“สวนลุงวุฒิ” แหล่งผลิตสับปะรดสี ใหญ่สุดในประเทศ

รวมสับปะรดหลากหลายสายพันธุ์

“สวนลุงวุฒิ” เดิมสวนไม้ดอกไม้ประดับแห่งนี้จะไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมสวนแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นความต้องการของเจ้าของสวน คือ ลุงวุฒิ เชยกลิ่นเทศ อดีตประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกฟลาวเวอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ได้รวบรวมปลูกเลี้ยงจนสวนของลุงวุฒิ กลายเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับจากต่างประเทศหลากหลายชนิด

ภายหลังท่านเสียชีวิตลง กิจการสวนทั้งหมดจึงตกทอดมายังรุ่นลูกโดย คุณรำไพ เชยกลิ่นเทศ หรือ “คุณหยุ่น” บ้านเลขที่ 166 ม.4 ถนนเลย-ด่านซ้าย บ้านหนองบง ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย 42160 โทรศัพท์ 08-1907-8318 มารับหน้าที่เป็นผู้สานดูแลต่อ และเริ่มเปิดสวนไม้ดอกไม้ประดับ และมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปัจจุบันสวนลุงวุฒิเป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักท่องเที่ยวที่มา อ.ภูเรือ จ.เลย โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว จะต้องแวะมาเที่ยวถ่ายรูปสวยๆ กับไม้ดอกไม้ประดับ และจำหน่ายพันธุ์ไม้ให้ซื้อกลับบ้าน หรือ พ่อค้าแม่ค้าไม้ดอกไม้ประดับที่เดินทางเข้ามารับไม้ดอก

รวมสับปะรดสี นีโอเรเจลยา

ไม้ประดับที่สวนลุงวุฒิที่สวนเพื่อเอาไปขายต่อ เพราะนอกจากมีความหลากหลายในเรื่องของสายพันธุ์แล้ว คุณภาพต้นดี สีสันสวยงาม ราคาก็ย่อมเยา สามารถนำไปขายต่อได้กำไรพอสมควร

สับปะรดสีสกุลมีดอก “กุซแมเนีย” ไม้เด่นของสวนลุงวุฒิ  คุณหยุ่นเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการผลิตสับปะรดสีว่าเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้คุณพ่อนำเข้าสายพันธุ์สัปปะรดสีจากฮอลแลนด์ และอีกหลายๆ ประเทศเข้ามาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาทดลองปลูกเล่นในกรุงเทพฯ ในตอนนั้นราคาสัปปะรดสีถือว่าแพงมาก ราคาต้นละ 800-1,000 บาทเลย คุณพ่อก็ได้เลี้ยงขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็นำสัปปะรดสีขึ้นมาทดลองเลี้ยงที่ อ.ภูเรือ เราพบว่าสัปปะรดสีมีการเจริญเติบโตได้ดี ที่สำคัญสัปปะรดสีสามารถออกดอกได้สีสันสวยงาม ทั้งใบและดอกสีสวยเข้ม สีสันตรงสายพันธุ์ที่นำเข้ามาเลย คุณพ่อจึงมีความคิดว่าสัปปะรดสีน่าจะปลูกในเชิงธุรกิจได้ หรืออีกทางคือช่วยลดปริมาณการนำเข้า ราคาจะได้ถูกลง

