แนะรัฐบาลผุดโครงการนำร่อง ปลูก“กัญชา” ทดแทนราคาพืชผลตกต่ำ

“หมอพื้นบ้าน” แนะรัฐบาลผุดโครงการนำร่องปลูก “กัญชา” บางจังหวัด ทดแทนราคาพืชผลตกต่ำ  

แม้กำลังตกเป็น “ประเด็นร้อน” ถกเถียงกันระหว่างฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุน แต่ล่าสุดได้ “ข้อยุติ” ออกมาระดับหนึ่งแล้ว เมื่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้มีการ “ปลดล็อก” กัญชา-กระท่อม อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ได้

โดยเห็นชอบมีการแก้ไข สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดให้สามารถขออนุญาต ผลิต นำเข้าหรือส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประกอบด้วยกัญชา และ กระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคเฉพาะตัวได้ เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 2 หรือฝิ่น เท่านั้น ไม่รวมถึงการใช้เสพเพื่อสันทนาการ

ทั้งนี้กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นผู้กำหนดเขตพื้นที่ทดลองเพาะปลูกกัญชา และเสพกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในปริมาณที่กำหนด โดยไม่ถือว่ามีความผิดกฎหมาย ซึ่งการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกามีมาตรการตรวจสอบควบคุม

ส่วนผู้ที่สามารถอนุญาตครอบครองกัญชาได้ ประกอบด้วย กระทรวง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย องค์กรเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์สาขาต่างๆ ทั้ง ทันตกรรม สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย เป็นต้น โดยผู้ขออนุญาต จะต้องไม่เคยต้องโทษตามกฎหมายยาเสพติดมาก่อน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณาอนุญาตตามความเห็นของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

หมอประเดิม ส่างเสน เลขานุการหมอชนเผ่า 7 จังหวัดภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ นิยามของ “กัญชา” นั้น ต้องยอมรับว่ายังมีการตั้งคำถาม เป็น “พืชร้าย” หรือ “สมุนไพรทางเลือก” กันแน่ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” จึงสอบถามความคิดเห็นไปยัง หมอประเดิม ส่างเสน เลขานุการ หมอชนเผ่า 7 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานวิจัยของหมอพื้นบ้านภาคเหนือ และคณะทำงานหมอพื้นบ้านชนเผ่าลุ่มน้ำโขง และเป็นทายาทหมอชนเผ่ารุ่น 12 ซึ่งรักษาโรคตามคัมภีร์โบราณมากว่า 1,000 ปี ขอยืนยันว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด พวกที่เสพแล้วเกิดอาการทางจิตประสาท เป็นเพราะ ไปพลิกแพลงเสพผิดประเภท โดยทำในรูป “โรยสังขยา” ซึ่งหมายถึงมีการผสมผงขาว-ฝิ่น จนเกิดเป็นโทษร้ายแรง

หมอประเดิม  กล่าวด้วยว่า กัญชา มีสรรพคุณรักษาโรคได้กว่า 50 โรค 100 กว่าอาการ รวมถึงช่วยชะลอวัยได้ด้วย เนื่องจากในกัญชามีสาร 2 ชนิดหลัก ที่ทำหน้าที่ร่วมกัน คือ สาร Cannabidiol ซึ่งเป็นสารที่มี่อยู่ในตัวมนุษย์ ทำหน้าที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบบวมโตของแผลหรือเนื้องอก ระงับเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโต ระงับการเกร็งหรือชักกระตุก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประสาทได้ และสาร Tetrahydrocannabinol ทำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม อีกทั้งยังเป็นตัวที่ทำให้ระบบประสาทสัมผัสทำงานดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร

ที่ผ่านมา คนทั่วไปมักคิดว่าวิธีใช้กัญชา คือ การสูบเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว วิธีหยอดใต้ลิ้นด้วยสารสกัดจะได้รับสารทั้งสองชนิด สูงกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคทางสมองเพราะกัญชาจะไปเปิดระบบประสาท ทำให้ตัวกัญชาซึมเข้าสู่ระบบประสาทได้เร็วกว่าการกิน เช่น ผู้ป่วยสันนิบาต พาร์กินสัน ลมชัก  สำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังก็สามารถใช้ทา ส่วนรายที่รักษาริดสีดวง มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งปากมดลูก เขาก็แนะนำให้ใช้วิธีเหน็บทางทวารหรือช่องคลอด อย่างไรก็ตามผู้เข้ารับการรักษาต้องได้รับการดูแล และต้องใช้กัญชา ในปริมาณตามที่หมอกำหนดและสามารถใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันโดยสามารถดูดซึมได้มากกว่าเดิมด้วย

“พวกเราสนับสนุนการออกกฎควบคุม แต่ต้องไม่ปิดกั้นหมอพื้นบ้านในการใช้เพื่อการรักษา เพราะกัญชา       สามารถทำให้การดูดซึมยา ทั้่งแผนโบราณและปัจจุบัน ให้ไปรักษาได้ตรงคน ตรงโรค มีงานวิจัยมากมายที่มี  ผลการรักษายืนยันและหลักฐานเชิงประจักษ์” หมอประเดิม กล่าว

เลขานุการหมอชนเผ่า กล่าวด้วยว่า  เมื่อเร็ว ๆ นี้เครือข่ายหมอพื้นบ้านได้ประชุมร่วมกันโดยมีผู้แทนจากจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย ลำพูน ลำปาง รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม และภาคตะวันออกคือ ชลบุรี โดยมีมติร่วมกันจะเสนอความเห็นเครือข่ายฯ ไปยังรัฐบาลขอให้ริเริ่มโครงการกำหนดพื้นที่ปลูกกัญชานำร่อง เพื่อทุเลาปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ

เนื่องจากปัจจุบันพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก มีราคาตกต่ำ หากมีการเปลี่ยนแผนหันมาเพาะปลูกกัญชาในบางพื้นที่ ที่มีดินเหมาะสม จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างแน่นอน เพราะกัญชา 2 ไร่ ผลผลิตเทียบได้กับข้าว 10 ไร่  ทุกวันนี้ กัญชาใน “ตลาดมืด” ต้นสดกิโลกรัมละ 25,000 บาท หากสกัดเป็นสาร สามารถจำหน่ายและส่งออกได้ถึงกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท

หมอประเดิม เผยด้วยว่า  ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่มีหมอพื้นบ้านบางส่วน ปลูกกัญชาเพื่อการรักษา ซึ่งจากที่ได้ประชุมกับอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ท่านได้แสดงความเป็นห่วง โดยบอกว่า อยากให้ทำให้ถูกต้อง โดยขอให้ทำเป็นขั้นเป็นตอน และนำสิ่งที่ทำกัน “ใต้ดิน” มาอยู่ “บนดิน” ให้หมด