กล้วยหอมทอง”ปทุม”ชูสินค้าGI ส่งออกจีน-ญี่ปุ่นยอดพุ่ง500ล้าน

นายสมเดช คงกะพันธุ์ เกษตรจังหวัดปทุมธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ ข้าว ผัก และไฮไลต์ คือ กล้วยหอมทอง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกเกือบ 20,000 ไร่ โดยขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมาณ 12,500 ไร่ กระจายในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของปทุมธานี 4 อำเภอ ได้แก่ หนองเสือ ธัญบุรี ลำลูกกา และคลองหลวง มีเกษตรกร 1,500 ราย สร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 300-500 ล้านบาท

โดยจุดเด่นอยู่ที่การปลูกแบบร่องสวน และไม่ใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตได้คุณภาพ รูปทรงดี ผิวและสีสวย มีความคงทนในการขนส่ง และควบคุมการผลิตได้ ถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้งปริมาณ คุณภาพ และพื้นที่ปลูก ด้านการตลาดส่งจำหน่ายตลาดค้าส่งผักผลไม้ ได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไอยรา โดยผลผลิตเฉลี่ยปีละ 30,000 ตัน แบ่งเป็นตลาดภายในปทุมธานีและปริมณฑล 20% กระจายไปจังหวัดอื่น ๆ และห้างสรรพสินค้า 60% บางส่วนมีการเซ็นสัญญากับเกษตรกรถึงในแปลง รวมถึงส่งออกต่างประเทศ 20% ปัจจุบันผลผลิต

ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งนี้การปลูกจะใช้เวลา 8 เดือน และผลผลิตออกมากสุดช่วงเทศกาลตรุษจีน ราคาหน้าสวน 12-15 บาท/กิโลกรัม (กก.) ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5 บาท/กก. สวนทางกับราคาขายปลีกจะคิดเป็นผล

ขณะที่ปี 2562 มีการจัดทำโครงการแปลงใหญ่ โดยรวบรวมผู้ปลูกจากกลุ่มกล้วยหอมตามธรรมชาติเดิม ขณะนี้รวบรวมได้ประมาณ 2,000-3,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 100 ราย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต คุณภาพ และมุ่งเน้นใช้หลักการตลาดนำการผลิต โดยเริ่มนำร่องที่อำเภอหนองเสือ อนาคตอาจขยายให้มีแปลงใหญ่ทุกอำเภอ รวมถึงการผลักดันให้ได้มาตรฐาน GAP

ส่งผลให้จังหวัดในภาคกลางเข้ามาซื้อหน่อกล้วยที่ปทุมธานีเพื่อนำไปปลูกต่อมากขึ้น โดยราคาอยู่ที่เหง้าละ 10-15 บาท/หน่อ อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้ขึ้นทะเบียนกล้วยหอมปทุมธานีเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว ดังนั้นจึงมุ่งเน้นให้มีผลผลิตต่อต้นมากขึ้น จากเดิม 5 หวี/ต้น ให้เพิ่มขึ้นเป็น 6-7 หวี/ต้น

ขณะเดียวกันจังหวัดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำวิจัยการพัฒนากล้วยหอมทองมาเป็นระยะเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว ทั้งหมด 8 ด้าน เช่น ระบบการให้น้ำ ระบบการแปรรูป ระบบการควบคุมการขนส่งเพื่อยกระดับไม่ให้ขั้วกล้วยหอมเน่า ซึ่งจะช่วยยืดอายุกล้วยหอมได้มากกว่าปกติประมาณ 10 เท่า โดยอยู่ได้นานถึง 1-2 เดือน จากปกติอยู่ได้เพียง 1 สัปดาห์หลังจากผลสุก รวมถึงการวิจัยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เจลทาหน้า ไอศกรีม กล้วยหอมอัดเม็ด สกัดเป็นน้ำหวานเพื่อใช้ประกอบการทำขนม เป็นต้น ปัจจุบันได้วิจัยเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการแนะนำสู่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แปลงใหญ่

“ปัจจุบันการขยายตัวด้านอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบให้พื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองลดลงปีละกว่า 5-10% แต่มองว่าอนาคตเมื่อมีทั้งมาตรฐาน GI แล้ว จะช่วยประกันคุณภาพ ประกอบกับเกษตรกรรุ่นใหม่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิต ระบบการแปรรูป การขนส่ง จะช่วยรักษาผลผลิตได้นานมากขึ้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นด้วย” นายสมเดชกล่าว