ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการระยะยาวของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กับโครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชมบ้านเขาสมอคอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 โดยบ้านปูเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนหมู่ 1, 2 และ 3 ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
5 ปีที่ผ่านมา ชุมชนแห่งนี้มีพัฒนาการตามลำดับ เริ่มต้นจากกิจกรรมระยะเร่งด่วนด้วยการซ่อมแซมและพื้นฟูชุมชนหลังน้ำลดให้กลับคืนสภาวะปกติโดยเร็ว หลังจากนั้นเข้าสู่กิจกรรมระยะกลาง ซึ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชน และพัฒนาทักษะเกษตรกร ปิดท้ายด้วยกิจกรรมระยะยาวกับการพัฒนาบ้านเขาสมอคอนให้เป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนในโครงการนาอินทรีย์ข้าวสินเหล็กเขาสมอคอนที่ทำให้เกษตรกรมีแบรนด์สินค้าของตนเอง
“อุดมลักษณ์ โอฬาร” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บมจ.บ้านปู สะท้อนภาพโครงการว่า เรามองถึงความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ระยะยาว และสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง ดังนั้น เพื่อให้ชุมชนปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงแนะนำให้ทำเกษตรกรรมด้านอื่นนอกเหนือจากการปลูกข้าวตามปกติ เราจึงดึงผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ ทั้งการทำน้ำหมัก ปุ๋ย และฮอร์โมนชีวภาพ รวมถึงการปลูกมะนาว ชะอม และข้าวสินเหล็ก ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้น ยังสนับสนุนเกษตรกรไปเปิดโลกทัศน์กับชุมชนอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักคือชาวบ้านไม่มีเงินเก็บ และต้องกู้เงินตลอดสำหรับไปซื้อปุ๋ย จึงมีการจัดตั้งกองทุนปุ๋ยภายใต้ชื่อ “กลุ่มสัจจะชาวนาบ้านเขาสมอคอน” บ้านปูตั้งต้นเงินกองทุนกว่า 2.4 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้กู้ยืมปุ๋ยไปใช้ในการทำนา แล้วนำเงินค่าปุ๋ยมาคืนกองทุนหลังจากขายผลผลิตได้ ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกเรื่องความรับผิดชอบในการออมเงินของเกษตรกรไปในตัว ทั้งนี้ กองทุนดำเนินงานมาแล้วประมาณ 4 ปี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีเงินทุนหมุนเวียนโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากบ้านปูอีก
“การอุ้มชูแบบเก่าไม่จำเป็นอีกแล้วเพราะการดำเนินงานทุกอย่างมาจากกองทุนของเขาสิ่งที่เราไม่ทิ้งกันคือการสอบถามเพิ่มเติมกับชุมชนเป็นระยะ แม้ว่าจะขยับออกมาจากหมู่บ้านหรือจบโครงการแล้ว โดยส่วนตัวมองว่ากุญแจความสำเร็จของโมเดลแห่งนี้คือองค์ความรู้ เพราะแม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม แต่หากไม่สามารถเข้าถึงความรู้อาจไม่ประสบความสำเร็จได้”
บ้านปูจึงเปรียบเหมือนคนกลางที่เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างผู้เชี่ยวชาญและชุมชนเพื่อให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจทำให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและยั่งยืน ส่วนเรื่องของเงินทุน เกษตรกรสามารถหาได้เอง กระนั้น แม้จะมีเงิน แต่หากไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้ และใส่ใจ ก็ไม่สามารถทำให้โครงการเดินมาถึงเป้าหมาย
“เราไม่ได้มองแค่การได้มาซึ่งผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ แต่เราพอใจกับการที่เกษตรกรได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด มุ่งแสวงหาความรู้ และมีการถกเถียงกัน ซึ่งบ้านปูจะนำโมเดลของบ้านเขาสมอคอนไปแบ่งปัน และบอกเล่ากับพื้นที่ต่าง ๆ เพราะรัฐบาลได้ส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปพัฒนาท้องถิ่น เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน ซึ่งจากฐานรากของการมาร่วมสร้าง 3 ชุมชนนี้จะทำให้เกษตรกรเติบโตไปได้เร็ว และสามารถเป็นกรณีศึกษาให้กับชุมชนแห่งอื่นได้”
ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินงานโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งแล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดย “อาริต รวบรวม” นักพัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบกองทุนปุ๋ย บอกว่า ปัจจุบันกองทุนปุ๋ยมีสมาชิก 46 คน ตอนนี้ทำเรื่องการให้กู้ยืมปุ๋ยเป็นหลัก และมีการรับซื้อข้าวสินเหล็กจากเกษตรกรแล้วนำไปแปรรูป นอกจากนั้น ยังสำรวจความต้องการของสมาชิกเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีการให้กู้ยืมเมล็ดพันธุ์ในอนาคต
“การบริหารงานกองทุนดีขึ้นตามลำดับ โดยมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเรามีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง มีการวางกฎระเบียบที่ชัดเจน รวมถึงสมาชิกมีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์ในการส่งเงินเมื่อยืมปุ๋ยไป จึงมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขยับกองทุนให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในวงกว้างกว่าเดิม กระนั้น เราต้องรักษาความมั่นคงของกองทุนให้ได้ก่อน และทำให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน ซึ่งเมื่อมีความเข้มแข็งมากขึ้นก็จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายสมาชิกเพิ่มเติม”
จากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนและเกษตรกรรวมถึงแรงผลักดันของผู้นำชุมชนส่งผลให้ชุมชนบ้านเขาสมอคอน หมู่ 1 ได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับพออยู่พอกิน โดยเป็น 1 ใน 9 ชุมชนจากจำนวนทั้งหมด 128 ชุมชน ของอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีการยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิต 6 ด้าน ได้แก่ การลดรายจ่าย, การเพิ่มรายได้, การประหยัด, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, การเรียนรู้ และการเอื้ออารีต่อกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์