สับปะรดสีพันธุ์รอนโด้ สีสวยเป็นที่ชื่นชอบของตลาด

เมื่อครั้งที่มารับหน้าที่สานต่อกิจการเป็นช่วงกระแสของสับปะรดสีกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และมีการตื่นตัวจากบรรดานักเล่น นักเลี้ยง และนักสะสมทั้งหลาย ทางสวนจึงเริ่มสั่งซื้อสายพันธุ์สับปะรดสีมาจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก สายพันธุ์หลัก ได้แก่ สกุลกุซแมเนีย สกุลเอคเมีย สกุลนีโอเรเจลยา สกุลรีซี และสกุลทิลแลนด์เซีย แต่สกุลที่มีการผลิตและทำจำนวนมากสุด เห็นจะเป็น สกุล “กุซแมเนีย” ซึ่งเป็นสับปะรดสีมีดอกทั้งหลาย ตลาดโดยรวมมีความต้องการสูงมาก อย่างที่สวนที่เพาะขยายพันธุ์หมุนเวียนอยู่ก็ประมาณหลายสิบชนิด และที่นำเข้ามาทดลองปลูกและศึกษาอีกจำนวนมาก ถ้ารวมๆ ทุกๆ สายพันธุ์ก็น่าจะเกือบ 40 ชนิด ที่ผลิตอยู่

เหตุผลหนึ่งทางสวนเลือกผลิตสัปปะรดสี สกุล “กุซแมเนีย” หรือสัปปะรดสีที่มีดอกมากกว่าตัวอื่น เนื่องจากดอกมีสีสันสวยสด ดอกมีความทนทานกว่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของการประดับตกแต่งได้ดี ที่สำคัญขายง่ายกว่าสับปะรดสีตัวอื่น เป็นที่ดึงดูดให้ผู้ซื้อสนใจ รวมถึงตลาดที่ตอนหลังนักจัดสวน วิ่งเข้ามาซื้อโดยตรงจากที่สวนเพราะเค้ามีปริมาณการใช้จำนวนมาก และใช้ตลอดทั้งปี แล้วการนำสัปปะรดสีไปจัดสวนตามงานอีเว้นท์ต่างๆก็ดูสวยงาม แปลกตาด้วย  สามารถขายได้ทั้งปี จึงถือว่าสัปปะรดสีกุซแมเนีย เป็นไม้เด่นไม้หลักที่สวนเน้นปริมาณการผลิตมากที่สุด

คุณรำไพ เชยกลิ่นเทศ เจ้าของสวน

สำหรับสกุล “นีโอเรเจลยา” เป็นสัปปะรดสีที่จะเด่นเรื่องของฟอร์มใบ การเลียงตัวของใบที่เวียนเป็นวงกลม สีสันสวยงาม มีสีสันให้เลือกเป็นจำนวนมากนั้น ก่อนหน้านี้เพียงสะสมเท่านั้นเพราะคนก็ปลูกกันเยอะ แต่พอมันมีหน่อมากขึ้นก็ทดลองขายก็ตอบรับดีมาก ก็กำลังเร่งขยายให้ได้จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะกระแสตลาดเป็นที่นิยมมากในตอนนี้ สามารถปลูกเลี้ยงได้ทั่วประเทศ เราจึงต้องผลิตเสริมตลาดจัดสวน และจะผลิตเฉพาะไม้คอลเลคชั่นที่ได้รับนิยมและหายากเท่านั้น

แต่การเลี้ยงดูสัปปะรดสี “สกุลนีโอเรเจลยา” กว่าจะพร้อมจำหน่ายนั้นใช้เวลานานพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นนักปลูกเลี้ยง นักเล่น นักสะสม ต้นหนึ่งราคาส่งอยู่ที่ 300 – 4,000 บาทต่อต้นทีเดียว แต่ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่มารับไปขายทั่วไปเขาจะไม่เลือกสัปปะรดสี สกุล “นีโอเรเจลยา”ไปขายนัก เพราะราคาส่งมันสูง เมื่อเทียบกับสับปะรดสีสกุลกุซแมเนีย (มีดอก) ราคาส่งเริ่มต้นที่สวนอยู่ที่ประมาณ 50-100 บาทเท่านั้นขึ้น (อยู่กับชนิดและปริมาณที่มาซื้อ)

