผลดังกระฉอกเลย หมายถึงมะพร้าวผลนั้นเป็น“มะพร้าวกะทิ” วิธีการดังกล่าวค่อนข้างจะยุ่งยากและเสียเวลาไม่ใช่น้อย

….แต่เหตุใดมะพร้าวจึงไม่เป็นกะทิทั้งหมด

เรื่องนี้คุณจิตติ รัตนเพียรชัย กูรูด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช อธิบายว่าเหตุผลประการหนึ่งคือเป็นเรื่องของพันธุกรรม เพราะมะพร้าวกะทิถูกควบคุมโดยยีนเพียงคู่เดียว และเป็นลักษณะด้อยเสียด้วย แต่มีลักษณะของมะพร้าวธรรมดาเป็นยีนข่ม

ระบบให้น้ำด้วยมินิสปริงเกอร์ พร้อมคลุมกากมะพร้าวรอบต้นรักษาความชื้น

“ฉะนั้นต้นมะพร้าวที่ให้ลูกเป็นกะทิจึงมีลักษณะพันธุ์ทาง แล้วเมื่อมะพร้าวธรรมดาไปผสมกับมะพร้าวพันธุ์ทาง จึงทำให้เกิดเป็นมะพร้าวธรรมดา 3 ส่วนและมะพร้าวกะทิเพียง 1 ส่วน ด้วยเหตุนี้ปริมาณมะพร้าวกะทิจึงมีน้อย และหายากมากในท้องตลาด อีกทั้งราคามะพร้าวกะทิมีราคาแพงกว่ามะพร้าวธรรมดาหลายเท่า”

คุณจิตติ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการกล้วยไม้มายาวนาน เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน จากนั้นได้ชักชวนเจ้าของสวนกล้วยไม้หลายแห่งมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทที่ชื่อ บางกอกฟลาวเวอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกดอกกล้วยไม้ไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก ด้วยการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจได้ขยายขอบเขตครอบคลุมถึงดอกไม้เขตร้อนประเภทอื่นๆ

ไม่เพียงแค่การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ที่ประสบความสำเร็จ เขายังปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้เป็นมะพร้าวกะทิร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยการร่วมงานกับดร.อุทัย จารณศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์อีกท่านหนึ่ง แล้วเปิดตัว “อูติพันธุ์พืช” ขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมัน รวมถึงมะพร้าวกะทิ และพันธุ์ไม้ชนิดอื่นอีกหลายอย่าง

ผลโกโก้ที่ทดลองปลูกจำนวนหลายต้นบนเกาะ

เพื่อให้ได้ต้นที่เป็นกะทิสมบูรณ์

ต้องแยกปลูกเท่านั้น

คุณจิตติบอกว่าโดยหลักวิชาการแล้ว การจะทำให้ผลมะพร้าวเป็นกะทิได้ทั้งต้นจะต้องมีการแยกต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมาปลูกให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันและอย่าให้มีต้นมะพร้าธรรมดาร่วมอยู่ อีกทั้งไม่ควรปลูกมะพร้าวต้นไม่เป็นกะทิใกล้กับต้นเป็นกะทิ เพื่อป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ “อูติพันธุ์พืช” จึงได้จัดพื้นที่ปลูกมะพร้าวกะทิบนเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งในเขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และเป็นพื้นที่ปลูกที่อยู่ห่างไกลจากมะพร้าวธรรมดาพันธุ์อื่นประมาณ 10 กิโลเมตร

