ไก่พื้นบ้าน บางระจัน เลือดแท้ ทำตลาดส่งออก

คุณเกรียงไกร โพธิ์ดี เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นบ้าน 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เขียวหางดำ และเทาทอง คลุกคลีในวงการไก่พื้นบ้านมานาน 12 ปี ตลอดเวลา 12 ปี เป็นประสบการณ์ที่ทำให้วันนี้ คุณเกรียงไกร เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นบ้านมือหนึ่งของจังหวัดสิงห์บุรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้เลี้ยง เพาะ ขยายพันธุ์ อนุรักษ์สายพันธุ์ ทำการตลาดในประเทศและต่างประเทศแล้ว ยังสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรด้วยกัน ให้ไก่ไปเลี้ยงแล้วรับซื้อลูกไก่ประกันราคาอีกด้วย

คุณเกรียงไกร โพธิ์ดี (ขวา) และ คุณศิริวัฒน์ อินทร์บุญ (ซ้าย)

“ผมเริ่มต้นจากไก่สวยงาม ก็เป็นไก่พื้นบ้าน แต่เลี้ยงแล้วเอาไปชน สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการเลี้ยงไก่พื้นบ้านแล้วนำไปชนด้วย ต้องใช้ดูแลค่อนข้างละเอียดมาก เช่น การออกกำลังกาย การตากแดด การให้น้ำ ทุกอย่างต้องใช้เวลา ผมจึงเลิก แต่สุดท้ายก็หันมาสนใจไก่พื้นบ้านในลักษณะของไก่สวยงาม ไม่เอาไปชนที่ไหน แต่เพราะไม่มีประสบการณ์ ทำให้ช่วงแรกถูกหลอก ได้สายพันธุ์ที่เลือดไม่แท้ หมดเงินไปหลายแสนบาท”

คุณเกรียงไกร ต้องการเลือดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเข้าใจว่า หากเพาะไก่พื้นบ้านขาย ลูกค้าที่มาซื้อ ก็ต้องการไก่เลือดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ดังนั้น ในการผสมพันธุ์ จึงมีการจดบันทึก และเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่มีความสมบูรณ์ โดยให้ผสม 1:1 เท่านั้น

“การดูแลไก่พื้นบ้านเลือดแท้ให้ได้คุณภาพ จะเลี้ยงปล่อยเหมือนไก่บ้านทั่วไปไม่ได้ เพราะต้องทำให้ได้คุณภาพ เพื่อขายให้ได้ราคาดีตามสายพันธุ์”

โรงเรือน แบ่งเป็นสัดส่วน มีคอกไก่รุ่น ไก่พ่อพันธุ์ ไก่แม่พันธุ์ กรงอนุบาลไก่ และแยกไก่ประกวดไว้อีกต่างหาก

พื้นภายในโรงเรือน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ พื้นทรายและพื้นแกลบ

พื้นแกลบ เป็นพื้นโรงเรือนที่ช่วยให้ไก่ขนสวย ขนเงา เพราะแกลบไม่ทำลายขน ทั้งยังมีข้อดีช่วยให้น้ำขนมีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะไก่ที่อยู่ระหว่างการถ่ายขน ขนที่ขึ้นใหม่จะมีน้ำขนสวยงาม ไม่หัก ไม่กร่อน นอกจากนี้ โอกาสที่เท้าไก่จะเป็นแผลจากพื้นโรงเรือนค่อนข้างน้อย เพราะแกลบมีความนุ่ม เมื่อไก่กระโดดขึ้นลงจากคาน จะช่วยลดอัตราและโอกาสการบาดเจ็บได้มาก รวมถึงแกลบมีอาหารเสริมให้ไก่ได้เป็นอย่างดี เพราะภายในแกลบอาจมีพืชงอกขึ้นมา หรือมีสัตว์ แมลง ซุกซ่อนภายในแกลบ ไก่จะคุ้ยเขี่ยและจิกกินเป็นอาหารได้ด้วย

พื้นทราย เหมาะสำหรับไก่ที่ช่วงอายุขนกำลังหลุดหรือโรยตัว เพราะทรายมีความชื้นและเย็น ช่วยให้ไก่ฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งยังเหมาะสำหรับการเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพราะจะช่วยให้ไก่อารมณ์ดี จำนวนไข่มาก รวมถึงผ่อนคลาย โอกาสจิกไข่แตกน้อย