คุณรำไพ กล่าวว่า แม้ตลาดสัปปะรดสีมีดอกสกุล “กุซแมเนีย”เดินได้ดี และมีความต้องการสูง  การผลิตสับปะรดสีมีดอกจะขายได้เร็วกว่า แต่ก็มีจุดอ่อนในเรื่องของการจัดการดูแล มีความยุ่งยากมากกว่าสัปปะรดสีใบ เช่นการบังคับให้ออกดอก ต้องมีการเตรียมต้น หยอดยาบังคับให้ออกดอกตามระยะเวลาที่ต้องการจะขาย และเป็นไม้ดอกที่มักถูกรบกวนจากแมลงและศัตรูได้ง่าย

ดอกสับปะรดสีสวยโดดเด่น

สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับสับปรดสีที่ภูเรือ ด้วยสภาพอากาศที่เย็นตลอดทั้งปี มีลมพัดผ่านภูเขาตลอด ทำให้สับปะรดสีที่ภูเรือโตเร็ว สีสันจะสวยสดกว่าที่อื่น ทำให้ลูกค้าเมื่อซื้อสับปะรดสีไปจากทางสวนไปแล้ว พบว่าเลี้ยงไปแล้วสีไม่เหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะสภาพพื้นที่และอากาศแต่ละภูมิภาค มีความแตกต่างกัน ตรงนี้เจ้าของสวนจะมีคำอธิบายให้แก่ลูกค้าเสมอ และบางสายพันธุ์ที่ไม่สามารถปลูกเลี้ยงในพื้นที่อื่นได้ แต่ทางภูเรือสามารถปลูกเลี้ยงได้และเกือบทุกสายพันธุ์ ช่วงที่สับปะรดสีมีความสวยมากที่สุด และได้รับความนิยมสูงสุดคือ ช่วงหน้าหนาวปลายปี ตั้งแต่ตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์  แต่การผลิตพันธุ์ไม้ของสวนลุงวุฒินั้นจะมีการผลิตอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี

การเพาะขยายพันธุ์สับปะรดสี การเพาะขยายพันธุ์สับปะรดสี ที่ทางสวนเลือกใช้มีด้วยกัน 3 วิธี คือ แยกหน่อ , เพาะเนื้อเยื้อ และเพาะเมล็ด นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มเติมเช่น เบลเยียม, ฮอลแลนด์ ฯลฯ สกุลที่สั่งซื้อหลักๆ เป็นกุซแมเนีย

สับปะรดสีดอก ในโรงเรือนปลูกเลี้ยง

การขยายพันธุ์สัปปะรดสี ทั้ง 3 วิธี มีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสายพันธุ์ อย่างการขยายพันธุ์จากการ “เพาะเมล็ด” แม้ว่าจะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าวิธีอื่น แต่ต้นสัปปะรดสีที่ได้จากวิธีนี้จะมีความใกล้เคียงต้นแม่มากที่สุด อย่างแล็บ ส่งกลับมาใน 1 ขวดก็จะมีประมาณ 40 ต้น ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ด้วย “การแยกหน่อ” ถือเป็นวิธีที่ทำง่ายและรวดเร็ว ได้ลักษณะเหมือนต้นแม่ เลี้ยงไม่นานก็จำหน่ายได้เพราะเราแยกจากหน่อ แต่จะได้จำนวนต้นน้อย อีกทั้งใช้ต้นแม่พันธุ์เป็นจำนวนมาก

ยกตัวอย่าง สกุล “นีโอเรเจลยา” ที่สวนจะใช้วิธีแยกหน่อและเพาะเมล็ดมากกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่สกุลนีโอเรเจลยา จะเน้นรูปฟอร์มเป็นหลัก  ลักษณะที่ตรงสายพันธุ์  อย่างลูกค้าซื้อไปเราก็มักจะแนะนำลูกค้าให้เข้าใจเสมอว่า สัปปะรดสี 1ต้นนั้น จะออกดอกเพียง 1 ครั้ง 1 ดอกเท่านั้น จะไม่ออกดอกอีกที่ต้นเดิมอีก พอหมดดอกก็จะกลายเป็นต้นแม่แทน เราก็ต้องเลี้ยงต้นแม่ แล้วเมื่อต้นแม่แทงหน่อขึ้นมา เราก็สามารถขยายพันธุ์โดยตัดหน่อมาชำในกระถางเลี้ยงดูจนออกดอกเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องเร่งปุ๋ยยาอะไรมาก ดอกที่ได้จะสวยสมบูรณ์ อายุทนทาน แต่ก็ต้องเลี้ยงอย่างน้อย 3 ปี