“เหตุผลที่ต้องใช้พื้นที่บนเกาะเพราะต้องการให้ห่างไกลจากเกสรของมะพร้าวธรรมดา และต้องการให้มะพร้าวกะทิผสมกันเองล้วน ในช่วงนั้นความนิยมมะพร้าวกะทิมีพอสมควร แต่มะพร้าวกะทิตามธรรมชาติมีเพียงลูกครึ่ง ซึ่งถ้าผสมกันเองในกลุ่มมะพร้าวกะทิลูกครึ่งผลผลิตที่ได้ประมาณ 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริงอาจได้ไม่ถึง ต้นไหนเคยเป็นกะทิ ถ้าผสมตัวมันเองก็ได้เป็นกะทิเพียง 1 ใน 4 แต่หากผสมข้ามจะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นใน 1 ต้น แต่ละทะลายอาจได้เป็นกะทิเพียง 1-2 ลูกเท่านั้น

บรรยากาศโดยรอบ

สำหรับบนเกาะนี้จำนวนมะพร้าวกว่าสองพันต้นล้วนเป็นมะพร้าวกะทิทุกลูก จึงทำให้สามารถเก็บมะพร้าวกะทิได้ตามขนาดที่ต้องการของตลาด อย่างร้านทำขนมไม่ต้องการเนื้อฟูมาก แต่หากจะใช้บริโภคจะนิยมเนื้อฟู เพราะเวลาหั่นจะได้เป็นท่อนชิ้นสี่เหลี่ยมสำหรับไว้ใส่ในขนมหวาน เช่น ทับทิมกรอบ ดังนั้นเวลาเก็บจึงไม่ต้องให้แก่มากและเปลือกยังมีสีเขียว แต่มีรอยย่นเล็กน้อย” คุณจิตติอธิบาย

คุณจิตติ เผยถึงคราวที่เริ่มต้นปรับปรุงมะพร้าวให้เป็นกะทิล้วนว่าครั้งนั้นการหาพันธุ์ต้องไปหาซื้อลูกมะพร้าวตามที่ชาวบ้านเก็บ เช่นแถวทับสะแก พอซื้อมาแล้วจัดการผ่าออก นำไปเข้าห้องแล๊บ ดึงจาวออกมาแล้วนำไปเพาะด้วยอาหารวิทยาศาสตร์ในสภาพปลอดเชื้อ เป็นวิธีการเดียวกับการเพาะกล้วยไม้

ต้องทำพื้นที่ให้เตียนพร้อมปลูกพืชอย่างอื่นไปด้วย

“ได้นำเอาคัภพะ จากผลมะพร้าวกะทิมาเลี้ยงในอาหารวิทยาศาสตร์ภายในสภาพปลอดเชื้อ เป็นระยะเวลาประมาณ 8 – 9 เดือน แล้วจึงนำออกปลูกลงดินในถุงเพาะให้ต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 เดือน จึงนำปลูกลงดินตามธรรมชาติ เนื่องจากต้นกล้ามะพร้าวกะทิพันธุ์แท้อยู่ในสภาพการงอกที่ผิดธรรมชาติ (งอกในอาหารวิทยาศาสตร์ ภายใต้สภาพปลอดเชื้อ) กล่าวคือไม่ได้งอกจากผลมะพร้าวที่มีกะลาและเปลือกมะพร้าวห่อหุ้มไว้ จึงทำให้ต้นกล้าถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายได้ง่าย โอกาสรอดตายจึงมีน้อย”

คุณจิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพาะครั้งแรกมีปัญหาและความยุ่งยากมาก เพราะมะพร้าวเป็นพืชที่มีขนาดใหญ่ แตกต่างจากกล้วยไม้ที่เคยทำที่มีขนาดเล็ก เขาเล่าว่าการเพาะพันธุ์ในขวดแก้วเพียงแค่ต้นอ่อนที่ยังไม่ได้เวลาที่เหมาะสมยังใหญ่แน่นขวดกลม ครั้นพอนำออกมาจากขวดยิ่งลำบากและยุ่งยาก ทำให้เสียหายและตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหลือจำนวนรอดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เปรียบว่าคล้ายกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ส่วนต้นที่รอดนำไปขายราคาต้นละ1,500 บาทมีคนซื้อน้อย ในที่สุดขาดทุน และต่อมามีความพยายามหาวิธีทำใหม่ และได้ค่อยๆพัฒนาจนเพิ่มจำนวนต้นที่รอดมากขึ้น

