พณ.เร่งออกราคากลางไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจและค้ำกู้เงิน ยันเคาะได้แน่ก.พ.62

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรและคนในชุมชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ว่า ขณะนี้กรมฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำราคากลางไม้ยืนต้น เพื่อใช้อ้างอิงในการตีราคาไม้ยืนต้นแต่ละชนิดว่าควรเป็นอย่างไร และคิดเป็นมูลค่าในการยื่นกู้ยืมหรือใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดชนิดของไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจที่จะได้รับการส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้นมีชนิดใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรและชุมชนเพาะปลูกไม้พืชเศรษฐกิจที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดและสามารถตัดเพื่อแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทั้งสองแนวทางกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ. 2562

“ในปีหน้าจะเริ่มเห็นการใช้ไม้เศรษฐกิจเพื่อการกู้ยืมได้แล้ว อีกทั้งกรมฯ ยังมีแนวคิดว่าจะส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าไม้พืชเศรษฐกิจ และผลักดันไทยเป็นประเทศส่งออกไม้พืชหลักที่ทั่วโลกต้องการและได้รับความนิยม โดยจะมีการสำรวจถึงอนาคตว่าพืชไม้ชนิดใดที่ปลูกได้ดีในไทยและต่างประเทศต้องการ และเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศให้เป็นแหล่ง “คาร์บอนเครดิต” ของโลกเพื่อการซื้อขายในอนาคต โดยคาร์บอนเครดิต เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถตีราคาเป็นเงินและสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่า ตลาดคาร์บอน ณ ปัจจุบันยังไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเลย แต่ในอนาคตคาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซต์) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม”นายวุฒิไกร กล่าว

นายวุฒิไกร กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในส่งเสริมการใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ 1. กิจการ 2. สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น 3. สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ เป็นต้น 4. อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น 5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น 6. ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