ผ่ายุทธศาสตร์…จังหวัดตะวันออก ศูนย์กลางผลไม้-สมุนไพรคุณภาพ

แม้ภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก คือ ภาคอุตสาหกรรม แต่การประชุมหอการค้า 5 ภาค ที่จังหวัดอยุธยาครั้งล่าสุด ยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกกลับชูธงเรื่องเกษตร วางแผน 5 ปี ไว้ถึง 5 ยุทธศาสตร์ 34 กลยุทธ์ และ 65 โครงการ

สำหรับกลุ่มภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และสระแก้ว

14821223301482264178l

Flag Ship ภาคเกษตร

“ปรัชญา สมะลาภา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า จากโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ทำให้ภาคตะวันออกได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่กลับทิ้งคนไว้ข้างหลังจำนวนมาก ดังนั้นวันนี้จะไม่พูดเรื่องซูเปอร์คลัสเตอร์ หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากรัฐบาลเดินเครื่องอย่างเต็มที่แล้ว แต่เราจะกลับไปดูคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งส่วนมากคือคนที่อยู่ในภาคเกษตร

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกจะใช้จันทบุรีเป็นเซ็นเตอร์เรื่องผลไม้ปลอดภัยมุ่งสู่ออร์แกนิกคือมังคุดและทุเรียน ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางจะเน้นเรื่องสมุนไพร กับมะม่วง เพราะเป็นพืชที่มีศักยภาพ
โดยการผลิตจะเปลี่ยนมาเป็นผลิตตามความสามารถรองรับของตลาด จากเดิมที่ผลิตตามความสามารถของเกษตรกร ซึ่งเป็นพืชที่มีมูลค่าต่ำ และราคาผันผวนจะไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร

ปรัชญาบอกอีกว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกมีศักยภาพเรื่องผลไม้ มีผลผลิตกว่า 2 ล้านตัน เฉพาะจังหวัดจันทบุรีมีผลผลิตครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด เฉพาะทุเรียน 3 แสนกว่าตัน และลำไยอีก 3 แสนตัน ทำให้มูลค่าผลผลิตภาคตะวันออกสูงเป็นอันดับ 1 ของไทย อาเซียน เอเชีย และของโลก โดยปี 2558 ผลไม้เกือบ 1 ล้านตันของจังหวัดจันทบุรี มูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าเป็น 1 แสนล้านตันภายใน 5 ปี เป็นที่มาของการจัดงานจันทบุรีมหานครผลไม้ พร้อมผลักดันยุทธศาสตร์ยกระดับการผลิต แปรรูป การตลาดผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2560-2564 โดยได้เสนอผ่านที่ประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กรอ.กลาง กรอ.กลุ่มภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

ขณะที่สมุนไพร จังหวัดปราจีนบุรีจะผลิตป้อนโรงพยาบาลอภัยภูเบศรเป็นหลัก โดยขณะนี้บางกลุ่มได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์พัฒนาสมุนไพรแล้ว ปัจจุบันสมุนไพรไม่ได้เป็นแค่เรื่องยา แต่เป็นเรื่องของอาหาร เครื่องสำอาง และสปาด้วย เมื่อมองแล้วดีมานด์กว้าง จึงเป็นเรื่องการพัฒนาตามความต้องการ

ขับเคลื่อน Value Chain

การขับเคลื่อนแบบ Value Chain หรือ ห่วงโซ่คุณค่า เป็นแนวโน้มใหม่ในการพัฒนาโครงการ จะเป็นการทำต่อเนื่องให้ครบ เช่น ศูนย์กลางผลไม้เกษตรปลอดภัยมุ่งสู่ออร์แกนิก มังคุด และทุเรียน จะมี Value Chain ตั้งแต่ 1.การขยายผล และถ่ายทอดเทคโนโลยี มีโครงการ อาทิ โครงการอบรมผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน การขยายผล และถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ อาทิ โครงการพัฒนาหน่วยคัดเลือกและจัดเก็บพันธุ์คุณภาพเชิงเศรษฐกิจ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต อาทิ โครงการพัฒนามาตรฐานการผลิต การจำหน่ายผลไม้ 2 ชนิด 4.การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวการแปรรูป และการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ อาทิ โครงการศึกษาวิจัยกระบวนการจัดเก็บผลไม้เพื่อการส่งออกที่มีประสิทธิภาพ 5.การตลาด เช่น โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งตลาดกลางผลไม้ของประเทศไทย โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการผลไม้ในตลาดพาณิชย์ดิจิทัล 6.การขนส่ง เช่น โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเส้นทางการขนส่งผลไม้ประสิทธิภาพสูงของมหานครผลไม้