โครงการนำมาแปรรูป

เป็นไอศกรีมมะพร้าวกะทิ

ปั่นใส่น้ำหวานขาย

นักปรับปรุงพันธุ์ กล่าวถึงเหตุผลที่มาทำธุรกิจขายมะพร้าวกะทินอกจากต้องการขายเป็นมะพร้าวลูกในประเทศแล้ว ยังเห็นว่าที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีการปลูกมะพร้าวกะทิจำนวนมาก แล้วส่วนหนึ่งมีการนำไปแปรรูปเป็นไอศกรีมมะพร้าวกะทิขายที่สนามบิน ซึ่งเป็นไอศกรีมที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์ทำให้โด่งดัง ส่วนที่อินโดนีเซียยังใช้เนื้อมะพร้าวกะทิปั่นด้วยเครื่องให้ละเอียดแล้วนำมาใส่ในน้ำหวานสีสันต่างๆ ทำเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นช่องทางทำเป็นธุรกิจ

ผมเป็นพระเอกครับ

ดังนั้น แผนและโครงการที่ได้วางไว้คือการต่อยอดทางธุรกิจผลิตมะพร้าวด้วยการผลิตไอศกรีมมะพร้าวกะทิแบบที่ฟิลิปปินส์ โดยช่วงที่มีมะพร้าวจำนวนมากจะเก็บเนื้อมะพร้าวแช่แข็ง แล้วทยอยนำออกมาผลิตเป็นไอศกรีมทั้งปี ส่วนการขายผลมะพร้าวยังคงทำตามปกติ นอกจากนั้นยังเคยมีความคิดว่ามะพร้าวกะทิน่าจะแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยวได้ เพราะวัตถุดิบคือมะพร้าวที่ปลูกสามารถกำหนดช่วงเวลาหรือกำหนดอายุมะพร้าวว่าต้องการใช้แบบใดอ่อนหรือแก่

นอกจากโปรเจ็คมะพร้าวแล้ว คุณจิตติยังมีโครงการจะปลูกกล้วยไม้ป่าจำนวนหลายชนิดอีก ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมพันธุ์จากหลายแหล่งไว้ที่วิทยาลัยเกษตรเพชรบุรี

มะพร้าวที่ปลูกสามารถ

แยกขนาดได้ตามต้องการ

สำหรับปุ๋ยที่ใช้ใส่มะพร้าวกะทินั้นคุณจิตติบอกว่าเน้นเป็นแม่ปุ๋ยเช่นไนโตรเจนก็ใส่แอมโมเนียมซัลเฟต, ฟอสฟอรัสใส่ร็อคฟอสเฟตที่เป็นหินบด, โปรแทสเซียมใส่โปรแทสเซียมคลอไรน์,แมกนีเซียมใส่แมกนีเซียมซัลเฟต,และโบรอน โดยมีอัตราส่วนคือ 2.5-1-4 นอกจากนั้นแล้วยังใส่ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ทุกปี

เมื่อผ่าออกจะเห็นเนื้อแต่ยังไม่ฟู

คุณจิตติ บอกว่า เริ่มมาปลูกมะพร้าวกะทิบนเกาะเมื่อปี 2532 มีขนาดผล 3 ขนาดคือเล็ก กลาง และใหญ่ จำนวนต้นที่ปลูกครั้งแรก 2,150 ต้น อายุการเก็บผลผลิตครั้งแรกถ้าเป็นมะพร้าวเล็กเริ่มเก็บเมื่ออายุ 3 ปีครึ่ง แต่ถ้าเป็นมะพร้าวใหญ่เริ่มเก็บเมื่ออายุ 5-6 ปี นับตั้งแต่เริ่มปลูก