สับปะรดสีต้นใหญ่

ส่วนการ “เพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ” ที่สวนจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้เป็นหลักถึงจะได้ไม้จำนวนมาก อย่างแล็บส่งกลับมาใน 1ขวดจะมีประมาณ 100-200 ต้น  ล็อตหนึ่งเราสามารถเราสามารถเอาไม้ออกขวดได้เป็นหมื่นต้นและจะได้คุณภาพไม้สม่ำเสมอ ขนาดต้นเท่าๆ กัน จึงช่วยให้ไม้มีขายไม่ขาดตลาด เลี้ยงไม้ออกขวดใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถึงจะได้คุณภาพต้นและดอกที่ดี  ซึ่งเมื่อเทียบระยะเวลาเลี้ยงก็พอๆ กับการเลี้ยงกล้วยไม้ ที่ก็ใช้เวลาเลี้ยง 3 ปีเหมือนกัน ซึ่งสัปปะรดสีเลี้ยงง่ายกว่ามาก  แต่วิธีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเยื่อนั้น ในบางครั้งก็หาความนิ่งแน่นอนไม่ได้ อย่างต้นที่ใบลายบางครั้งปั่นออกก็ใบไม่ลาย สมมุติ 100% จะได้อยู่ที่ 50% หรือน้อยกว่านั้น แต่ก็ได้สัปปะรดสีสีแปลกๆ ออกมาเช่นกัน

ยกตัวอย่างวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกับสกุล “กุซแมเนีย” และสกุล “เอคเมีย” แม้ว่าจะกลายออกไปบ้าง แต่เพราะทางสวนต้องการทำจำนวน ซึ่งไม่เน้นเรื่องฟอร์มมากนัก เพราะคนซื้อไปเลี้ยงต่อสามารถเลี้ยงให้ฟอร์มสวยได้ แต่สีสันของดอกที่ได้ก็ยังได้ตามที่ต้องการนั่นเอง

สับปะรดสีที่บังคับให้ออกดอกจำนวนมากพร้อมจำหน่าย

แสลนพลางแสงของโรงเรือนสำหรับสับปะรดสี ถ้าเป็นสัปปะรดสีที่มีออกมีดอก ก็จะปลูกเลี้ยงนี่ได้โรงเรือนที่พลางแสงไว้ประมาณ 80% เพราะสัปปะรดสีบางตัว หากได้รับแสงแดดส่องมากเกินไป จะทำให้ดอกชะงักได้ ใบไหม้เสียหาย

คุณรำไพ ยกตัวอย่าง สกุล “รีซี” ที่เราก็กำลังเร่งการขยายพันธุ์เพิ่งขึ้น ที่เรียกชื่อสื่อสารกันเข้าใจง่ายว่า “ยักษ์ดำ” นั้น (เป็นสัปปะรดสี ที่ปลูกเลี้ยงแล้วต้นจะมีขนาดใหญ่ รัศมีกว้างประมาณ 0.5 -100 เมตรขึ้นไป) เมื่อได้รับแสงแดดมากเกินไป ใบจะไหม้เสียหายจนเห็นได้ชัด  ถ้า สกุล “นีโอเรเจลยา” ใช้แสลน 60-70% เพราะต้องการแสงแดดมากกว่าสกุล“กุซแมเนีย” และบางตัวสามารถปล่อยไว้ตามแดดรำไรบ้าง กึ่งร่มกึ่งแดดบ้าง ใบจะได้สัดส่วน สวยงาม ได้ฟอร์มตามธรรมชาติ การเปลี่ยนกระถางของสับปะรดสี จะดูฟอร์มต้นเป็นหลัก วัสดุปลูกที่สวนเลือกใช้ปลูก “กาบมะพร้าวสับ” เพียงอย่างเดียว เพราะเก็บรักษาความชื้นและน้ำได้ดี สัปปะรดสีเจริญเติบโตดี น้ำหนักเบาทำให้การขนย้ายออกจำหน่ายง่ายสะดวก