ในทุกวัน กิจกรรมที่ต้องดูแลไก่ ไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงจัดอยู่ในกลุ่มไก่สวยงาม โดยเริ่มจากการย้ายไก่ออกนอกโรงเรือน ปล่อยให้เดิน วิ่ง ตามพื้นที่กั้นบริเวณไว้ ระหว่างนั้นทำความสะอาดโรงเรือน ต่อมาให้อาหารและน้ำ

คุณเกรียงไกร ย้ำถึงความสะอาดภายในโรงเรือนต้องดีที่สุด เพราะจะช่วยไม่ให้เกิดเชื้อโรคภายในโรงเรือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไก่ป่วย

สำหรับอาหาร คุณเกรียงไกร เผยเทคนิคอาหารที่ให้กับไก่พื้นบ้านของตนเองว่า ผสมอาหารเอง โดยใช้ข้าวเปลือก 50 เปอร์เซ็นต์ ข้าวกล้องหรือข้าวเม็ดแตก 30 เปอร์เซ็นต์ หัวอาหารหมูนม 20 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีอาหารเสริมนอกรอบ ไม่ได้ให้ทุกวัน แต่ให้สม่ำเสมอ คือ

อาหารสุนัข ช่วยบำรุงระบบโครงสร้าง กระดูก ให้มีความแข็งแรง ขนเงางาม

หญ้า เพราะเป็นพืชตัวสำคัญที่ช่วยบำรุงเรื่องขนให้เงางามตามธรรมชาติ

เปลือกหอยตำละเอียด เพราะเปลือกหอยมีแคลเซียมสูง ก่อนให้ไก่กินควรแช่น้ำแล้วนำไปผสมกับหัวอาหาร

อาหารและน้ำ จะเติมให้ตลอดทั้งวัน โดยไม่กังวลว่าจะสิ้นเปลือง เป็นการบำรุงไก่

“หัวอาหารหมูนม ช่วยเรื่องการเจริญเติบโต ทำให้ไก่โตเร็ว เพราะมีโปรตีนมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนผสม และหัวอาหารหมูนมใช้เป็นอาหารทดแทนสำหรับลูกหมูที่เริ่มอดนม จึงนำมาประยุกต์ใช้กับสัตว์ปีก แต่ให้กินในปริมาณที่เหมาะสม ตามอายุของไก่ ซึ่งได้ผล ไก่แข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว”

ในบางครั้งจะให้น้ำมันตับปลา หรือวิตามินบำรุงร่างกายของคน ในปริมาณตามน้ำหนักตัวไก่ เพราะคุณเกรียงไกร เคยทดลองในไก่ แยกกลุ่มที่ให้และไม่ให้วิตามินบำรุงร่างกายของคน และน้ำมันตับปลา พบว่า กลุ่มไก่ที่ได้รับวิตามินบำรุงร่างกายของคนและน้ำมันตับปลา มีความแข็งแรง สดใส ร่าเริง มากกว่า จึงให้น้ำมันตับปลาและวิตามินบำรุงร่างกายของคนเป็นประจำ

ในไก่ มีไรไก่ หากต้องการให้ไก่สวยงามตามแบบที่ต้องการ ควรอาบน้ำให้ไก่ 2-3 เดือน ต่อครั้ง ถ้าไก่อยู่ในช่วงผลัดขน การอาบบ่อยครั้งในช่วงนั้น จะทำให้ขนที่ขึ้นมาใหม่ดกดำ สวยงาม

พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จะได้รับการผสมพันธุ์ไปตั้งแต่แม่พันธุ์เป็นไก่รุ่น กระทั่งอายุไม่เกิน 5 ปี จึงปลดระวางจากการเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ในแต่ละครั้งไก่อายุไม่เกิน 2 ปี จะให้ไข่ 13-15 ใบ แต่ขนาดไข่เล็ก ส่วนแม่พันธุ์ที่อายุเกิน 2 ปีขึ้นไป จะให้ไข่ครั้งละ 9-10 ใบ แต่ไข่มีขนาดใหญ่