เขาบอกว่า ความจริงธรรมชาติมะพร้าวจะขึ้นได้ดีบริเวณชายทะเล หรือน้ำกร่อย ซึ่งมีความเค็มของโซเดียมคลอไรด์ ดังนั้นการปลูกมะพร้าวนอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าวจึงควรมีการใส่เกลือด้วยเพื่อช่วยในการให้ผลผลิตมีคุณภาพ คุณจิตติบอกว่ามะพร้าวกะทิที่เพาะเลี้ยงบนเกาะแห่งนี้จึงต้องใส่เกลือช่วย เกลือที่นำมาใส่มีปริมาณต้นละ 1 กิโลกรัมใส่ปีละครั้งในช่วงต้นฝน เคยทดลองไม่ใส่เกลือปรากฏว่าเนื้อมะพร้าวจะบางทันที

ควรบริหารจัดการภายในแหล่งปลูกให้ดี

สำหรับโรคแมลงที่พบได้แก่แมลงดำหนามอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยพบบ่อย อาจเป็นเพราะมีการดูแลบริหารจัดการภายในพื้นที่อย่างดี โดยจะต้องให้พนักงานคอยตัดหญ้าและวัชพืชหลายอย่างให้หมดต้องให้พื้นที่โล่งเตียนไม่ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอันเป็นบ่อเกิดของสัตว์ต่างๆ เช่นหนู ที่มาคอยกัดกินผลมะพร้าวจนต้องห่อหุ้มพลาสติกหรือแผ่นสังกะสี เพื่อป้องกันไม่ให้หนูปีนขึ้นต้นมะพร้าว อย่างไรก็ตามการเอาใจใส่เช่นนี้ทำให้สวนมะพร้าวแห่งนี้ไม่ใช้สารเคมีใดเลย

คุณจิตติ โชว์มะพร้าวกะทิ

พร้อมกับปลูกพืชหลายอย่างแซมคู่กับมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นกล้วย และไม้ผลอื่น ตลอดจนพืชผักสวนครัว ที่น่าสนใจคือปลูกโกโก้พ่อ-แม่พันธุ์ ที่ได้มาจากมาเลเซียไว้หลายต้นซึ่งมีผลออกมากมาย เขาบอกว่าทดลองปลูกดูเพราะได้มาเมื่อคราวเดินทางไปทำธุระที่มาเลเซีย

น้ำถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การให้น้ำกับมะพร้าวกะทิบนเกาะแห่งนี้ใช้ระบบมินิสปริงเกอร์มี 3 หัวพ่นและพ่นได้ระยะไกลกว่า 1 เมตร ติดตั้งไว้รอบต้นในตำแหน่งที่โคนต้น เหตุผลที่ใช้วิธีนี้เพื่อต้องการรักษาระดับความชื้นในดินให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ซึ่งจะทำให้ต้นมะพร้าวงอกงามและได้ผลผลิตดี

นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมการเกิดวัชพืชได้ เพราะการให้น้ำเฉพาะที่โคนต้น ทำให้พื้นที่ดินบริเวณอื่นไม่เปียก และวัชพืชจึงเกิดได้ยาก อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดค่าแรงงานด้วย สำหรับการปล่อยน้ำจะทำเพียงวันละครั้ง แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งจะเปิดน้ำถี่ขึ้นกว่าเดิม

คุณจิตติ เปิดเผยถึงผลผลิตที่ได้ในช่วงระหว่างปีจะมีปริมาณไม่เท่ากัน ช่วงที่มีมากที่สุดคือฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 1,600 ลูกบางครั้งเกือบ 2,000 ลูก ถ้าเป็นช่วงที่ให้น้อยคือในช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน เป็นเวลา 4 เดือนเช่นกัน