การทำงาน คือ หากมี 65 โครงการ จะต้องพิจารณาว่าโครงการไหนสามารถทำได้ก่อน เช่น งบประมาณปี 2561 อาจจะดึงมาทำก่อน 12 โครงการ ภายใน 4 ปีก็จะครบทั้งหมด จากในอดีตที่ส่งเสริมเป็นโครงการไป โดยไม่ได้ทำเรื่องอื่นไปด้วย ไม่ได้มองทั้ง Value Chain ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จแม้จะเสียเงินไปมากก็ตาม แต่การทำทั้งระบบนี้เป็นแนวโน้มใหม่ที่ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เห็นด้วยในหลักการ

“อย่างปัญหาล้ง ที่ผ่านมายอมรับว่ามีทั้งผลดี ผลเสีย ผลเสียคือเขาครองตลาด แต่ผลดีคือเขาหาตลาดให้เราด้วย เกษตรกรก็ได้ราคาดี แต่หากตัดล้งจีนออกไปวันนี้ โดยที่ตัวเองยังไม่มีตลาดอาจจะพัง ราคาร่วงทันที ซึ่งขณะนี้เรามีโครงการตลาดกลางผลไม้ด้วย ในอนาคตจะค่อย ๆ สามารถลดบทบาทของล้งจีนได้”

14821223301482122424l

พรีแอปพรูฟหนุนการพัฒนา

ปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับกระทรวงมหาดไทยมีความสำคัญอย่างมากเพราะหากเอกชนเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจแล้วกระทรวงมหาดไทยถือว่าผู้ที่อำนวยความสะดวกเพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปด้วยความฉับไวซึ่งอุปสรรคในอดีต คือ เรื่องการตรวจสอบโครงการต้องผ่านหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กรอ.จังหวัด ส่งเข้า กรอ.กลาง จากนั้นเข้าไปกระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ กว่าจะรู้ว่าโครงการผ่านหรือไม่ต้องใช้เวลาเกือบปี ทำให้ผู้เสนอโครงการไม่ได้เตรียมความพร้อมเนื่องจากไม่แน่ใจว่าโครงการจะผ่านหรือไม่

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยปรับการทำงานโดยเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆมาร่วมทำ “พรีแอปพรูฟ” หากทุกหน่วยงานไม่มีใครคัดค้าน เจ้าของโครงการก็มั่นใจได้ว่าโครงการผ่านตามกระบวนการแน่นอน เป็นการให้เตรียมตัวล่วงหน้า ถือเป็นฟ้าใหม่ของการทำงานเชิงปฏิบัติ

สหกรณ์ หัวใจพัฒนาเกษตร

ปรัชญากล่าวว่า สำหรับโครงการ 1 สหกรณ์ 1 หอการค้า ขณะนี้มีครบทุกจังหวัดที่มีความร่วมมือกับสหกรณ์ และตั้งใจว่าสหกรณ์จะเป็นหัวใจของการพัฒนาเกษตร

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง คือ 1.สมุทรปราการ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบางพลี สหกรณ์บางบ่อ เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาชีพ 2.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ สหกรณ์ไก่ไข่แปดริ้ว เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ 3.สระแก้ว ได้แก่ สหกรณ์เมืองสระแก้ว สหกรณ์เขื่อนพระปรง สหกรณ์คลองน้ำเขียว 4.นครนายก ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครนายก สหกรณ์การเกษตรเมืองนครนายก 5.ปราจีนบุรี ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองปราจีนบุรี สหกรณ์การเกษตรกลุ่มสตรีเมืองปราจีนบุรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลเพื่อแปรรูป

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก คือ 1.ชลบุรี ได้แก่ สหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรี เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ปลานิล 2.ระยอง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรศรีเมืองระยอง เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจการผลิตน้ำดื่ม 3.จันทบุรี ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ เพื่อส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลผลิตผลไม้ และ 4.ตราด ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จำกัด เพื่อส่งเสริมเข้าระบบ GAP และปรับปรุงโครงการทุเรียนเพื่อการส่งออก

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1.ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้ และผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐานในระดับสากล โดยมีจังหวัดจันทบุรี และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกนำร่อง 2.เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้สด และผลิตภัณฑ์แปรรูป ทำให้มีมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นจาก 45,000 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 100,000 ล้านบาทในปี 2564 และ 3.เพิ่มผลตอบแทนให้แก่เกษตรกร และสร้างเสถียรภาพราคาผลไม้เป้าหมาย ผู้ปลูกผลไม้เศรษฐกิจหลัก 8 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง ลำไย กล้วยไข่ สละ และสับปะรด ทำให้มีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

เพราะหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ คือ คน แน่นอนว่าการพัฒนาก้าวต่อไปของภาคตะวันออกจึงไม่เน้นหนักแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ภาคการเกษตร ที่นอกจากจะมีศักยภาพที่จะเติบโตแล้ว คนในภาคส่วนนี้ยังเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์