ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณเดชา ฤทธิเดช ชาวมีนบุรี ก็เข้าใจเช่นนั้นมาตลอด ต่อเมื่อมาเริ่มลงมือเลี้ยงเอง และตั้งเป้าขยายพันธุ์ปลาหางนกยูงขาย ถึงได้รู้แจ่มแจ้งว่า การเลี้ยงปลาหางนกยูงที่ว่าง่าย ต้องเข้าใจวิธีการเลี้ยงด้วย จึงจะเรียกได้ว่าง่าย ไม่อย่างนั้นแล้ว ก็ไม่รอดเหมือนกัน
แม้จะมีประสบการณ์จากการเลี้ยงปลามาก่อน ก็ไม่ได้ช่วยให้การเลี้ยงปลาหางนกยูงในระยะเริ่มแรกดำเนินไปด้วยดี เพราะเป็นการเลี้ยงปลากินเนื้อ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวาย ซึ่งครอบครัวของคุณเดชาทำมานานก็จริง แต่ไม่ประสบความสำเร็จกับการเลี้ยงปลากินเนื้อกลุ่มนี้
การเลี้ยงปลาหางนกยูง จึงเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับคุณเดชา
แรงกระตุ้นให้เริ่มเลี้ยงปลาหางนกยูง อยู่ที่การเห็นปลาหางนกยูงวางขายที่ตลาดปลาในตลาดนัดจตุจักร นั่นหมายถึง ปลาหางนกยูงยังคงขายได้อยู่ตลอด แม้ว่าราคาขายค่อนข้างแพง
“เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หางนกยูงสายพันธุ์จากต่างประเทศสวยๆ คู่ละ 1,500 บาท ถือว่าแพงมาก เพราะเป็นปลานำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ไม่มีในประเทศไทย ถึงราคาจะแพง แต่ผมก็ตัดสินใจซื้อมา เพราะคิดว่า การเลี้ยงไม่น่าจะแตกต่างไปจากการเลี้ยงปลาหางนกยูงทั่วไปที่ใส่ในกะละมัง กระป๋อง ก็เลี้ยงได้ สุดท้าย ซื้อมาไม่นานก็ตาย”
แม้จะเริ่มต้นไม่ดีนัก แต่คุณเดชาไม่ยอมแพ้ เพราะเห็นตลาดขายปลาหางนกยูงไปได้ดี จึงเดินหน้าต่อ โดยศึกษาการเลี้ยงปลาหางนกยูงจากหนังสือต่างๆ สอบถามจากผู้ขาย เพื่อเก็บเป็นประสบการณ์สำหรับตนเอง ยังคงทดลองซื้อปลาหางนกยูงมาเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งราคาปลาหางนกยูงที่ซื้อมาค่อนข้างสูงในสมัยนั้น
ปลาหางนกยูงคู่ละ 100 บาท เป็นชุดแรกๆ ที่คุณเดชาซื้อมาทดลองเพาะขยายพันธุ์ และได้ลูกปลาหางนกยูงนำกลับไปขายให้กับพ่อค้าในตลาดนัดจตุจักรได้ ราคาซื้อขายขณะนั้น คู่ละ 30 บาท และในที่สุดก็มีร้านประจำรับซื้อปลาหางนกยูงจากคุณเดชาเป็นประจำทุกสัปดาห์ ก่อให้เกิดรายได้เสริม ขณะที่ยังคงทำงานประจำเช่นเดิม และเพิ่มจำนวนเลี้ยงหลายคู่ เก็บสะสมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สวยๆ หลายแบบ กระทั่งเริ่มเห็นว่า ปลาหางนกยูงที่ได้จากการเพาะขายทุกสัปดาห์สามารถเป็นรายได้ที่มั่นคงไม่ต่างจากการทำงานประจำ จึงตัดสินใจลาออกจากงานและลงทุนทำฟาร์มปลาหางนกยูงจริงจัง
“ปี 2546 ผมมั่นใจว่า น่าจะทำเป็นอาชีพได้ จึงกู้เงินจากธนาคารจำนวน 150,000 บาท ลงทุนสร้างโรงเรือนและลงตู้ปลา 200 ตู้”
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะตลาดนัดจตุจักรกลายเป็นแหล่งรับซื้อใหญ่ที่คุณเดชามีลูกค้าประจำ ทุกๆ สัปดาห์ต้องส่งปลาหางนกยูงให้กับพ่อค้า ในแต่ละสัปดาห์มียอดส่งปลาหางนกยูงให้กับพ่อค้า รายละ 10-100 คู่ ราคาคู่ละ 30-50 บาท