ใช้ทั้งคนและลิงช่วยเก็บ

ส่งขายทุกสัปดาห์

สงสัยจริงว่า วิธีเก็บมะพร้าวที่มีจำนวนมากขนาดนี้ทำได้อย่างไร คุณจิตติเผยว่าถ้าต้นไม่สูงนักจะใช้คนเก็บโดยใช้ไม้สอยหรือปีน ส่วนต้นไหนที่สูงจะใช้ลิงกังเก็บ ซึ่งเป็นลิงที่เลี้ยงมานานมีอยู่หนึ่งตัว ผ่านการฝึกเก็บมะพร้าวมาอย่างชำนาญและสามารถเก็บมะพร้าวได้วันละหลายร้อยลูก และอีกไม่นานจะนำมาช่วยอีกหนึ่งตัวเป็นลิงช่วงวัยรุ่นที่กำลังมีความคล่องตัวเพื่อช่วยตัวเดิมที่มีอายุมากแล้ว

หากฟูเต็มที่น้ำจะข้นและแห้ง อย่างนี้ส่งร้านขนมได้ แต่ถ้าชาวบ้านกินต้องฟูและแห้ง

ด้านการตลาด คุณจิตติบอกว่าจะส่งให้กับพ่อค้าแถวตลาดดอนหวายเป็นหลักมีจำนวน 3-4 รายเพราะทำธุรกิจกันมานาน การขายเป็นลักษณะขายส่ง และต้องมีการนัดหมายจุดรับ-ส่งกันทุกครั้ง เพราะปริมาณที่ต้องการแตกต่างกัน บางครั้งทางนี้อาจเดินทางไปส่ง แต่บางครั้งลูกค้าอาจมารับเอง ดังนั้นวิธีนี้ถือเป็นการถ้อยที ถ้อยอาศัยกัน

“มะพร้าวกะทิส่วนมากร้านทำขนมจะสั่งมากกว่า แต่มีบางรายอาจนำไปขายที่ตลาดอตก. ที่ถือว่าเป็นแหล่งจำหน่ายดั้งเดิม”

และบอกถึงราคาจำหน่ายว่ามะพร้าวกะทิทั้งปีจะมีราคาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณมะพร้าวที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น กล่าวคือถ้าช่วงที่มะพร้าวดกราคาลูกเล็กประมาณ 15 บาท ขนาดใหญ่ราคาประมาณ 30 บาท แต่ถ้าช่วงผลผลิตน้อยราคาลูกเล็กจะค่อยๆขยับมาจนถึงประมาณลูกละ 20 บาท ส่วนขนาดใหญ่จะค่อยปรับราคามาจนถึงเต็มที่ประมาณ 45 บาท แต่การนำไปขายปลีกจะมีราคาแพงมาก บางแห่งราคาลูกละเป็นร้อยบาท

เป็นกะทิทุกลูก

ท้ายนี้มีวิธีรับประทานมะพร้าวกะทิแบบผ่ารับประทาน ตามแบบคนเฒ่าคนแก่บอกเคล็ดลับว่า ถ้าต้องการให้เนื้อในของ “มะพร้าวกะทิ” ฟู หรือเหนียวแน่น อร่อย ต้องนวดก่อน โดยเอาผลที่ปอกเปลือกแล้วกระแทกกับพื้นปูนเบาๆรอบๆผลให้ทั่ว กะเวลาจนแน่ใจว่าพอแล้วจึงนำผลไปผ่าครึ่ง จะพบว่าเนื้อในฟูเป็นสีขาวคล้ายปุยฝ้าย ใช้ช้อนตักรับประทานได้เลย รสชาติหวานมันหอมอร่อยมาก

สำหรับเกาะมะพร้าวพันธุ์กะทิของอูติพันธุ์พืช ถือเป็นแหล่งพันธุกรรมมะพร้าวกะทิที่มีประโยชน์ในด้านการปรับปรุงพันธุ์แห่งหนึ่งของประเทศ

สนใจสอบถามรายละเอียดเรื่องมะพร้าวกะทิได้ที่ คุณจิตติ รัตนเพียรชัย โทรศัพท์ 081-8513772