ไก่เหลืองหางขาว พระเจ้าห้าพระองค์

หลังจากแม่พันธุ์ให้ไข่แล้ว คุณเกรียงไกร ยังคงใช้วิธีธรรมชาติในการฟักไข่ คือปล่อยให้แม่ไก่ฟักไข่เอง เมื่อได้ลูกไก่แล้ว จึงแยกออกมานำไปเข้ากรงอนุบาล

คุณเกรียงไกร บอกว่า สิ่งที่จำเป็นมากคือ การทำวัคซีน โดยไก่แรกเกิดถึง 15 วัน ให้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล ไก่อายุ 15-30 วัน ให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ แต่ทั้งนี้ การทำวัคซีนก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเลี้ยง โรงเรือน ซึ่งควรสะอาด แต่วัคซีนจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้

ไก่ประดู่หางดำ มีสีมะขามไหม้ หรือ ดูแดงปาก แข้งต้องดำ

ปัจจุบัน คุณเกรียงไกร ทำตลาดต่างประเทศไว้ 5 ประเทศ ได้แก่ คูเวต บาห์เรน อินโดนีเซีย สปป.ลาว และมาเลเซีย โดยมาเลเซียเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการไก่พื้นบ้านค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีลูกค้าจากต่างประเทศเดินทางมาซื้อถึงฟาร์ม เฉลี่ยไก่ที่ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ มากกว่า 200 ตัว ในแต่ละปี

ในการจำหน่ายแต่ละครั้ง จำหน่ายเป็นคู่ ผู้-เมีย ราคาเริ่มต้นหลักพันบาทถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นกับอายุและสายพันธุ์ของไก่

ด่างเบญจรงค์ หรือด่างห้าสี ควรมีกระด่างทั้งตัว และมีสีขาว เหลือง ส้ม ดำ เขียว อยู่ในตัวเดียวกัน

“ตลาดต่างชาติยอมรับว่า ของเราดี แต่ละประเทศจะมีออเดอร์มา เช่น ต้องการไก่เหลืองหางขาว อายุ 3 เดือน จำนวน 20 คู่ เราก็จัดส่งให้ ขายตั้งแต่ไก่เล็กถึงไก่ใหญ่ แล้วแต่ความต้องการ ซึ่งปัจจุบันนี้ ตลาดต้องการมาก แต่เราผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

ด้วยเหตุนี้ คุณเกรียงไกร จึงขยายฐานการผลิต โดยมุ่งไปที่ช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน โดยให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไป เมื่อผสมแล้วได้ลูกไก่ ก็รับซื้อคืน เพื่อนำไปขายให้กับลูกค้าที่ต้องการ ประกันราคาลูกไก่คู่ละ 500 บาท ปัจจุบันมีลูกฟาร์มถึง 14 ราย ทั้งในจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดในภาคต่างๆ

“ต่างประเทศต้องการไก่พื้นบ้านเลือดแท้ เพราะเป็นความเชื่อ นำไปประดับบารมี หรือนำไปประดับซุ้ม ซึ่งหากมีการชนไก่จะนำน้ำที่ไก่พื้นบ้านเลือดแท้กิน ไปให้ไก่ชนกินและเช็ดตัว เอาฤกษ์เอาชัย”

ปัจจุบัน คุณเกรียงไกร มีไก่พื้นบ้านที่ตลาดต้องการสูง 3 ชนิด คือ เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ และเขียวหางดำ ทั้งยังมีไก่พื้นบ้านเลือดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ชนิดอื่นอีก เพราะต้องการเก็บรักษาสายพันธุ์และอนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญหาย ซึ่งคุณเกรียงไกร ยินดีให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจ โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (087) 118-8151 หรือเยี่ยมชมโรงเรือน ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 43/4 หมู่ที่ 8 ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี

ไก่ประดู่หางดำ อายุ 3 ปี หนัก 5.3 กิโลกรัม
ไก่ทองแดงหางดำ อายุ 4.5 ปี หนัก 3.7 กิโลกรัม สายพันธุ์นี้ใกล้สูญพันธุ์
ขาของไก่เขียวกาดำ ความพิเศษคือ แข้งดำ เล็บดำทุกเล็บ ต่อหรือเดือยดำ

 

หน้าของไก่ประดู่หางดำเพศเมีย อายุ 3 เดือน ปากกับฝาปิดจมูกสีดำ
การดูสร้อยคอ ถ้าให้ดีต้องมีสีที่ละเอียด แกนดำน้อย