คุณเดชา เล่าว่า สายพันธุ์ปลาหางนกยูงที่เลี้ยงปัจจุบัน เป็นปลาหางนกยูงสายพันธุ์ของต่างประเทศ ที่ต้องเลือกสายพันธุ์จากต่างประเทศ เพราะทรงสวย สีสวย มีกระโดง ซึ่งเป็นจุดเด่นของปลาหางนกยูง ทั้งฟาร์มมีหลายร้อยสายพันธุ์ เนื่องจากการผสมปลาหางนกยูงแต่ละครั้ง หากมีจุดที่ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่ผสมเพียงนิดเดียว ก็สามารถตั้งชื่อเป็นอีก 1 สายพันธุ์ได้ โดยปลาหางนกยูงจำนวนหลายร้อยสายพันธุ์ภายในฟาร์ม คุณเดชา บอกว่า พัฒนาจากปลาที่มีอยู่ในฟาร์มของตนเอง และเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ทำให้ได้ปลาหางนกยูงใหม่ๆ ขึ้น
หลักการเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับผสม ตลาดต้องการมากที่สุดคือ กระโดงใหญ่และสวย ควรเลือกตัวเมียที่กระโดงก้านแรกตั้งขึ้น เวลาว่ายไม่ล้มหรือเอนไปด้านหลัง ส่วนตัวผู้เลือกตัวที่มีกระโดงใหญ่ และการผสมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ควรใช้ตู้ละคู่เท่านั้น เพื่อให้ลูกออกมาเหมือนพ่อและแม่มากที่สุด
แม่พันธุ์ปลาหางนกยูง ที่เริ่มผสมพันธุ์ได้ ต้องมีอายุอย่างน้อย 45 วัน
การผสมพันธุ์ปลาหางนกยูง ให้นำปลาตัวเมียไปใส่ตู้เดียวกับปลาตัวผู้ นานประมาณ 1 เดือน เมื่อตัวเมียใกล้คลอด ให้แยกตัวเมียออกมาอีกตู้
วิธีสังเกตปลาหางนกยูงใกล้คลอด ท้องใหญ่ หากเป็นปลาตาแดง บริเวณก้นจะเป็นสีแดง ส่วนปลาตาดำ บริเวณก้นจะเป็นสีดำ ในปลาที่ไม่ได้รับการผสม ไม่ตั้งท้อง บริเวณก้นจะเป็นสีเหลือง เมื่อใกล้คลอดปลาหางนกยูงจะว่ายนิ่งๆ อยู่ตามมุมตู้ ควรช้อนแยกไปไว้ต่างหาก
การคลอดของปลาหางนกยูง ไม่ชอบการรบกวน ให้อาหารตอนเช้า 1 มื้อเท่านั้น
หลังจากให้ลูกครอกแรก จำนวน 10-20 ตัว ไม่จำเป็นต้องใช้พ่อพันธุ์ผสมแม่พันธุ์อีก แม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจะให้ลูกครอกที่สอง จำนวน 30-40 ตัว และให้ลูกครอกที่สาม จำนวนมากขึ้น และอาจถึงหลักร้อยตัว หากแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์ ความห่างในแต่ละครั้งของการให้ลูก ประมาณ 20 วัน
“จริงๆ แล้วปลาหางนกยูง สามารถให้ลูกได้เองโดยผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวนานถึง 7-8 ครอก แต่สำหรับที่ฟาร์ม ปัญหาเรื่องสถานที่เลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้จำกัดการให้ลูกของปลาหางนกยูงเพียง 3 ครอก หากแม่พันธุ์ปลาให้ลูกมาอีก เราก็ปลดทิ้ง หมายถึง ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือขายออกตามราคาเท่าที่ได้ เป็นการจำกัดจำนวนปลาหางนกยูงที่จะเกิดขึ้นมาใหม่”
การเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับผสม คุณเดชาให้ความสำคัญไปที่กระแสความต้องการของลูกค้า ก่อนผสมจะดูว่า ตลาดต้องการปลาหางนกยูงแบบไหน จากนั้นจึงเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ให้ได้ตามตลาดต้องการ
การให้อาหาร ควรเลือกอาหารสดมากกว่าอาหารแห้ง เพราะจะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง แต่ข้อเสียคือ ต้นทุนสูง