สับปะรดสีพันธุ์ ไดอาน่า

การดูแลให้น้ำ ฉีดพ่นปุ๋ยและ ยา มีส่วนสำคัญให้สับปะรดสีสมบูรณ์ การให้น้ำสับปะรดสีสวนลุงวุฒิ  จะให้น้ำวันเว้นวัน ทุกตัวเหมือนกันหมด โดยจะเป็นการเดินลากสายยางรดน้ำอยู่ ไม่ได้ใช้ระบบสปริงเกอร์เพราะที่ อ.ภูเรือ ยังมีปัญหาเรื่องของปริมาณน้ำที่ขาดแคลนอยู่ คนงานที่เดินรดน้ำต้นไม้จะเห็นปัญหาที่เกิดกับต้นไม้ว่ามีโรค-แมลง อะไรทำลาย ส่วนการบังคับให้สับปะรดสีออกดอก จึงต้องมีการหยอดด้วย “สารเอทีฟอน”

คุณรำไพ อธิบายว่า การหยอดสารเอทีฟอนนั้น ต้นสับปะรดสีจะต้องมีอายุที่เหมาะสม มีการเตรียมความพร้อมให้ต้นสมบูรณ์ และต้องวางแผนในการวางจำหน่ายให้ตรงกับเทศกาล ใช้สารเอทีฟอนนั้นที่สวนจะ ผสมสารในอัตราส่วนที่น้อยกว่า ในฉลากบอกไว้ หรือตัดสินใจจากประสบการณ์ที่เราจะรู้ว่าสัปปะรดสีตัวไหนมีการตอบสนองต่อสารเป็นเช่นไร ซึ่งแต่ละพันธุ์แตกต่างกันไป แต่โดนทั่วไปจะใช้อัตราสารเอทีฟอนอยู่ที่ประมาณ 4 ซีซี. ต่อน้ำ 20ลิตร (อัตราการใช้ต้องดูสายพันธุ์ของสัปปะรดสีแต่ละชนิด บ้างพันธุ์ออกดอกง่ายใช้น้อย บ้างพันธุ์ออกยากใช้ปริมาณสารที่เข้มข้นขึ้น เช่น เพิ่มเป็น 5, 10, 15 ซีซี.)

รวมสับปะรดหลากหลายสายพันธุ์

จากนั้นคนงานก็ใช้กระป๋องนมตักเอาไปใช้ทีละกระป๋อง อัตราหยอดประมาณ 1 ช้อนแกงต่อต้น ช่วงเทศกาลฤดูหนาวที่สวนจะต้องเตรียมบังคับให้สัปปะรดสีออกดอกให้มากที่สุด ต้องบังคับดอกล่วงหน้า 3 – 4 เดือนโดยดูนิสัยของแต่ละสายพันธุ์ประกอบ ต้องบังคับให้ออกดอกเป็นชุดๆ ฤดูหนาวมันจะทำให้สัปปะรดสีออกดอกยาก หรือออกช้ากว่าปกติ แต่ความหนาวหรือความเย็นนั้นจะช่วยในเรื่องของสีสัน และรักษาความสดของต้นไว้ได้นาน  แล้วช่วงฤดูหนาวจะมีเทศกาลจัดงานกันหลายจังหวัดมีความต้องการใช้สัปปะรดสี หรือไม้ดอกไม้ประดับเป็นจำนวนมาก และอีกอย่างก็ต้องเตรียมต้นไม้ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเลือกซื้อที่สวน เป็นต้น