ลูกปลาหางนกยูง อายุแรกเกิดถึง 45 วัน ให้อาหารเป็นลูกไรทะเล หรือ อาร์ทีเมีย (Artemia)
ลูกปลาหางนกยูง อายุ 45 วันขึ้นไป ให้อาหารกุ้งเบอร์ 1 มีอาหารเสริมเป็นไส้เดือนน้ำ
การถ่ายน้ำ ก็มีความสำคัญสำหรับการเลี้ยงปลามากเช่นกัน คุณเดชา ถ่ายน้ำในตู้ปลาด้วยการดูดขี้ปลาก้นตู้ออก แล้วเติมน้ำลงไปแทนในปริมาณเท่ากัน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนการขัดตู้ทำความสะอาด ใช้วิธีปล่อยปลาซัคเกอร์ลงไป 1 คืน จากนั้นย้ายตู้ ตู้ปลาก็ได้รับการทำความสะอาดเรียบร้อย
ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำแต่ละครั้ง เมื่อต้องเติมน้ำให้กับตู้ปลา ควรใช้น้ำที่ผ่านการกรองคาร์บอน หรือน้ำที่ผ่านการพักน้ำมาแล้ว แม้ว่าปลาหางนกยูงจะเป็นปลาที่มีความอดทนสูง แต่โอกาสที่ปลาจะป่วยจากน้ำที่เติมเข้ามาใหม่ก็มีสูง
ปัญหาเรื่องปลาป่วย คุณเดชา ให้ข้อมูลว่า การเลี้ยงปลาหางนกยูงโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดตู้ และให้อาหารสดที่คุณภาพ ปัญหาเรื่องปลาป่วยจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งโรคในปลาหางนกยูง ในกลุ่มคนเลี้ยงปลาหางนกยูงนิยมป้องกัน ไม่นิยมรักษา เพราะเมื่ออาการปลาป่วยของปลาแสดงให้เห็น หมายถึง ปลาป่วยหนักแล้ว โอกาสรักษาให้หาย ทำได้ แต่ภายใน 1 สัปดาห์ อาการป่วยดังกล่าวจะกลับมาอีก ดังนั้น แนะนำว่า เมื่อพบปลาป่วยไม่ต้องรักษา ให้ทิ้งไปได้เลย กรณีปลาป่วย จะสังเกตเห็นว่า ปลาตัวดังกล่าวว่ายน้ำบนผิวน้ำและว่ายนิ่งอยู่กับที่นานๆ หรือว่ายตัวส่ายไปมา
แม้ว่าจะการค้าปลาหางนกยูงจะเริ่มต้นจากหิ้วปลาไปส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดจตุจักร แต่ปัจจุบัน การค้าออนไลน์เข้ามามีผลค่อนข้างสูง ทำให้คุณเดชาไม่ต้องเสียเวลาหิ้วไปขายอีกแล้ว เพราะมีลูกค้าติดต่อผ่านมาทางเฟซบุ๊ก ทั้งยังเป็นลูกค้าต่างประเทศหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม ฮ่องกง จีน เม็กซิโก แคนาดา สหรัฐอเมริกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ ตุรกี และอีกหลายประเทศทั่วโลก
“ตอนนี้ ผมทำส่งลูกค้าต่างประเทศที่ออเดอร์มาผ่านเฟซบุ๊กและอีเมล จำนวนที่ผลิตได้ในฟาร์มตอนนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แต่ผมใช้แรงงานเพียง 3 คน ขนาดฟาร์มเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว”
ในการส่งปลาหางนกยูงขายยังต่างประเทศ คุณเดชาดำเนินการถึงขั้นตอนการบรรจุถุงหรือกล่อง หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนของตัวแทนผู้ส่งออก หรือชิปปิ้ง ดำเนินการ ทั้งนี้ ก่อนการบรรจุปลาลงถุงหรือกล่อง จะตักปลาใส่ถุงทิ้งไว้ 1 คืน ให้ปลาขี้ออกให้หมด จากนั้นเปลี่ยนน้ำ ใส่ยาเหลืองแก้เครียดและใส่ออกซิเจนผง ซึ่งจะช่วยให้ปลาอยู่ในถุงหรือกล่องที่บรรจุได้นาน 7 วัน
ท่านใดสนใจเยี่ยมชมฟาร์ม ติดต่อได้ที่ คุณเดชา ฤทธิเดช ฟาร์มตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ (089) 451-2885 แวะทักทายในเฟซบุ๊กก็ได้ที่ Bigblue Inter Farm